การดัดแปลงและตำนานยุคใหม่ ของ กษัตริย์อาเธอร์

วรรณกรรมหลังยุคกลาง

การสิ้นสุดลงของยุคกลาง ทำให้ความสนใจในตำนานกษัตริย์อาเธอร์เสื่อมถอยลงไปด้วย แม้งานแปลฉบับภาษาอังกฤษของ มาโลรี จากนิยายโรแมนซ์ฝรั่งเศสอันยิ่งใหญ่จะยังเป็นที่นิยม แต่ก็ได้กระพือการโจมตีเรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในนิยายอาเธอร์ทั้งหลาย นับตั้งแต่ยุคของเจฟฟรีย์แห่งมอนมัทเป็นต้นมา เพื่อค้นหาความถูกต้องของตำนานแห่งบริเตน ด้วยเหตุนี้ การที่นักมานุษยวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 โพลีโดเร เวอร์จิล ปฏิเสธอาเธอร์ในฐานะกษัตริย์ผู้ปกครองคนหนึ่งในยุคหลังอาณาจักรโรมัน จึงโด่งดังมาก แนวคิดนี้พบได้ทั่วไปในวรรณกรรมแบบโพสต์-กัลฟรีเดียน ช่วงกลาง[64] การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเป็นผลสืบเนื่องจากการสิ้นสุดของยุคกลาง รวมถึงการเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ล้วนช่วยกันลบอาเธอร์กับตำนานของเขาออกจากความคิดจิตใจอันตราตรึงของเหล่าผู้ฟัง เห็นได้จากในปี 1634 งานพิมพ์ Le Morte d'Arthur ครั้งสุดท้ายของมาโลรีก็ยังตกค้างอยู่เป็นเวลาเกือบ 200 ปี[65] กษัตริย์อาเธอร์กับตำนานของพระองค์ไม่ได้ถูกทอดทิ้งไปเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจอย่างจริงจังตราบจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมากแล้วจะถูกใช้เป็นเครื่องอุปมาอุปไมยสำหรับกิจการเมืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18[66] เช่นในงานมหากาพย์ Prince Arthur (1695) และ King Arthur (1697) ของ ริชาร์ด แบล็กมอร์ ก็ใช้อาเธอร์เป็นตัวแทนในการต่อสู้ของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ต่อต้านกับพระเจ้าเจมส์ที่ 2[66] วรรณกรรมเกี่ยวกับอาเธอร์ที่นิยมมากที่สุดในช่วงยุคนี้เห็นจะได้แก่ผลงานของ ทอม ทัมบ์ ซึ่งในตอนแรกเผยแพร่ทางหนังสือสวดมนต์ และต่อมาก็นำไปแสดงเป็นละครเวทีโดย เฮนรี ฟิลดิ้ง แม้ว่าการแสดงจะบอกว่าเกิดขึ้นในเกาะบริเตนของอาเธอร์ แต่เนื้อหากลับสื่อไปในทางขำขัน และอาเธอร์ก็ได้เปลี่ยนโฉมเป็นละครตลกแทนที่แนวโรแมนซ์[67]

เทนนีสัน และยุคฟื้นฟู

ภาพวาดอาเธอร์และเมอร์ลิน ประกอบบทกวีเรื่อง Idylls of the King ของอัลเฟรด ลอร์ด เทนนีสัน วาดโดย กุสตาฟ โดเร ค.ศ. 1868

