สถานะทางกฎหมาย ของ การทำแท้งในประเทศไทย

สถานะทางกฎหมายของการทำแท้งในประเทศไทยอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายยกเว้นในบางกรณี ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์โดยแพทย์เท่านั้น โดย (1) จำเป็นต้องทำแท้งเนื่องจากสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ หรือ (2) การตั้งครรภ์เป็นผลมาจากการถูกข่มขืน หากนอกเหนือจากกรณีดังกล่าว ผู้ทำแท้งตนเอง มีโทษจำคุกสูงสุดสามปี และผู้ที่ทำให้หญิงแท้ง มีโทษจำคุกสูงสุดห้าปี (หากผู้ทำให้หญิงแท้งโดยไม่ยินยอม มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี)[2]

ใน พ.ศ. 2532 ช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคเอดส์เพิ่มขึ้น แพทยสภาได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถตีความกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ทำแท้งในกรณีที่มีการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งไม่สามารถคาดหมายได้ว่าหากเด็กเกิดออกมาแล้ว จะมีคุณภาพชีวิตที่ยอมรับได้หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่าไม่สามารถตีความเป็นอย่างนั้นได้ เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้พิจารณาเฉพาะสุขภาพของมารดาเท่านั้น ไม่ใช่เด็ก[3] ต่อมามีการถกเถียงเรื่องการตีความเรื่องสุขภาพ และแพทยสภาได้ออกข้อบังคับเมื่อปี 2548 ซึ่งตีความอย่างชัดเจนทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจว่า เป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องทำแท้ง[4] ข้อบังคับนี้ตีความอย่างกว้างว่ารวมถึงผู้หญิงที่ความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากมีโอกาสที่เด็กในครรภ์จะมีความพิการ กฎระเบียบดังกล่าวได้บังคับใช้เช่นเดียวกับคลินิกที่ดำเนินการโดยสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการทำแท้งแก่สตรีในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกเท่านั้น ส่วนผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สองต้องทำที่โรงพยาบาล ห้ามทำแท้งหลังจาก 28 สัปดาห์ไปแล้ว[5]

กระทรวงสาธารณสุข ออกควบคุมการทำแท้งด้วยยา ซึ่งการยุติทารกในครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่าเก้าสัปดาห์ทำได้หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์บางประการหรือทั้งหมดต่อไปนี้: (1) ความจำเป็นทางการแพทย์, (2) ความจำเป็นทางกฎหมาย (เช่น ถูกข่มขืน), (3) ผู้หญิงมีอายุต่ำกว่า 15 ปี (และยังไม่จดทะเบียนสมรส) (4) ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อความผิดปกติอย่างรุนแรงหรือความผิดปกติทางพันธุกรรม[6]:17

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ยาสองชนิดที่ทำให้เกิดการแท้ง ได้แก่ มิฟีพริสโตน และมิโสโปรสตอล ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นยายุติการตั้งครรภ์ในสถานพยาบาล และต้องสั่งยาโดยแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ได้รับการรับรอง ผู้หญิงที่กินยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเองมีโทษตามกฎหมาย[5][7]

ในคำตัดสินที่เผยแพร่เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ากฎหมายการทำแท้งของประเทศไทยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ซึ่งผู้ทำแท้งต้องจำคุกไม่เกิน 3 ปีและปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และ 28 ซึ่งชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันตลอดจนสิทธิและเสรีภาพในชีวิตของทุกคน ศาลมีคำสั่งให้แก้ไขมาตรา 301 ภายใน 360 วันนับจากวันพิพากษา กล่าวคือ ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[8] ส่วนมาตรา 305 ซึ่งอนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายเมื่อการตั้งครรภ์เกิดจากการถูกข่มขืน หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมารดา ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้แก้ไขมาตรา 301 และ 305 ทั้งสองมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศไทยในปัจจุบัน

หลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยมีสาระสำคัญคือการแก้ไขความในมาตรา 301 โดยปรับลดโทษลงเหลือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และ/หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท และแก้ไขความในมาตรา 305 ซึ่งอนุญาตให้ทำแท้งได้ในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์[9] ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัตดังกล่าวเมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563[10] และผ่านการพิจารณาทั้งสามวาระเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2564 ด้วยคะแนนเสียง 276 ต่อ 8 เสียง และงดออกเสียง 54 เสียง[11] และผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาทั้งสามวะระเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2564 ด้วยคะแนนเสียง 166 ต่อ 7 เสียง[12] ร่างพระราชบัญญัติได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป[13]

ใกล้เคียง

การทำให้เป็นประชาธิปไตย การทำลายเขื่อนกาคอว์กา การทำงานในสมองกับการเข้าสมาธิ การทำแผนที่ การทำฝนเทียม การทำให้ไว การทำลายป่า การทำลายล้างวัตถุระเบิด การทำฝันวัยเด็กของคุณให้เป็นจริงได้อย่างแท้จริง การทำเครื่องหมายกางเขน

แหล่งที่มา

WikiPedia: การทำแท้งในประเทศไทย http://library.siam-legal.com/thai-law/criminal-co... //www.worldcat.org/issn/1686-3720 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/... https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/186204... https://www.bangkokpost.com/thailand/general/18619... https://www.bangkokpost.com/thailand/general/20211... https://www.bangkokpost.com/thailand/general/20403... https://www.bangkokpost.com/thailand/general/20542... https://www.khaosodenglish.com/news/2017/03/03/abo... https://www.reuters.com/article/thailand-abortion/...