ประวัติ ของ กฤษณา_ไกรสินธุ์

วัยเยาว์และชีวิตการทำงานในไทย [2495 - 2545]

กฤษณาเกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 เป็นชาวเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางตอนใต้ของประเทศไทย เป็นบุตรของร้อยตรี นายแพทย์ สมคิด และนางเฉลิมขวัญ ไกรสินธุ์ ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ประกอบทางวิชาชีพทางสาธารณสุข บิดาเป็นแพทย์และมารดาเป็นพยาบาล ส่วนอาคือ พลเรือโท อรุณ ไกรสินธุ์ รับราชการทหารเรือ(ถึงแก่อนิจกรรม[8] วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554[9]) กฤษณาเติบโตในวัยเยาว์ที่เกาะสมุย จนกระทั่งย้ายเข้ามาศึกษาระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนราชินี และเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นเธอได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตรัชคไลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ สหราชอาณาจักร ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้วเธอได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมีในปี พ.ศ. 2524 ก่อนจะลาออกมาทำงาน ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม

กฤษณาเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทย จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการผลิตยาสามัญชื่อ "ยาเอดส์" เป็นครั้งแรกในโลก ในปี พ.ศ. 2538 โดยประสบความสำเร็จในการผลิตยาชนิดแรกคือ "ZIDOVUDINE" (AZT) มีฤทธิ์ในการลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ภายหลังการค้นคว้าวิจัยต่อยากว่า 3 ปี (พ.ศ. 2536 - 2538) หลังจากนั้นเธอได้ริเริ่มผลิตยาอีกหลายชนิด โดยเฉพาะยา "GPO-VIR" หรือยาต้านเอดส์สตรีคอกเทลล์ ซึ่งเป็นการรวมตัวยารักษาโรคเอดส์กว่า 3 ชนิดในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกในโลก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2542 องค์การอนามัยโลกเชิญกฤษณาไปที่ทวีปแอฟริกาเพื่อช่วยเหลือด้านเภสัชกรรม หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2545 กฤษณาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม

งานในทวีปแอฟริกา [2545 - ปัจจุบัน]

ภายหลังกฤษณาลาออกจากสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรมแล้วนั้น เธอได้เดินทางไปยังประเทศคองโกโดยลำพัง เพื่อตั้งโรงงานเภสัชกรรมแห่งแรกที่นั่น ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี และประสบความสำเร็จในการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ชื่อ "Afrivir" อันมีส่วนผสมของตัวยาเหมือนยาในประเทศไทย ซึ่งผลิตขึ้นได้ครั้งแรกในทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ. 2548 หลังจากนั้นได้เดินทางไปช่วยเหลืองานทางเภสัชกรรม ณ ประเทศแทนซาเนีย โดยสามารถวิจัยและผลิตยา "Thai-Tanzunate" ในประเทศแทนซาเนียได้สำเร็จ อันเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคระบาดในทวีปแอฟริกา และเดินทางช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ได้แก่ ประเทศอิริคเทอร์เรีย ประเทศเบนิน และประเทศไลบีเรีย

กฤษณาทำงานตามตารางงานของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งไม่มีความแน่นอน ในวันหนึ่งๆ เธออาจพักแรม ณ ประเทศหนึ่งและทำงานในอีกประเทศหนึ่ง ผลงานการทำงานของเธอได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เยอรมันฉบับหนึ่ง ทำให้มีบุคคลสนใจในงานของเธอ และได้มีการนำไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง อะไรต์ทีลีฟ - เอดส์เมดิเคชันออฟมิลเลียนส์ (อังกฤษ: A Right to Live - Aids Medication for Millions) ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งได้รับรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์กว่า 3 รางวัล[10][11] รวมถึงการสร้างภาพยนตร์บรอดเวย์สหรัฐอเมริกาชื่อ คอกเทลล์ (อังกฤษ: Cocktail) ในเปิดแสดงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550[12] นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (อังกฤษ: Global Scientist Award) จากมูลนิธิเลตเต็น ประเทศนอร์เวย์ ประจำปี พ.ศ. 2547 [13] รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชียประจำปี พ.ศ. 2551[14] รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี[2] และรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี พ.ศ. 2552[11]

กฤษณายังได้รับปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิติตมาศักดิ์จากวิทยาลัย Mount Holyoke สหรัฐอเมริกา และเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสตราห์ไคลด์ ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนราชินีประจำปี นักศึกษาเก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันกฤษณาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และยังคงทำงานช่วยเหลือด้านเภสัชกรรมแก่ประเทศในแอฟริกา รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาองค์กรช่วยเหลือด้านยาของเยอรมนี[2] [15][16]

แหล่งที่มา

WikiPedia: กฤษณา_ไกรสินธุ์ http://www.imdb.com/name/nm1663523/ http://pha.narak.com/topic.php?No=12395 http://www.nathoncity.com/paper/1155 http://www.pharmalot.com/2007/04/one_womans_quest_... http://www.se-ed.com/eShop/Products/Detail.aspx?Ca... http://board2.yimwhan.com/show.php?user=chayothorn... http://www.mtholyoke.edu/offices/comm/csj/040805/c... http://www.oknation.net/blog/mettapc/2009/07/12/en... http://www.oknation.net/blog/tabuji/2009/07/12/ent... http://www.krisana.org/