ปฏิกิริยาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ของ การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475

แม้ก่อนหน้าที่โทรเลขของเหล่าทหารเสือจะมาถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่ามีเหตุการณ์บางอย่างกำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร พระองค์กำลังทรงกีฬากอล์ฟอยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสนาบดีที่เป็นเจ้านายสองพระองค์ และข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง เมื่อข้อความด่วนมาถึง (ซึ่งพระองค์กำลังทรงเล่นอยู่ที่หลุมที่แปด) ภายหลัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงมาถึงเพื่อกราบรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพระนคร[18]

พระองค์กับเจ้านายอีกสองพระองค์ทรงปรึกษากันถึงทางเลือกหลายทาง ซึ่งรวมไปถึงการเสด็จลี้ภัยไปยังต่างประเทศ การจัดรัฐประหารซ้อนหรือการยอมจำนนเต็มตัว[18] อย่างไรก็ตาม เมื่อโทรเลขแท้จริงจากคณะราษฎรมาถึงแล้ว พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยแล้วเช่นกัน พระองค์ได้ทรงตอบอย่างรวดเร็วว่าพระองค์เต็มพระทัยที่จะอยู่ในราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังที่พระองค์ทรงสนับสนุนที่จะให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด[19] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนถึงการตัดสินพระทัยของพระองค์ที่ปฏิเสธจะต่อสู้ในภายหลังว่า "... ข้าพเจ้าไม่สามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือดได้"[20] จุดหนึ่งที่พระองค์ทรงไม่ยอมรับคือเมื่อคณะราษฎรส่งเรือปืนมาเพื่อนำตัวพระองค์ไปยังกรุงเทพมหานคร พระองค์ทรงปฏิเสธและเสด็จกลับไปยังพระนครโดยรถไฟหลวง อันแสดงให้เห็นว่าพระองค์มิได้ตกเป็นเชลยของคณะราษฎร[19]

ขณะเดียวกัน ผู้ก่อการได้บีบบังคับให้เจ้านายลงพระนามในเอกสารประกาศพันธกรณีเพื่อให้เกิดสันติภาพและหลีกเลี่ยงการหลั่งเลือดใด ๆ[19] ในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับรัฐประหารอีกหลายครั้งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ที่ประชาชนแทบจะไม่มีท่าทีตอบสนองต่อรัฐประหารครั้งนี้เลย และชีวิตประจำวันของประชาชนได้กลับคืนสู่สภาพปกติก่อนที่จะจบวันที่ 24 มิถุนายนเสียอีก ส่วนที่เหลือของประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน[19] ทำให้หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ในลอนดอนรายงานว่าการปฏิวัติดังกล่าวเป็นเพียง "การปรับปรุงใหม่เล็กน้อย" เท่านั้น[21]

ใกล้เคียง