ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ของ กษัตริย์อาเธอร์

Annales Cambriae บันทึกในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ในภาพเป็นฉบับคัดลอกราวคริสต์ทศวรรษ 1100

ภูมิหลังที่แท้จริงทางประวัติศาสตร์ของตำนานกษัตริย์อาเธอร์เป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการมาเป็นเวลานานแล้ว แนวคิดหนึ่งซึ่งอ้างอิงตาม Historia Brittonum (ประวัติศาสตร์แห่งบริเตน) และ Annales Cambriae (พงศาวดารเวลส์) เชื่อว่าอาเธอร์เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยเป็นหัวหน้านักรบในยุคบริเตนสมัยหลังโรมัน ซึ่งนำการรบป้องกันการรุกรานของชาวแองโกล-แซกซัน ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 ใน Historia Brittonum มีเนื้อความที่บันทึกด้วยภาษาละตินในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซึ่งเป็นลายมือของนักบวชชาวเวลส์ชื่อ Nennius ได้บันทึกรายละเอียดการรบ 12 ครั้งของอาเธอร์เอาไว้ ในจำนวนนี้รวมถึงยุทธการมอนส์บาโดนิคัส หรือการรบที่ภูเขาบาดอน ซึ่งระบุไว้ว่า อาเธอร์ได้ต่อสู้ตามลำพังด้วยมือเปล่า และสังหารศัตรูไปถึง 960 คน อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาวิจัยในยุคหลังได้ตั้งข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือของบันทึก Historia Brittonum ว่าจะถือเป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นได้หรือไม่[2][8]

เอกสารอีกชุดหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนข้อมูลว่า อาเธอร์มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ คือบันทึก Annales Cambriae ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซึ่งเชื่อมโยงอาเธอร์กับการรบที่ภูเขาบาดอนเช่นเดียวกัน ในบันทึกระบุว่าการรบนี้เกิดขึ้นราว ค.ศ. 516-518 นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการรบที่คัมลานน์ ที่ซึ่งทั้งอาเธอร์และมอร์เดร็ดถูกสังหารในราวปี ค.ศ. 537-539 รายละเอียดเหล่านี้ช่วยสนับสนุนยืนยันต่อเหตุการณ์ใน Historia Brittonum และยืนยันว่าอาเธอร์ได้เข้าร่วมในการรบที่ภูเขาบาดอนจริง อย่างไรก็ดี งานวิจัยในชั้นหลังพบว่า เนื้อหาใน Annales Cambriae เริ่มต้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์ถูกเขียนเพิ่มเติมเข้าไปภายหลัง ไม่ได้อยู่ในตัวบันทึกดั้งเดิม คาดว่าน่าจะเขียนเพิ่มเข้าไปในราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ที่ภูเขาบาดอนนั้นนำมาจาก Historia Brittonum นั่นเอง[9]

เมื่อขาดหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่นเพียงพอ นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังโดยมากจึงไม่นับว่าอาเธอร์เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่มีตัวตนจริง นักประวัติศาสตร์ โทมัส ชาลส์-เอ็ดเวิร์ด กล่าวว่า "ตามหลักฐานเท่าที่มีอยู่ บางคนอาจกล่าวได้ว่ามีอาเธอร์อยู่ในประวัติศาสตร์จริง [แต่...] นักประวัติศาสตร์ไม่อาจรับรองฐานะใด ๆ ให้เขาได้"[10] แนวโน้มในยุคปัจจุบันค่อนข้างไปทางที่ไม่ยอมรับตัวตนของอาเธอร์มากยิ่งขึ้น ขณะที่นักประวัติศาสตร์ยุคก่อนจะข้องใจในตัวอาเธอร์น้อยกว่า นักประวัติศาสตร์ จอห์น มอร์ริส ได้รวมเอาการครองราชย์ที่เป็นที่รู้จักของกษัตริย์อาเธอร์เอาไว้ในหนังสือลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์และบริเตนสมัยหลังโรมันของเขา ชื่อ The Age of Arthur (1973) อย่างไรก็ดีเขาก็มีหลักฐานน้อยเกินกว่าจะยืนยันได้ว่าอาเธอร์มีตัวตนอยู่จริง[11]