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 แนวคิดแบบ medievalism ศิลปะจินตนิยม และ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค ได้หวนกลับมาให้ความสำคัญกับอาเธอร์และวรรณกรรมโรแมนซ์ยุคกลางอีกครั้ง ความมีคุณธรรมของสุภาพบุรุษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีพื้นฐานแบบอุดมคติอยู่กับบุคลิกของอาเธอร์ในแบบโรแมนซ์ สามารถสังเกตความนิยมอีกครั้งนี้จากการตีพิมพ์เรื่อง Le Morte d'Arthur ของมาโลรีซ้ำอีกครั้งเป็นครั้งแรกหลังจากปี 1634[65] ตำนานอาเธอร์ในยุคกลางแบบดั้งเดิมมักจะเป็นที่สนใจของกวี และเป็นแรงบันดาลใจให้ประพันธ์ผลงานต่าง ๆ เช่น วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ เขียนเรื่อง "The Egyptian Maid" ในปี ค.ศ. 1835 ในทำนองเปรียบเปรยกับจอกศักดิ์สิทธิ์[68] ผลงานที่โดดเด่นในยุคนี้เป็นของอัลเฟรด ลอร์ด เทนนีสัน ผู้ประพันธ์บทกวี "The Lady of Shalott" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1832[69] แม้ว่าอาเธอร์จะยังคงได้รับบทเพียงตัวประกอบเช่นเดียวกับในวรรณกรรมโรแมนซ์ยุคกลาง แต่งานเขียนเกี่ยวกับตำนานอาเธอร์ของเทนนีสันได้สร้างความนิยมสูงสุดจากผลงานเรื่อง Idylls of the King ซึ่งนำเรื่องราวชีวิตของอาเธอร์มาบรรยายเสียใหม่ตามขนบของยุควิกตอเรีย ผลงานนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1859 และจำหน่ายได้ 10,000 ชุดภายในสัปดาห์แรก[70] ในเรื่องนี้ อาเธอร์กลายเป็นสัญลักษณ์ของบุรุษในอุดมคติ ผู้พยายามสร้างอาณาจักรอันสมบูรณ์ผาสุกท่ามกลางโลกที่ล่มสลายด้วยน้ำมือมนุษย์ผู้อ่อนแอ[70] งานของเทนนีสันสร้างแรงบันดาลใจต่อนักประพันธ์จำนวนมาก ทำให้สาธารณชนหันมาให้ความสำคัญกับตำนานอาเธอร์และตัวกษัตริย์อาเธอร์อีกครั้ง รวมถึงพาให้ผลงานของมาโลรีกลับมาสู่ความนิยมของผู้อ่าน[71] มีงานเขียนยุคใหม่ที่พัฒนาจากนิทานอาเธอร์ของมาโลรีตีพิมพ์ออกมาหลังจาก Idylls ไม่นานนัก (ค.ศ. 1862) หลังจากนั้นปรับปรุงอีกกว่า 6 ครั้งและมีผู้ประพันธ์เรื่องอื่น ๆ อีก 5 เรื่องก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษ[72]

ภาพวาด "The last sleep of Arthur" โดย เอ็ดเวิร์ด เบิร์น-โจนส์ ศิลปินยุคพรีราฟาเอลไลท์

ความสนใจใน "อาเธอร์แบบโรแมนซ์" และภารกิจต่าง ๆ ของเขาดำเนินต่อเนื่องไปตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนล่วงเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ส่งอิทธิพลต่อกวีมากมายหลายคน เช่น วิลเลียม มอร์ริส และศิลปินยุคพรีราฟาเอลไลท์มากมาย รวมไปถึง เอ็ดเวิร์ด เบิร์น-โจนส์[70] แม้แต่นิทานตลกขำขันของ ทอม ทัมบ์ ซึ่งนำตำนานอาเธอร์มาดัดแปลงเป็นเรื่องแรก ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็ถูกนำมาเขียนขึ้นใหม่หลังจาก Idylls ตีพิมพ์เผยแพร่ แม้ว่าทอมจะคงระดับของเรื่องและยืนหยัดความขบขันเอาไว้ แต่เรื่องใหม่ของเขาก็มีองค์ประกอบของความเป็นอาเธอร์ในวรรณกรรมโรแมนซ์ยุคกลางมากยิ่งขึ้น อาเธอร์ดูจริงจังมากขึ้นและมีตัวมีตนมากขึ้นในฉบับเรียบเรียงใหม่[9] ตำนานอาเธอร์แบบโรแมนซ์ยังส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมในสหรัฐอเมริกาด้วย จากผลงานหนังสือหลายเรื่อง เช่น The Boy's King Arthur ของ Sidney Lanier ในปี ค.ศ. 1880 ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางและส่งแรงบันดาลใจต่องานเขียนล้อเลียนเรื่อง A Connecticut Yankee in King Arthur's Court ของ มาร์ค ทเวน (ค.ศ. 1889) [73] แม้ว่า "อาเธอร์แบบโรแมนซ์" จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของวรรณกรรมอาเธอร์ยุคใหม่ (เช่นที่ปรากฏใน The Last Sleep of Arthur in Avalon ของ เบิร์น-โจนส์) แต่บ่อยครั้งที่เขากลับไปสู่สถานะเดียวกับอาเธอร์ในยุคกลาง คืออยู่เพียงขอบข้างของเนื้อเรื่องหรือบางครั้งก็หายตัวไปเลย ตัวอย่างเช่นในละครโอเปร่าเกี่ยวกับตำนานอาเธอร์ของ วากเนอร์ เป็นต้น[74] อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูความสนใจในตำนานอาเธอร์มิได้ดำเนินต่อเนื่องไปโดยตลอด เมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรื่องราวของอาเธอร์ก็ตกไปอยู่ในรูปเลียนแบบของพวกพรีราฟาเอลไลท์[75] เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เกียรติยศศักดิ์ศรีของการต่อสู้ประลองของวีรบุรุษแบบยุคกลางก็ค่อย ๆ เลือนหายไป ภาพของอาเธอร์ในฐานะนักรบผู้ทรงเกียรติศักดิ์ก็เลือนหายไปด้วย[76] ทว่าขนบแบบโรแมนซ์ยังคงมีพลังเพียงพอจะส่งอิทธิพลต่อ โทมัส ฮาร์ดี ลอเรนซ์ บินยอน และ จอห์น เมสฟิลด์ ในการประพันธ์ละครเพลงเกี่ยวกับอาเธอร์[77][78][79] ที. เอส. อีเลียต ยังได้กล่าวถึงบางส่วนของตำนานอาเธอร์ (ไม่ใช่ตัวอาเธอร์) ในกวีนิพนธ์ของเขาเรื่อง The Waste Land โดยได้อ้างถึงกษัตริย์ตกปลา (Fisher King) [80]

