พฤติกรรม ของ กระซู่

กระซู่เป็นสัตว์สันโดษปกติจะอยู่เพียงลำพังตัวเดียวยกเว้นช่วงเวลาจับคู่ผสมพันธุ์และเลี้ยงดูลูกอ่อน ตัวผู้จะมีอาณาเขตประมาณ 50 กม2. ขณะที่ตัวเมียมีอาณาเขตประมาณ 10–15 กม2.[13] อาณาเขตของตัวเมียจะแยกจากกัน ขณะที่ตัวผู้บ่อยครั้งจะมีอาณาเขตเหลื่อมซ้อนกัน ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากระซู่มีการต่อสู้เพื่อปกป้องอาณาเขต เมื่อต่อสู้หรือป้องกันตัว กระซู่จะไม่ใช้นอพุ่งชนเหมือนแรดชนิดอื่น ๆ แต่จะใช้ริมฝีปากซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมงับแทน[28] ทำให้คาดกันว่ากระซู่มีนอเพื่อใช้ดันสิ่งกีดขวางเสียมากกว่า[29] การบอกอาณาเขตกระทำโดยการขูดผิวดินด้วยเท้า การงอไม้หนุ่มด้วยรูปแบบที่แตกต่าง และการถ่ายมูล ละอองเยี่ยว[5] กระซู่ออกหาอาหารเมื่อรุ่งเช้าและหลังเวลาเย็นก่อนค่ำ ระหว่างวันกระซู่จะนอนเกลือกกลิ้งในปลักโคลนเพื่อผ่อนคลายและพักผ่อน ในฤดูฝนกระซู่จะย้ายถิ่นสู่พื้นที่สูง ในฤดูหนาวก็จะย้ายกลับมาที่พื้นราบ[13]

กระซู่กำลังนอนแช่ปลัก ในสวนสัตว์ซินซินนาติ

กระซู่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันหมดไปกับการแช่ปลักโคลน เมื่อมันหาปลักโคลนไม่ได้กระซู่จะขุดดินเลนด้วยขาและนอเพื่อสร้างปลัก การแช่ปลักโคลนนี้จะช่วยกระซู่รักษาระดับอุณหภูมิของร่างกายและช่วยป้องกันผิวหนังของมันจากปรสิตภายนอกและแมลงอื่น ๆ จากกระซู่ตัวอย่างที่จับได้ เมื่อกระซู่ไม่ได้นอนแช่ปลักอย่างเพียงพอ ผิวหนังของมันจะแตกและอักเสบอย่างรวดเร็ว แผลเป็นหนอง ตามีปัญหา เล็บอักเสบ ขนร่วง และตายในที่สุด จากการศึกษาพฤติกรรมการนอนแช่ปลักโคลนเป็นเวลา 20 เดือนของกระซู่พบว่ากระซู่จะไปที่ปลักโคลนไม่เกิน 3 ปลักในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา หลังจาก 2–12 สัปดาห์ที่ใช้ปลักเดิม กระซู่ก็จะละทิ้งปลักนั้นไป โดยปกติกระซู่จะไปแช่ปลักราว ๆ เที่ยงวัน แช่อยู่ราว ๆ 2–3 ชั่วโมงก่อนออกไปหาอาหาร ถึงแม้ว่าจากการสังเกตกระซู่ในสวนสัตว์จะนอนแช่ปลักน้อยกว่า 45 นาทีต่อวัน แต่จากการศึกษากระซู่ในธรรมชาติจะนอนแช่ปลัก 80–300 นาที (เฉลี่ยที่ 166 นาที) ต่อวัน[34]