กษัตริย์อาเธอร์ในผ้าทอฝรั่งเศส

จากทฤษฎีข้างต้นทำให้มีอีกแนวคิดหนึ่งที่โต้แย้งว่า อาเธอร์ไม่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง นักโบราณคดี โนเวลล์ เมียเรส วิจารณ์ Age of Arthur ของมอร์ริสว่า "ไม่มีบุคคลใดในกรอบประวัติศาสตร์และตำนานที่จะทำให้นักประวัติศาสตร์เสียเวลามากเท่านี้"[12] งานเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ของนักบุญกิลแดส ชื่อ De Excidio Britanniae (บนความพินาศของบริเตน) ซึ่งเป็นบันทึกการรบที่ภูเขาบาดอนที่ใกล้เคียงเวลาเกิดเหตุการณ์มากที่สุด ได้อธิบายถึงรายละเอียดในการรบครั้งนั้น แต่ไม่ได้เอ่ยถึงอาเธอร์เลย[13] ไม่เคยมีชื่อของอาเธอร์ปรากฏในพงศาวดารแองโกล-แซกซัน หรือในบันทึกใด ๆ ระหว่าง ค.ศ. 400-820 เท่าที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน[14] แหล่งข้อมูลสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ บันทึกของนักบุญบีด ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์การรบที่ภูเขาบาดอนเช่นกัน ก็ไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของอาเธอร์[15] นักประวัติศาสตร์ เดวิด ดัมวิลล์ เขียนไว้ว่า "ผมเห็นว่าเราสามารถตัดเขา [อาเธอร์] ทิ้งไปได้เลย เขาครอบครองพื้นที่ในหนังสือประวัติศาสตร์ด้วยแนวคิดที่ว่า 'เมื่อมีควันไฟย่อมมีไฟ' ... แต่ข้อเท็จจริงก็คือไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ เกี่ยวกับอาเธอร์เลย เราต้องตัดเขาออกไปจากประวัติศาสตร์ของเรา และที่สำคัญยิ่งกว่า ต้องตัดเขาออกไปจากชื่อหนังสือของเรา"[16]

นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า แต่เดิม อาเธอร์ เป็นวีรบุรุษในที่สร้างขึ้นในนิทานพื้นบ้าน หรืออาจเป็นเทพยดาเคลติกองค์ใดองค์หนึ่งที่ถูกลืมเลือนไป ผู้เคยได้รับการยกย่องด้วยวีรกรรมที่เกิดขึ้นจริงในอดีตกาลนานมาแล้ว โดยเปรียบเทียบกับเทพอาชาในประวัติศาสตร์อาณาจักรเคนต์ คือ เฮงเกสต์ และ ฮอร์ซา ซึ่งก็เป็นบุคคลที่วิจารณ์ถกเถียงถึงความมีตัวตนเช่นเดียวกัน นักบุญบีดตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับบุคคลในตำนานเหล่านี้ว่าเป็นผู้มีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์การสู้รบกับแองโกล-แซกซัน ในทางตะวันออกของบริเตนในคริสต์ศตวรรษที่ 5[9][17] อาเธอร์ในบันทึกเก่าแก่ไม่ใช่กษัตริย์ ทั้งใน Historia หรือ Annales ไม่ได้เรียกเขาว่า "rex" แต่เรียกว่า "dux" หรือ "dux bellorum" ซึ่งหมายถึง "ผู้นำในการรบ"[18]

บันทึกประวัติศาสตร์ในยุคหลังจักรวรรดิโรมันค่อนข้างกระจัดกระจาย ดังนั้นการยืนยันความมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนของอาเธอร์จึงยังไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจน มีสถานที่หลายแห่งที่ถูกระบุว่าเป็นของ "ยุคอาเธอร์" ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12[19] แต่นักโบราณคดีจะยอมรับชื่อเหล่านั้นก็ต่อเมื่อมีรอยจารึกหรือหลักฐานที่ชัดแจ้งเท่านั้น มีก้อนหินที่ได้ชื่อว่า "ศิลาอาเธอร์" (Arthur stone) ค้นพบในปี ค.ศ. 1998 อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของปราสาท Tintagel ในคอร์นวอลล์ ซึ่งมีอายุในคริสต์ศตวรรษที่ 6 อย่างแน่นอน[20] แต่จารึกหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับอาเธอร์ รวมถึงทางข้ามกลาสเตินเบอรี่ ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงขึ้นมา[21] แม้จะมีหลักฐานและบุคคลในประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงตัวตนของอาเธอร์[22] แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดจะหนักแน่นเพียงพอที่จะรับรองตัวตนของเขาได้จริง ๆ

ใกล้เคียง

กษัตริย์-จักรพรรดิ กษัตริย์ (วรรณะ) กษัตริยา กษัตริย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ กษัตริย์แห่งโรม กษัตริย์แห่งเวสเซกซ์ กษัตริย์ไทย กษัตริย์อังกฤษ กษัตริย์แห่งนอร์เวย์ กษัตริย์อาเธอร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: กษัตริย์อาเธอร์ http://www.mun.ca/mst/heroicage/issues/1/hati.htm http://www.britannia.com/history/arthur/kageneral.... http://search.ebscohost.com/login.aspx?direct=true... http://books.google.com/books?id=H1msWqD0SA4C http://www.imdb.com/title/tt0349683/ http://www.imdb.com/title/tt0462396/ http://www.lib.rochester.edu/CAMELOT/KOKA.htm http://www.lib.rochester.edu/camelot/acpbibs/harty... http://www.lib.rochester.edu/camelot/cphome.stm http://www.lib.rochester.edu/camelot/egypt.htm