ฝ่ายนิติบัญญัติ ของ การปกครองประเทศฝรั่งเศส

ระบบรัฐสภาฝรั่งเศส ประกอบไปด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

การประชุมรัฐสภาแบ่งเป็นสมัยประชุมทั้งสิ้น 9 เดือนต่อ 1 ปี ในกรณีจำเป็น ประธานาธิบดีสามารถขอเพิ่มวาระการประชุมได้ แม้ว่าอำนาจบริหารของฝ่ายนิติบัญญติจะถูกตัดออกจากสมัยสาธารณรัฐที่ 4 แต่สภาผู้แทนราษฎรยังสามารถยุบรัฐบาลได้โดยใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งกรณียังไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ (motion de censure) ได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่การแสดงความรับผิดชอบ โดยญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่สามารถเสนอได้คือญัตติที่มีสมาชิกจำนวน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้เสนอ เมื่อมีการเสนอญัตติ สภาก็จะทำการอภิปรายและลงมติตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ การอภิปรายต้องจัดขึ้นภายใน 3 วันเป็นอย่างช้า โดยวันดังกล่าวหมายถึงวันที่เป็นวันประชุม ส่วนการลงมตินั้นต้องไม่เกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงหลังการเสนอญัตติ ญัตติจะได้รับความเห็นชอบก็ต่อเมื่อญัตตินั้นได้คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

ถ้าไม่มีการเสนอญัตติภายในเวลา 24 ชั่วโมง หรือญัตติไม่ได้รับความเห็นชอบ ให้ถือว่าร่างกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภา การแสดงความรับผิดชอบนี้จะมีผลสำหรับวาระการพิจารณาที่นำกระบวนการดังกล่าวมาใช้เท่านั้น และไม่ส่งผลใด ๆ ต่อกระบวนการส่งไป-มา[1]

สมาชิกรัฐสภาได้รับอภิสิทธิ์ต่อการจับกุม ในระหว่างสมัยวาระประชุม โดยทั้งสองสภาสมารถตั้งคณะกรรมาธิการชั่วคราวเพื่อทำการสอบสวนได้

สภาผู้แทนราษฎร

ดูบทความหลักที่: สภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส

สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 577 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง โดยดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยจะสิ้นสุดวาระในวันอังคารของสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ปีที่ 5 นับแต่วันเลือกตั้ง

สภาผู้แทนราษฎรสามารถยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อคณะรัฐมนตรีได้ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีมักจะได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของสภา โดยในกรณีที่ประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีอยู่คนละขั้วกัน จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเรียกว่า "cohabitation" ในขณะที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยฝ่ายค้านในรัฐสภา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายบริหารบริหารราชการอย่างไม่เหมาะสมหรือบกพร่อง แต่ในกรณีปกติ พรรคเสียงข้างมากหรือพรรคร่วมรัฐบาลจะคอยป้องกันไม่ให้รัฐบาลถูกยุบโดยสภาผู้แทนราษฎร

วุฒิสภา

ดูบทความหลักที่: วุฒิสภาฝรั่งเศส

สมาชิกวุฒิสภาถูกสรรหาทางอ้อม กล่าวคือ ชาวฝรั่งเศสที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกผู้แทนในระดับท้องถิ่นที่เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้ง” (un collège électoral) ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาภาค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสิ้นประมาณ 145,000 คน จากนั้นคณะผู้เลือกตั้งเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสนั้นมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 9 ปี โดยมีการเลือกตั้ง 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดใหม่ทุก ๆ 3 ปีตามชุดของ สมาชิกวุฒิสภาที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ชุด ในปัจจุบันวุฒิสภาประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 348 คน