มีช่องทางเพียงเล็กน้อยที่จะศึกษาถึงระบาดวิทยาในกระซู่ มีรายงานว่าแมลงดูดกินเลือดเป็นอาหาร เช่น หมัด ไร เห็บ และแมลงวันตัวเบียนในสกุล gyrostigma เป็นสาเหตุการตายของกระซู่ในกรงเลี้ยงในคริสต์ศตวรรษที่ 19[27] เป็นที่รู้กันว่ากระซู่เป็นโรคพยาธิในเลือดได้ง่ายซึ่งมีตัวเหลือบเป็นพาหะนำปรสิตจำพวก trypanosome มา ในปี ค.ศ. 2004 กระซู่ห้าตัวในศูนย์อนุรักษ์กระซู่ตายภายใน 18 วันหลังจากติดโรค[35] กระซู่ไม่มีศัตรูทางธรรมชาติอื่นนอกจากมนุษย์ เสือโคร่งและหมาป่าอาจสามารถล่าลูกกระซู่ได้ แต่ลูกกระซู่จะอยู่กับแม่ตลอดเวลา ความถี่ของการถูกล่าจึงไม่อาจเป็นที่ทราบได้ ถึงแม้กระซู่จะมีอาณาเขตซ้อนทับกับช้างและสมเสร็จแต่สัตว์เหล่านี้ไม่ปรากฏการแข่งขันกันทางด้านอาหารและถิ่นอาศัย ช้างและกระซู่จะใช้ด่านร่วมกัน สัตว์เล็ก ๆ อย่างกวาง หมูป่า และหมาป่า ก็จะใช้ด่านที่กระซู่และช้างสร้างขึ้นด้วยเช่นกัน[13][36]

กระซู่มีด่านสองประเภทในอาณาเขต ด่านหลักใช้ท่องเที่ยวระหว่างบริเวณสำคัญในอาณาเขตของกระซู่ เช่น โป่ง หรือระหว่างบริเวณที่แยกออกจากกันโดยภูมิประเทศที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย ด่านทางเดินที่กระซู่เดินจะเรียบโล่ง ถ้าหากมีสิ่งกีดขวางกระซู่จะดันสิ่งกีดขวางให้พ้นทาง[29] ในพื้นที่หากินกระซู่จะสร้างด่านที่เล็กกว่าซึ่งยังปกคลุมด้วยพุ่มไม้ไปยังบริเวณที่มีอาหารสำหรับกระซู่ นอกจากนี้ยังพบด่านกระซู่ที่ข้ามแม่น้ำกว้างประมาณ 50 ม.ลึกมากกว่า 1.5 ม. กระซู่เป็นนักว่ายน้ำที่เก่งสามารถว่ายข้ามแม่น้ำที่ไหลแรงได้[26][27] เคยมีผู้พบเห็นกระซู่ว่ายน้ำในทะเลด้วย[5] กระซู่จะไม่แช่ปลักที่ใกล้กับแม่น้ำอาจเป็นเพราะมันลงแช่น้ำในแม่น้ำแทนที่จะแช่ปลัก[36]

อาหาร

กระซู่กินต้นไม้หลากหลาย เช่น: (เวียนตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย), สกุลปริก (Mallotus), มังคุด, สกุลตาเป็ดตาไก่ (Ardisia), และ สกุลหว้า (Eugenia) [36][37]

กระซู่ออกหากินในช่วงก่อนพระอาทิตย์ตกและในตอนเช้า กระซู่เป็นสัตว์เล็มกิน โดยกินอาหารประเภท ไม้หนุ่ม ใบ ผล กิ่ง หน่อ[26] และผลไม้ที่ร่วงหล่นตามพื้นดิน[28] ปกติกระซู่จะกินอาหารมากถึง 50 กก.ต่อวัน[13] จากมูลสัตว์ตัวอย่าง นักวิจัยพบอาหารมากกว่า 100 สปีชีส์ที่กระซู่กินเข้าไป ส่วนใหญ่จะเป็นไม้หนุ่มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-6 ซม. กระซู่จะดันไม้หนุ่มด้วยลำตัว เดินไปเหนือไม้หนุ่มโดยไม่เหยียบทับ และลงมือกินใบ พืชหลากหลายชนิดที่กระซู่กินเข้าไปเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของอาหารทั้งหมดซึ่งแสดงว่ากระซู่จะเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมการกินต่างกันไปตามแต่บริเวณพื้นที่[36] พืชส่วนใหญ่ที่กระซู่กินจะเป็นสปีชีส์ในวงศ์เปล้า วงศ์เข็ม และ วงศ์โคลงเคลง โดยทั่วไปแล้วกระซู่จะกินพืชสกุลหว้า[37]

