เบื้องหลัง ของ การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลายด้าน แต่การปฏิรูปรัฐธรรมนูญกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่พวกหัวก้าวหน้าและเสรีนิยม[2] ในปี พ.ศ. 2454 ได้เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งดำเนินการโดยคณะนายทหารหนุ่ม เป้าหมายของคณะคือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและล้มล้างระบอบเก่าและแทนที่ด้วยระบบรัฐธรรมนูญตะวันตกที่ทันสมัย และอาจต้องการยกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นเป็นพระมหากษัตริย์แทนด้วย[3] อาจกล่าวได้ว่ากบฏ ร.ศ. 130 เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎรปฏิวัติ โดยภายหลังยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130"[4] การปฏิวัติดังกล่าวล้มเหลวและผู้ก่อการถูกจำคุก นับแต่นั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกความพยายามส่วนใหญ่ในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและทรงปกครองประเทศต่อไปภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีข้อยกเว้นบ้างที่โปรดฯ แต่งตั้งสามัญชนบางคนสู่สภาองคมนตรีและรัฐบาล[5]

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
ประวัติศาสตร์ไทย
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ช่วงต้น
การเข้ามาอยู่อาศัย
แนวคิดถิ่นกำเนิดชนชาติไท
บ้านเชียง ~2500 ปีก่อน พ.ศ.
บ้านเก่า ~2000 ปีก่อน พ.ศ.
อาณาจักรมอญ-เขมร

อาณาจักรของคนไท

หลังกรุงศรีอยุธยา
ประวัติศาสตร์รายภูมิภาค
แบ่งตามหัวข้อ
สถานีย่อยประเทศไทย

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงสืบราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐาเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงสืบช่วงปกครองประเทศในวิกฤตการณ์ พระเชษฐาของพระองค์ทรงได้ทำให้สถานะของประเทศเกือบจะล้มละลาย เพราะทรงมักจะใช้เงินจากกองคลังมาปกปิดการขาดดุลของท้องพระคลังข้างที่ และข้อเท็จจริงยังมีว่ารัฐและประชาชนถูกบังคับให้จ่ายเงินแก่พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ซึ่งมีวิถีชีวิตอันหรูหราฟุ่มเฟือย พระองค์ทรงรีบจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นเป็นองค์กรหลักในการปกครองรัฐ เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ สภานั้นประกอบด้วยเจ้านายอาวุโสมีประสบการณ์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลก่อนมาแล้ว เจ้านายเหล่านั้นเร่งเปลี่ยนตัวสามัญชนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในข้าราชการพลเรือนและทหารแล้วแทนที่ด้วยคนของพวกตน สภาถูกครอบงำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงได้รับการศึกษาจากเยอรมนี และเป็นพระเชษฐาร่วมสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ยังเป็นรัชทายาทด้วย ตามกฎหมายการสืบราชสันตติวงศ์อันซับซ้อนของราชวงศ์จักรี กลายเป็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เห็นอกเห็นใจ ทรงตัดรายจ่ายในพระราชวังและเสด็จพระราชดำเนินทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง และเมื่อเสด็จกลับมายังพระนคร พระองค์ทรงทำให้เป็นที่ยอมรับและโดดเด่นแก่หมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครซึ่งเติบโตขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยทรงประกอบพระราชกรณียกิจสาธารณะหลายอย่าง จนถึงเวลานี้ นักเรียนหลายคนที่ถูกส่งไปศึกษาต่างประเทศเมื่อหลายทศวรรษก่อนเริ่มเดินทางกลับประเทศแล้ว แต่นักเรียนเหล่านี้กลับขาดโอกาส การยึดมั่นของเจ้านายและความล้าหลังเปรียบเทียบของประเทศ ส่วนมากจึงหูตาสว่างกับสถานะเดิม[6]

เมื่อถึง พ.ศ. 2473 สถานการณ์โลกหนักหนาเกินกว่าประเทศจะรับได้เมื่อตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มและความล่มสลายทางเศรษฐกิจมาถึงสยามในที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสนอให้จัดเก็บภาษีรายได้ทั่วไปและภาษีอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนยากจน แต่นโยบายดังกล่าวถูกสภาปฏิเสธอย่างรุนแรง ซึ่งสภาเกรงว่าทรัพย์สินของพวกตนจะลดลง สภาหันไปลดค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนและลดงบประมาณทางทหารแทน ทำให้อภิชนผู้ได้รับการศึกษาในประเทศส่วนใหญ่โกรธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านายทหาร[7] และในปี 2474 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ลาออก พระองค์เจ้าบวรเดชมิใช่สมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา และสงสัยว่าความไม่ลงรอยกับสภาเรื่องการตัดงบประมาณนำไปสู่การลาออกนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงยอมรับว่าพระองค์ทรงขาดความรู้การคลังอย่างเปิดเผย พยายามต่อสู้กับเจ้านายที่อาวุโสกว่าในเรื่องนี้ แต่ก็สำเร็จเพียงเล็กน้อย[7]

ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงทุ่มความพยายามร่างรัฐธรรมนูญ อันจะนำประชาธิปไตยสู่สยามเป็นครั้งแรก ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้านายอีกสองพระองค์และที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศชาวอเมริกัน เรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์[8] แม้จะได้รับการกราบทูลทัดทานว่าประชาชนสยามยังไม่พร้อม แต่พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะมอบรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนก่อนงานเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีราชวงศ์จักรีในปี 2475[9] ทว่า เอกสารดังกล่าวได้ถูกเจ้านายในอภิรัฐมนตรีสภาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง[9] แต่มีมุมมองอีกฝ่ายหนึ่งว่า พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งที่สื่อว่าพระองค์ไม่โปรดประชาธิปไตย คือ "ประเทศนี้พร้อมแล้วหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน... ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่"[10]

เมื่อสิ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากกรุงเทพมหานครในช่วงเสด็จแปรพระราชฐานฤดูร้อน โดยทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพระองค์เสด็จไปประทับยังวังไกลกังวล ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[11]

ใกล้เคียง