วรรณกรรมยุคใหม่

การต่อสู้ระหว่างอาเธอร์กับมอร์เดร็ด ภาพวาดโดย N.C. Wyeth สำหรับหนังสือเรื่อง The Boy's King Arthur ค.ศ. 1922

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 อิทธิพลของอาเธอร์ในขนบแบบโรแมนซ์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏในนวนิยายหลายเรื่อง เช่น The Once and Future King ของ ที. เอช. ไวท์ (ค.ศ. 1958) The Mists of Avalon ของ มาเรียน ซิมเมอร์ แบรดลีย์ (ค.ศ. 1982) รวมถึงในการ์ตูนสั้นเรื่อง Prince Valiant (ตั้งแต่ ค.ศ. 1937 เป็นต้นมา) [81][82] เทนนีสันได้เรียบเรียงนิยายโรแมนซ์เกี่ยวกับอาเธอร์ของเขาเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย งานเขียนหลาย ๆ เรื่องก็ได้ดัดแปลงเนื้อหาให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วย เช่นในนิทานของแบรดลีย์ มีบทบาทของฝ่ายสตรีในตำนานอาเธอร์มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับงานเขียนเกี่ยวกับตำนานอาเธอร์ในยุคกลาง[83] อาเธอร์แบบโรแมนซ์ยังกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในโลกภาพยนตร์ ละครเพลงเรื่อง Camelot ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับความรักระหว่างลานเซลอตกับกวินิเวียร์ ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1967 ขนบแบบโรแมนซ์ของตำนานอาเธอร์กลายเป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยผลงานของโรเบิร์ต เบรสสัน เรื่อง Lancelot du Lac (ค.ศ. 1974) งานของอีริค โรห์เมอร์ เรื่อง Perceval le Gallois (ค.ศ. 1978) รวมไปถึงผลงานภาพยนตร์แฟนตาซีของจอห์น บัวร์แมน เรื่อง Excalibur (ค.ศ. 1981) [84]