อาหารของกระซู่มีใยอาหารสูงและมีโปรตีนพอสมควร[38] ดินโป่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของกระซู่ โป่งอาจเป็นบริเวณเล็ก ๆ ที่มีน้ำเกลือหรือโคลนภูเขาไฟไหลซึมออกมา ดินโป่งยังมีความสำคัญของวัตถุประสงค์ทางสังคมสำหรับกระซู่เพศผู้จะมาที่โป่งและจับกลิ่นกระซู่เพศเมียที่เป็นสัด อย่างไรก็ตาม กระซู่บางตัวนั้นอาศัยอยู่ในที่ ๆ ไม่มีโป่งหรืออาจเป็นเพราะกระซู่ตัวนั้นไม่สนใจจะใช้ดินโป่งก็เป็นได้ กระซู่อาจได้แร่ธาตุสำคัญที่ต้องการจากการกินพืชที่มีแร่ธาตุนั้นแทน[36][37]

การสื่อสาร

กระซู่มีการเปล่งเสียงมากที่สุดในบรรดาแรดด้วยกัน[39] จากการสังเกตกระซู่ในสวนสัตว์แสดงถึงว่ากระซู่นั้นเปล่งเสียงเสมอ ๆ และมันรู้จักที่จะทำดังเช่นในป่า[27] กระซู่สร้างเสียงที่แตกต่างกันสามเสียง: อีป, วาฬ, และ ผิวปาก-เป่า เสียงอีป สั้น ยาวประมาณ 1 วินาที เป็นเสียงทั่วไปโดยมาก วาฬที่ตั้งชื่อนี้เพราะคล้ายกับการเปล่งเสียงของวาฬหลังค่อม (ดูเพิ่ม: บทเพลงแห่งวาฬ) เป็นการเปล่งเสียงคล้ายกับร้องเพลงและเปล่งเสียงบ่อยเป็นอันดับสอง วาฬจะแตกต่างกันที่ระดับเสียงและช่วงสุดท้าย ในช่วง 4–7 วินาที ผิวปาก-เป่าที่ได้ชื่อนี้เพราะเหมือนเสียงผิวปากยาวสองวินาทีและเป่าลมออกมาทันทีทันใดหลังจากนั้น ผิวปาก-เป่าเป็นเสียงที่ดังที่สุดในบรรดาการเปล่งเสียงทั้งหมด ดังถึงขนาดทำให้แท่งเหล็กที่ใช้ทำกรงสั่นได้ วัตถุประสงค์ในการเปล่งเสียงยังไม่เป็นที่ทราบได้ แต่มีทฤษฎีที่ว่ามันแสดงถึงอันตราย ความพร้อมทางเพศ และอื่น ๆ ที่เหมือนกับสัตว์กีบชนิดอื่นทำ เสียงผิวปาก-เป่าสามารถได้ยินไปได้ไกลแม้กระทั่งในดงไม้หนาทึบในที่ที่กระซู่อาศัยอยู่ การเปล่งเสียงในระดับที่ใกล้เคียงกับช้าง เสียงสามารถไปได้ไกลถึง 9.8 กม.และด้วยเหตุนี้เสียงผิวปาก-เป่าอาจไปได้ไกลกว่านั้น[39] บางครั้งกระซู่จะบิดไม้หนุ่มที่มันไม่กิน พฤติกรรมนี้เชื่อว่าเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ใช้แสดงทางเชื่อมในด่าน[36]

การเปล่งเสียง
ของกระซู่ (ไฟล์ .wav) [39]

