กลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติ
กลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติ

กลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติ

กลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติ[4] (อังกฤษ: thoracic outlet syndrome, TOS) เป็นภาวะที่ร่างกายของผู้ป่วยมีการกดทับเส้นประสาท, หลอดเลือดดำ, และ/หรือ หลอดเลือดแดง ที่บริเวณช่องออกของกลุ่มเส้นประสาทและเส้นเลือดจากในช่องอกไปยังบริเวณรักแร้[1] แบ่งออกเป็นสามชนิดย่อยตามอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชนิดเส้นประสาท ชนิดหลอดเลือดดำ และชนิดหลอดเลือดแดง[1] โดยในชนิดเส้นประสาทผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บ อ่อนแรง และอาจมีกล้ามเนื้อฝ่อที่บริเวณฐานนิ้วหัวแม่มือ[1][2] ชนิดหลอดเลือดดำจะมีอาการแขนบวม เจ็บ และอาจมีสีม่วงคล้ำได้[2] ชนิดหลอดเลือดแดงจะมีอาการเจ็บแขน แขนซีด และแขนเย็นได้[2]ภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บ การเคลื่อนไหวซ้ำๆ เนื้องอก การตั้งครรภ์ หรือเป็นมาแต่กำเนิด เช่น การมีกระดูกซี่โครงเกิน เป็นต้น[1] การตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยได้แก่ การตรวจการนำสัญญาณประสาท และการถ่ายภาพรังสี[1] ภาวะอื่นที่ทำให้มีอาการใกล้เคียงกัน ได้แก่ เส้นเอ็นคลุมข้อไหล่ฉีกขาด โรคของกระดูกคอ ไฟโบรมัยอัลเจีย โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และกลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่แบบซับซ้อน เป็นต้น[1]การรักษาในระยะแรกเริ่มสำหรับชนิดที่ทำให้มีอาการทางเส้นประสาทได้แก่การทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออกและปรับปรุงท่าทาง[1] อาจใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น นาพรอกเซน เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดได้[1] การผ่าตัดมักใช้กับการรักษากรณีเป็นชนิดที่ทำให้มีอาการทางหลอดเลือด หรือมีอาการทางเส้นประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล[1][2] ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด[1] ภาวะนี้พบได้ในประชากรทั่วไปประมาณ 1%[3] พบในเพศชายได้บ่อยกว่าในเพศหญิง และมักพบที่อายุประมาณ 20-50 ปี[1] ภาวะนี้ได้รับการบรรยายไว้เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1818 และถูกเรียกชื่อว่ากลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติตั้งแต่ ค.ศ. 1956[2][5]

กลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติ

อาการ ปวด, อ่อนแรง, กล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือฝ่อ, บวม, แขนซีด, ม่วงคล้ำ[1][2]
สาขาวิชา ศัลยกรรมหลอดเลือด, ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
ปัจจัยเสี่ยง การบาดเจ็บ, การเคลื่อนไหวซ้ำๆ, เนื้องอก, การตั้งครรภ์, กระดูกซี่โครงเกิน[1]
ประเภท ชนิดเส้นประสาท, หลอดเลือดดำ, หลอดเลือดแดง[1]
การรักษา กายภาพบำบัด, ยาแก้ปวด, การผ่าตัด[1][2]
การตั้งต้น อายุ 20-50 ปี[1]
สาเหตุ การกดทับเส้นประสาท, หลอดเลือดดำ, และ/หรือ หลอดเลือดแดง ที่บริเวณช่องออกของกลุ่มเส้นประสาทและเส้นเลือดจากในช่องอกไปยังบริเวณรักแร้[1]
โรคอื่นที่คล้ายกัน เส้นเอ็นคลุมข้อไหล่ฉีกขาด, โรคของกระดูกคอ, ไฟโบรมัยอัลเจีย, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, กลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่แบบซับซ้อน[1]
ความชุก ~1%[3]
วิธีวินิจฉัย การตรวจการนำสัญญาณประสาท, การถ่ายภาพรังสี[1]

ใกล้เคียง

กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มภาษาจีน กลุ่มอาการขาดยาเบ็นโซไดอาเซพีน กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่ม 20 กลุ่มภาษาเซมิติก กลุ่มอาการมือแปลกปลอม กลุ่มเดอะมอลล์ กลุ่มอาการมาร์แฟน

แหล่งที่มา

WikiPedia: กลุ่มอาการที่เกิดจากช่องออกของเส้นประสาทบริเวณทรวงอกผิดปกติ http://www.diseasesdatabase.com/ddb13039.htm http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=353.... http://www.ninds.nih.gov/disorders/thoracic http://www.ninds.nih.gov/disorders/thoracic/thorac... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25808686 http://apps.who.int/classifications/icd10/browse/2... //doi.org/10.5435%2Fjaaos-d-13-00215 http://www.thcc.or.th/ebook1/2016/mobile/index.htm... https://books.google.com/books?id=XN5dI55iwbMC&pg=... https://books.google.com/books?id=vgvABAAAQBAJ&pg=...