ตำนานกษัตริย์อาเธอร์ในยุคใหม่นำเรื่องราวในขนบแบบโรแมนซ์มาจินตนาการใหม่ ตีความใหม่ และเล่าใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น ภาพของอาเธอร์ยังได้หวนกลับไปเป็นวีรบุรุษที่แท้จริงแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 5 นอกเหนือไปจากภาพพจน์แบบโรแมนซ์อีกด้วย จากข้อสังเกตของเทย์เลอร์และบริวเวอร์ วรรณกรรมในยุคใหม่ได้หวนกลับไปยังขนบในยุคกลางของเจฟฟรีย์แห่งมอนมัท และ Historia Brittonum รูปแบบเช่นนี้เริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในวรรณกรรมอาเธอร์ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของอาเธอร์ในการเป็นผู้นำในการต่อต้านการรุกรานของชาวเยอรมันเพื่อปกป้องเกาะบริเตน[70] ปี ค.ศ. 1942 ละครวิทยุเรื่อง The Saviours ของเคลเมนซ์ เดน ได้ใช้ภาพของอาเธอร์ในประวัติศาสตร์เพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งความรักชาติและต่อต้านศัตรูผู้รุกราน บทละครเรื่อง The Long Sunset ของโรเบิร์ต เชอริฟฟ์ ในปี ค.ศ. 1955 วาดภาพอาเธอร์เป็นผู้นำยุคบริเตนสมัยหลังโรมัน ที่ต่อต้านการรุกรานของชาวเยอรมัน[85] แนวโน้มเหล่านี้ทำให้อาเธอร์มีบทบาทและตัวตนในทางประวัติศาสตร์มากขึ้น รูปแบบของวรรณกรรมในยุคนี้จะเป็นแบบกึ่งประวัติศาสตร์กึ่งแฟนตาซี[86] นอกจากนี้ ภาพของกษัตริย์อาเธอร์ในฐานะนักรบและวีรบุรุษแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 5 ยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง เรื่องที่โด่งดังได้แก่ King Arthur (ค.ศ. 2004) และ The Last Legion (ค.ศ. 2007) [87]

กษัตริย์อาเธอร์ ยังได้กลายเป็นต้นแบบของคุณธรรมในโลกยุคใหม่ ในราวคริสต์ทศวรรษ 1930 มีการก่อตั้งภาคีอัศวินโต๊ะกลมขึ้นในประเทศอังกฤษ เพื่อเชิดชูวีรบุรุษชาวคริสเตียนและเกียรติยศอันโดดเด่นของกษัตริย์อาเธอร์[88] ในสหรัฐอเมริกา เด็กชายหญิงหลายแสนคนได้เข้าร่วมในกลุ่มยุวชนอาเธอร์ซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย เช่น กลุ่มอัศวินแห่งอาเธอร์ (Knights of King Arthur) ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์และยกย่องอาเธอร์กับตำนานของพระองค์ให้เป็นแบบอย่างอันดีงาม[89] อย่างไรก็ดี แม้อาเธอร์จะโดดเด่นอย่างมากในวัฒนธรรมยุคใหม่ แต่เขาก็ค่อย ๆ กลืนหายเข้าไปกับวัฒนธรรมร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ชื่อของเขากลายไปเป็นชื่อสิ่งของ อาคาร และสถานที่ต่าง ๆ นอร์ริส เจ. เลซี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ความนิยมอย่างโดดเด่นของอาเธอร์ดูจะมีข้อจำกัดอยู่ ซึ่งไม่น่าประหลาดใจ เขากลายไปเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะและการตั้งชื่อ แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บุรุษในตำนานเมื่อหลายศตวรรษมาแล้วได้ผสานกลมกลืนเข้าไปในวัฒนธรรมยุคใหม่ในทุกระดับแล้ว"[90]

ใกล้เคียง

กษัตริย์-จักรพรรดิ กษัตริย์ (วรรณะ) กษัตริยา กษัตริย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ กษัตริย์แห่งโรม กษัตริย์แห่งเวสเซกซ์ กษัตริย์ไทย กษัตริย์อังกฤษ กษัตริย์แห่งนอร์เวย์ กษัตริย์อาเธอร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: กษัตริย์อาเธอร์ http://www.mun.ca/mst/heroicage/issues/1/hati.htm http://www.britannia.com/history/arthur/kageneral.... http://search.ebscohost.com/login.aspx?direct=true... http://books.google.com/books?id=H1msWqD0SA4C http://www.imdb.com/title/tt0349683/ http://www.imdb.com/title/tt0462396/ http://www.lib.rochester.edu/CAMELOT/KOKA.htm http://www.lib.rochester.edu/camelot/acpbibs/harty... http://www.lib.rochester.edu/camelot/cphome.stm http://www.lib.rochester.edu/camelot/egypt.htm