การสืบพันธุ์

กระซู่เพศเมียจะโตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุ 6-7 ปี ขณะที่เพศผู้จะโตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 10 ปี กระซู่ตั้งท้องประมาณ 15-16 เดือน โดยทั่วไปกระซู่มีน้ำหนักแรกเกิด 40-60 กก. มีขนแน่นและสีขนออกแดง[5] หย่านมเมื่ออายุ 15 เดือนและอาศัยอยู่กับแม่ 2-3 ปีแรก ในธรรมชาติกระซู่มีระยะตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกัน 4-5 ปี พฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกนั้นยังไม่มีการศึกษา[13]

การศึกษาการสืบพันธุ์ของกระซู่เกิดขึ้นในกรงเลี้ยง เมื่อกระซู่อยู่ในช่วงจับคู่จะเริ่มมีพฤติกรรมเปล่งเสียงร้องมากขึ้น ชูหางขึ้น ถ่ายปัสสาวะ มีการสัมผัสทางร่างกายมากขึ้นโดยทั้งเพศผู้และเมียจะใช้จมูกชนสัมผัสฝ่ายตรงข้ามบริเวณศีรษะและอวัยวะเพศ รูปแบบการขอความรักนี้จะคล้ายกับแรดดำ กระซู่หนุ่มเพศผู้มักก้าวร้าวกับเพศเมีย บางครั้งอาจเกิดการบาดเจ็บหรือตายได้ในระหว่างการจับคู่ ในธรรมชาติกระซู่เพศเมียสามารถวิ่งหนีจากเพศผู้ที่ก้าวร้าวได้ในกรณีแบบนี้ แต่ในกรงเลี้ยงมันไม่สามารถทำได้ การที่เพศเมียไม่สามารถวิ่งหนีได้นี้เองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราความสำเร็จในการขยายพันธุ์กระซู่ในกรงเลี้ยงต่ำ[40][41][42]

ในช่วงเป็นสัด เมื่อเพศเมียผสมพันธุ์กับเพศผู้แล้ว ประมาณ 24 ชั่วโมงเพศผู้จะเข้าผสมอีกในช่วง 21-25 วัน กระซู่ในสวนสัตว์ซินซินนาติใช้เวลาในการผสมพันธุ์แต่ละครั้งนาน 30-50 นาที ซึ่งนานพอ ๆ กับแรดชนิดอื่น การสังเกตกระซู่ที่ศูนย์อนุรักษ์กระซู่ในประเทศมาเลเซียทำให้เราสามารถสรุปวงจรการผสมพันธุ์ได้ จากการสังเกตในสวนสัตว์ซินซินนาติ กระซู่มีช่วงการเป็นสัดนานคล้ายกับแรดชนิดอื่น ๆ ช่วงเวลานั้นอาจขึ้นกับพฤติกรรมทางธรรมชาติ[40] ถึงแม้ว่านักวิจัยจะเข้าใจในภาวะตั้งครรภ์ แต่ก็ล้มเหลวเสียทุกครั้งจากหลาย ๆสาเหตุ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 กระซู่ในกรงเลี้ยงจึงสามารถให้กำเนิดลูกได้ จากการศึกษาความล้มเหลวที่สวนสัตว์ซินซินนาติพบว่าการตกไข่ของกระซู่นั้นทำได้โดยการผสมและกระซู่มีระดับโปรเจสเตอโรน (progesterone) ที่แปรปรวน[43] ความสำเร็จในปี พ.ศ. 2544 นั้นเกิดจากบำรุงกระซู่ที่ท้องด้วยโปรกัสติน (progestin) [44]

แหล่งที่มา

WikiPedia: กระซู่ ftp://ftp.aip.org/epaps/acoust_res_lett/E-ARLOFJ-4... ftp://ftp.aip.org/epaps/acoust_res_lett/E-ARLOFJ-4... ftp://ftp.aip.org/epaps/acoust_res_lett/E-ARLOFJ-4... http://www.asiageographic.com/html/lilrhino.htm http://books.google.com/books?id=vDijgNs_7Q0C&pg=P... http://www.latimes.com/news/printedition/front/la-... http://www.rhinoresourcecenter.com http://www.rhinoresourcecenter.com/index.php?s=1&a... http://www.rhinoresourcecenter.com/species/sumatra... http://www.sarakadee.com/feature/1999/11/rhinocero...