อรรถาธิบาย ของ การกระจายอย่างเป็นธรรม

สำหรับที่มาของแนวคิดการกระจายอย่างเป็นธรรม พบว่ามีการถกเถียงในประเด็นนี้ตั้งแต่สมัยโบราณ ถ้านับย้อนไปก็จะเห็นได้ชัดเจนในงานของอริสโตเติลเรื่อง “Politics” และแนวคิดดังกล่าวได้กลายมาเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญและเผยแพร่ไปตามที่ต่างๆ อย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 1970s เมื่อนักปรัชญาอเมริกัน จอห์น รอลส์ (John Rawls) ได้เขียนงานชิ้นสำคัญเรื่อง “ทฤษฎีความเป็นธรรม” (A Theory of Justice, ค.ศ. 1971) งานชิ้นนี้ได้เสนอหลักการกระจายผลประโยชน์ในสังคมว่า ความไม่เท่าเทียมใดๆ ในสังคมนั้น จะยอมให้เกิดขึ้นได้ก็เพียงเพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสที่สุดในสังคมได้รับโอกาสยกระดับฐานะของตัวเองให้เท่าเทียมขึ้น หลักการดังกล่าวของรอลส์นี้เรียกว่า หลักที่มีฐานจากความแตกต่าง (Difference-Based Principle) หลักการดังกล่าวได้กลายมาเป็นหลักการกระจายอย่างเป็นธรรมที่มีอิทธิพลที่สุดแบบหนึ่งในปัจจุบัน

หลังจากงานของรอลส์ ที่ได้นำเสนอแนวคิดความเป็นธรรมออกมาสู่สังคม ก็เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยท่านหนึ่งที่ถือได้ว่าโจมตีงานของรอลส์ มากที่สุดก็คือ โรเบิร์ต โนซิค (Robert Nozick) โนซิคได้เขียนงานเพื่อโจมตีรอลส์โดยตรงพร้อมกับเสนอความเป็นธรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรมแบบเสรีนิยม (Liberalism) งานของโนซิคชื่อว่า “State, Anarchy and Utopia” ความเป็นธรรมแบบเสรีนิยมของโนซิค ตั้งอยู่บนฐานคิดในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล (Rights of Private Property) กล่าวคือรัฐควรปล่อยให้ทุกๆคนทำมาหากินตามความสามารถของตน และเมื่อใดก็ตามที่เอกชนหาทรัพย์สินมาได้ด้วยวิธีการตามกฎหมาย รัฐก็ไม่สามารถไปยึดเอาทรัพย์สินของเอกชนมาจัดสรรใหม่ให้กับคนด้อยโอกาสในสังคม โนซิคมีมุมมองว่าการที่รัฐไปยึดเอาทรัพย์สินบุคคลไม่ว่าจะเป็นไปในรูปของการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า หรือด้วยวิธีการอื่นใด เป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม เพราะบุคคลเป็นคนลงมือลงแรงจนได้ทรัพย์สินมา แต่กระนั้นคนรวยหรือเอกชนอาจจะแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับคนด้อยโอกาสในรูปของการสงเคราะห์ด้วยความสมัครใจได้ แต่จะไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจรัฐเข้าไปยึดมาเพื่อกระจายแบ่งสรร (Nozick, 2001)[3]

นอกจากนี้ ยังมีหลักการกระจายอย่างเป็นธรรมในแบบอื่นๆ อีก ยกตัวอย่างเช่น แบบดั้งเดิมที่สุดก็คือ การกระจายผลประโยชน์แบบเท่าเทียมกันอย่างเข้มงวด กล่าวคือทุกคนได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันโดยที่จะไม่นำความด้อยโอกาส ความต้องการ หรือความสามารถมาพิจารณาร่วม เช่น แม่อยากแบ่งเค้กให้กับลูกสามคน คนโตตัวผอมกินได้น้อย คนกลางมีกระเพาะใหญ่ต้องกินมากถึงจะอิ่ม ส่วนคนเล็กไม่ชอบกินเค้ก เมื่อถึงเวลาแบ่งเค้กแม่แบ่งโดยให้ทั้งสามคนเท่าๆ กัน วิธีการแบ่งแบบนี้คือการแบ่งโดยยึดหลักการเท่าเทียมกันอย่างเข้มงวด

หลักการกระจายอย่างเป็นธรรมในแบบสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ การกระจายแบบประโยชน์นิยม ซึ่งหลักประโยชน์นิยมนั้นมีวิธีคิดสำคัญคือ จะก่อให้เกิดประโยชน์ หรือความสุขที่มากที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีการกระจายผลประโยชน์แก่คนจนแล้วจะทำให้เกิดความสุขมากที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุด นโยบายดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระจายตามหลักการนี้ แต่กระนั้นถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจนมีเหตุให้ความสุขของคนจำนวนมากลดน้อยลง นโยบายนั้นก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงไป กล่าวง่ายๆ ก็คือหลักการของพวกประโยชน์นิยมไม่มีวิธีการที่ตายตัวเหมือนอย่างหลักการกระจายอย่างเป็นธรรมแบบอื่น เพราะสิ่งเดียวที่นักคิดแบบประโยชน์นิยมคำนึงก็คือ การทำให้เกิดความสุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด[4]

ประเด็นเรื่องการกระจายและจัดสรรผลประโยชน์ ในหลายกรณีสัมพันธ์กับแนวคิดอนุรักษ์นิยม และแนวคิดเสรีนิยม โดยแนวคิดอนุรักษ์นิยมจะมองว่าการแบ่งสรรที่เป็นธรรม คือทุกคนต่างขวนขวายแย่งชิงทรัพยากรและสิ่งที่มีค่าในสังคมบนความสามารถและคุณสมบัติของตัวเอง ไม่ว่าจะแข็งแรงกว่า สูงกว่า รวยกว่า หรือมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่เอื้อต่อการต่อสู้แย่งชิง แต่หากมองในมุมของแนวคิดเสรีนิยมแล้ว สังคมควรปรับให้การขวนขวายเข้าถึงทรัพยากรมีความเป็นธรรมโดยเอื้อให้คนที่แข็งแรงน้อยกว่า หรือด้อยโอกาสกว่าสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เท่าๆ กับคนที่แข็งแรงกว่า

ใกล้เคียง

การกราดยิงหมู่ การกรีธาทัพขึ้นเหนือ การกระทำอันเป็นโจรสลัดในโซมาเลีย การกระจายรายได้ การกระตุ้น การกระจัด (เวกเตอร์) การกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า การกรองตัวเลขในขอบเขตแบบธรรมดา การกระจายอย่างเป็นธรรม การกระเจิงแบบเรย์ลี