การเป็นรากษส ของ กัลมาษบาท

มหาภารตะ ว่า การถูกฤษีวสิษฐะสาปให้เป็นรากษส ทำให้พระเจ้ากัลมาษบาททรงเคียดแค้นฤษีวสิษฐะและวงศ์วานยิ่งนัก พระองค์ทรงจับลูกหลานของฤษีวสิษฐะมาสังหารและเสวยเนื้อถึง 99 คนเป็นการล้างแค้น ฤษีวสิษฐะจึงหนีออกจากอาศรมไปธุดงค์ในป่า[1] มหาภารตะ และ ลิงคปุราณะ ว่า ฤษีวิศวามิตรเป็นผู้ยุยงให้รากษสกัลมาษบาทไปจับญาติพี่น้องของฤษีวสิษฐะกิน[9] ส่วนเอกสารที่เก่ากว่าอย่าง พฤหัทเทวตา เอ่ยถึงเจ้าชายกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์พระนาม สุทัส ออกเข่นฆ่าลูกหลานของฤษีวสิษฐะ[10]

เอกสารหลายฉบับกล่าวอีกว่า เมื่อทรงถูกสาปให้เป็นรากษสอยู่ในป่านั้น พระเจ้ากัลมาษบาททรงพบพราหมณ์ชายหญิงคู่หนึ่งกำลังร่วมรักกัน ขณะที่ทั้งสองกำลังจะถึงจุดสุดยอด พระเจ้ากัลมาษบาททรงเข้าไปจับพราหมณ์หนุ่มเพื่อจะฆ่ากิน พราหมณ์ภรรยาร้องขอให้พระองค์ไว้ชีวิตสามีผู้กำลังจะทำให้นางตั้งครรภ์อยู่แล้ว ทั้งยังวิงวอนว่า การสังหารนักบวชนั้นเป็นบาป แต่พระเจ้ากัลมาษบาทไม่ทรงฟัง ทรงฆ่าพราหมณ์หนุ่มและเสวยเนื้อเขาเสีย พราหมณ์หญิงนั้นจึงสาปให้พระองค์สิ้นพระชนม์ทันทีที่แตะต้องหญิงใดก็ตามด้วยความรู้สึกทางเพศ ครั้นแล้ว พราหมณ์ภรรยาก็เผาร่างสามี แล้วโจนเข้ากองไฟตายตามไป[1][3]

ศิวปุราณะ ระบุต่อว่า บาปแห่งการที่พระเจ้ากัลมาษบาททรงประหารพราหมณ์ เกิดเป็นอสูรกายนามว่า พราหมณหัตยะ ออกตามล่าพระองค์ พระเจ้ากัลมาษบาททรงเร้นหนีอสูรนั้นจนมาถึงราชสำนักของพระเจ้าชนก ที่ซึ่งเคาตมมหาฤษีให้โอวาทแก่พระองค์ และแนะให้พระองค์ไปไถ่บาปที่วัดพระศิวะแห่งเมืองโคกรรณะ เมื่อเสด็จไปบำเพ็ญพรตที่โคกรรณะแล้ว อสูรพราหมณหัตยะก็เลิกจองเวรพระองค์[1]

มหาภารตะ ยังว่า พระเจ้ากัลมาษบาททรงพบกับฤษีอุตตังกะผู้ฝึกวิชา ณ สำนักฤษีโคตมะมาครบ 100 ปี และต้องชำระค่าครู เรียก "คุรุทักษิณ" ภรรยาของฤษีอุตตังกะจึงกล่าวแก่สามีว่า ให้ไปขอต่างหูของพระนางมทยันตี พระมเหสีพระเจ้ากัลมาษบาท มาเป็นค่าครู เมื่ออุตตังกะออกเดินทางไปราชสำนักพระเจ้ากัลมาษบาท ก็พบว่า พระมหากษัตริย์กลายเป็นรากษสเสียแล้ว พระเจ้ากัลมาษบาทหมายพระทัยจะจับอุตตังกะเสวย แต่อุตตังกะทูลว่า ยังมีหน้าที่ต้องไปต่างหูของพระนางมทยันตีมาเป็นค่าครูเสียก่อน และยอมกลับมาให้กินเมื่อทำหน้าที่ลุล่วงแล้ว พระเจ้ากัลมาษบาทจึงทรงบอกทางให้ฤษีอุตตังกะไปเข้าเฝ้าพระนางมทยันตี แต่พระราชินีไม่ประทานต่างหู จนกว่าอุตตังกะจะถวายหลักฐานว่า พระสวามีของพระนางทรงอนุญาตแล้ว อุตตังกะจึงต้องย้อนกลับไปขอสิ่งของเป็นหลักฐานจนได้ต่างหูของนางพระยามาใช้ชำระค่าครูในที่สุด[11]