การปกครองระบอบใหม่ ของ การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475

เมื่อถึงช่วงเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน ผู้ก่อการรู้สึกมั่นใจพอที่จะเรียกประชุมรัฐมนตรีอาวุโส ในการประชุมนั้น ปรีดีพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการพลเรือนอาวุโสสนับสนุนคณะราษฎร โดยขอการสนับสนุนคณะและบอกให้พวกเขายังคงสามัคคี มิฉะนั้นแล้วการแสดงออกซึ่งความสับสนอาจนำไปสู่การแทรกแซงจากต่างชาติได้[22] ปรีดีขอให้กระทรวงการต่างประเทศส่งข่าวไปยังคณะทูตต่างประเทศทั้งหมดโดยกล่าวว่าคณะราษฎรให้คำมั่นว่าจะคุ้มครองชีวิตและธุรกิจของชาวต่างชาติและบรรลุพันธกรณีตามสนธิสัญญาของสยาม[22]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ 26 มิถุนายน สิ่งที่พระองค์ทรงทำในทันทีคือการเรียกผู้ก่อการเข้าพบ เมื่อสมาชิกเข้ามาถึงห้องแล้ว พระองค์ทรงลุกขึ้นประทับยืนและตรัสทักทายว่า "ข้าพเจ้ายืนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราษฎร" นี่เป็นพระราชอิริยาบถที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากในวัฒนธรรมสยาม พระมหากษัตริย์จะทรงประทับนั่งเสมอและประชาชนจะถวายบังคม มิใช่กลับกัน[21] ปรีดีจึงได้กราบทูลพระกรุณาจากพระองค์ที่ได้หมิ่นพระเกียรติในประกาศคณะราษฎร และหลังจากนั้น ประกาศคณะราษฎรทุกเล่มได้ถูกนำกลับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบสนองพฤติการณ์ดังกล่าวโดยการประทับตราบนเอกสารพระราชทานอภัยโทษแก่สมาชิกคณะราษฎรทุกคนจากการปฏิวัติดังกล่าว[21]

จากนั้นคณะราษฎรได้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยกเว้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ซึ่งทางคณะพิจารณาว่ามีพระราชอำนาจมากเกินไปและกราบทูลขอให้พระองค์เสด็จออกนอกประเทศแทน พระองค์เสด็จไปยังเกาะชวาและไม่เคยเสด็จกลับมาประเทศเลย ส่วนเจ้านายพระองค์อื่นเสด็จออกนอกประเทศโดยสมัครใจไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ และบางพระองค์เสด็จไปยังทวีปยุโรป[21][23]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม

ผลที่ตามมาในทันทีหลังจากการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวสยาม พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อเวลา 5.00 น. ซึ่งเป็นเอกสารร่างเขียนขึ้นล่วงหน้าไว้แล้วโดยปรีดี[24] ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม แม้ว่าจะยังเป็นเพียงฉบับชั่วคราวอยู่ก็ตาม ข้อความในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตรา 1 ความว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยยกเลิกพระราชอำนาจที่มีมาแต่โบราณ อาทิ พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย การพระราชทานอภัยโทษ และพระราชสิทธิในการยืนยันผู้สืบราชสมบัติและรัชทายาท หรือจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวจำกัดอำนาจทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ โดยยังมิได้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเท่านั้น[25] รัฐธรรมนูญยังได้จัดตั้งคณะกรรมการราษฎรเป็นฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ได้มาจากการแต่งตั้ง 70 คน

อย่างไรก็ตาม "ประชาธิปไตย" สำหรับสยามนั้น ถูกมอบให้แก่ประชาชนในรูปของการผ่อน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วง ช่วงแรก สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะถูกแต่งตั้งโดยสี่ทหารเสือเท่านั้น (ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร) สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้จะใช้อำนาจแทนประชาชน และสมัยแรกมีกำหนดวาระหกเดือน[25] ช่วงที่สอง อันเป็นช่วงเวลาซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้จำต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง รัฐสภาจะถูกเปลี่ยนเป็นประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่กึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามแบบประชาธิปไตยทางอ้อม แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะราษฎรก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง ช่วงที่สามและช่วงสุดท้าย พระราชบัญญัติธรรมนูญบัญญัติว่าการเป็นตัวแทนประชาธิปไตยเต็มตัวในรัฐสภานั้นจะบรรลุได้เฉพาะเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสิบปีหรือประชากรมากกว่ากึ่งหนึ่งสำเร็จการศึกษาเกินกว่าระดับประถมศึกษา แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดก่อน[25]

สมัยประชุมแรกของรัฐสภาผู้แทนราษฎรประชุมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475[26] อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ได้มีอายุยาวนานอะไรนัก เมื่อถึงปลายปีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและมีความเป็นสายกลางมากขึ้น[27] ก็ได้มีผลใช้บังคับแทนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้คืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์หลายประการจากเดิมที่เคยถูกจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับก่อน เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระมหากษัตริย์นั้น "ศักดิ์สิทธิ์และจะล่วงละเมิดมิได้" สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 156 คน เลือกตั้ง 76 คน และอีก 76 คนได้รับการแต่งตั้ง การจำกัดประชาธิปไตยถูกยกเลิกและรัฐบาลมีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476[28]

ใกล้เคียง