บุคลากรด้านกายอุปกรณ์ในประเทศไทย ของ กายอุปกรณ์

บุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจวัดขนาด ออกแบบ ประดิษฐ์ ผลิตและดัดแปลงซ่อมแซมกายอุปกรณ์เสริม-เทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและผู้พิการ มีชื่อเรียกตามที่ ก.พ.ระบุ ซึ่งเรียกชื่อตำแหน่งบรรจุตามวุฒิการศึกษาคือ หากสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรจากโรงพยาบาลเลิดสิน หรือ สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูงจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (พ.ศ. 2536-2542) เรียกว่า ช่างกายอุปกรณ์ (PO technician) แต่หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาจะเรียกว่า นักกายอุปกรณ์ (Prosthetist/Orthotist) ซึ่งโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[1] ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตบัณฑิตในสาขากายอุปกรณ์หรือนักกายอุปกรณ์ออกมา

(ในอดีต หลักสูตรด้านกายอุปกรณ์ในประเทศไทยยังไม่มีการจัดเป็นหลักสูตรปริญญา ซึ่งเหมือนกับอีกหลายๆหลักสูตร เช่น พยาบาล (เทคนิค) , ครู (ประกาศนียบัตรชั้นสูง) เป็นต้น แต่ในปัจจุบันได้ปรับหลักสูตรเป็นระดับปริญญาแล้ว ในหลายๆประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ปัจจุบันยังมีหลักสูตรกายอุปกรณ์ทั้งระดับปริญญา (เรียน 4 ปี) และระดับอนุปริญญา (เรียน3 ปี) เช่นกัน)

ช่างกายอุปกรณ์หรือนักกายอุปกรณ์ จะปฏิบัติงานในทีมของเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งจะประกอบด้วยสหสาขาวิชา เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด นักจิตวิทยา พยาบาลทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู

ผู้ที่ทำหน้าที่ส่งต่อการรักษาและร่วมตรวจสอบกายอุปกรณ์กับผู้ป่วยคือ แพทย์ ซึ่งมักเป็น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์