วุฒิสภามีสิทธิเสนอร่างกฎหมายและร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี โดยการตรากฎหมายดังกล่าวต้องไม่เพิ่มรายจ่ายของรัฐหรือทำให้รายได้ของรัฐลดลงและต้องไม่แทรกแซงอำนาจในการตรากฎหมายของรัฐบาลหรืออำนาจซึ่งรัฐบาลได้รับการอนุญาตจากรัฐสภาให้เป็นผู้ตรารัฐกำหนด (ordonnance)

อำนาจของวุฒิสภานั้นค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะการเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่หากคณะกรรมาธิการร่วมไม่สามารถตกลงกันได้อีก ร่างกฎหมายนั้นจะถูกส่งไปให้ทั้งสองสภาพิจารณาอีกครั้ง และหลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดหากทั้งสองสภามีความเห็นที่ไม่ตรงกัน

ตั้งแต่การเริ่มต้นของสาธารณรัฐที่ 5 เป็นต้นมา วุฒิสภามักจะมีเสียงข้างมากโดยกลุ่มขวา เนื่องจากจำนวนของเมืองเล็กในฝรั่งเศสที่มีมากกว่าเมืองใหญ่

กระบวนการร่างกฎหมาย

กระบวนการร่างกฎหมายเริ่มต้นจากพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี (ที่ประชุมเห็นพ้อง) หรือโดยสมาชิกรัฐสภา เพื่อตรากฎหมาย โดยร่างกฎหมายต้องผ่านการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่จะนำเข้าสู่สภาฯ โดยตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 เป็นต้นมา มีการเพิ่มข้อบังคับให้ร่างกฎหมายจะต้องผ่านการศึกษาถึงผลกระทบ ที่มีต่อกฎหมายแห่งประชาคมยุโรป เศรษฐกิจ สังคม การคลัง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในประเทศฝรั่งเศส การร่างกฎหมายก็ต้องผ่านการพิจารณาจากทั้งสองสภาเพื่อให้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเดียวกัน หากทั้ง 2 สภามีความเห็นตรงกันก็ถือว่าร่างกฎหมายนั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ในกรณีที่ทั้ง 2 สภามีความเห็นไม่ตรงกัน ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็จะถูกส่งกลับไปกลับมาระหว่าง 2 สภา (navette) ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถขอให้มีการตั้ง "คณะกรรมาธิการร่วมกัน" (commission mixte paritaire) ประกอบด้วยสมาชิกที่มีลักษณะแตกต่างกับของไทย กล่าวคือ คณะกรรมาธิการร่วมกันของฝรั่งเศสประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา 7 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 7 คน ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่หากคณะกรรมาธิการร่วมกันไม่สามารถตกลงกันได้อีก ร่างกฎหมายนั้นจะถูกส่งไปให้ทั้งสองสภาพิจารณาอีกครั้ง และหลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ในกรณีดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรอาจนำร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกันหรือร่างที่ผ่านการพิจารณาครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอาจมีการแปรญัตติโดยความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว มาเป็นร่างที่ใช้ในการพิจารณาก็ได้

ร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบแล้ว จะถูกลงนามโดยประธานาธิบดี ในระหว่างนี้ ประธานาธิบดี หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 คน สามารถยื่นตีความว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยพิจารณาโดยสภารัฐธรรมนูญก่อนนำมาบังคับใช้ โดยตามกฎหมาย ประธานาธิบดีสามารถลงนามคู่กับนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นร่างกฎหมายกลับไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้หนึ่งครั้งต่อร่างกฎหมาย โดยเมื่อได้รับการเห็นชอบจากสภาฯ แล้ว ประธานาธิบดีต้องลงนามคู่กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และส่งตีพิมพ์เพื่อบังคับใช้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ใกล้เคียง

การปกครองประเทศฝรั่งเศส การปกครอง การปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองเวียดนามของจีนครั้งแรก การปกครองระบอบประชาธิปไตย การปกครองของบริษัทในอินเดีย การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนท้องถิ่น (ประเทศไทย) การปกปิดการจัดสรร การปกครองโปแลนด์ทางทหารของเยอรมนี