การตอบสนอง ของ การประท้วงในประเทศไทย_พ.ศ._2563

การตอบสนองภาครัฐ การคุกคามและจับกุม

วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
ตำรวจจับกุมพริษฐ์ ชีวารักษ์ แกนนำนักศึกษา 14 สิงหาคม 2563, วิดีโอยูทูบ

วันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่ามียุทธวิธีคุกคามฝ่ายผู้ประท้วงของทางการ เช่น การติดตามหาข้อมูลถึงบ้าน การถ่ายภาพผู้ประท้วงและป้ายข้อความรายบุคคล การปิดกั้นพื้นที่ ฯลฯ นอกจากนี้สถานศึกษาบางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สั่งห้ามจัดการชุมนุมในสถานศึกษาด้วย[98]

วันที่ 9 สิงหาคม เพจเฟซบุ๊ก "พิษณุโลกคนกล้าไม่ก้มหน้าให้เผด็จการ" โพสต์ว่าแกนนำเยาวชนในจังหวัดพิษณุโลก 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไป[9][99] โดยไม่มีการแจ้งข้อหา อ้างว่าทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนว่าถูกควบคุมตัวไปยังค่าย ตชด. แห่งหนึ่ง[100] ฝ่ายตำรวจอ้างว่าตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุดังกล่าว และได้ออกหมายจับนายเวหา หรืออาร์ท แสนชนชนะศึก แอดมินของเพจดังกล่าว ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ[99]

วันที่ 12 สิงหาคม มีทหาร​พรานเข้าหาตัวผู้ชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานีที่บ้านหลายราย[101] ในคืนเดียวกัน ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) แกนนำ สนท. โพสต์ข้อความว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามพวกตนมายังที่พัก คาดว่าเตรียมจับกุมพวกตน ทำให้ทวิตเตอร์เกิดแฮชแท็ก #SavePanusaya ติดเทรนด์อันดับ 1 มียอดทวีตแล้วอย่างน้อย 123,000 ทวีต[102] นอกจากนี้ พริษฐ์ยังถูกแจ้งความข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย[103]

เอเชียไทมส์ รายงานอ้างข้าราชการคนหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์ทรงไม่รู้สึกถูกรบกวนจากการประท้วง และผู้ประท้วงควรสามารถแสดงความคิดเห็นได้[104] อย่างไรก็ดี อัลจาซีรารายงานว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้สื่อไทยตรวจพิจารณาข้อเรียกร้อง 10 ข้อ[105]

วันที่ 20 สิงหาคม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า หากผู้ประท้วงไม่อยากถูกจับ ให้ไปประท้วงที่ทุ่งกุลาร้องไห้[106]

วันที่ 22 สิงหาคม มีรายงานว่าผู้ใช้สื่อสังคมจำนวนมากไม่พอใจที่กรมประชาสัมพันธ์เปิดตัวคลิปเพลง "ธงชาติ" ที่ใช้โจมตีผู้ประท้วง โดยอ้างว่าสร้างความแตกแยก ทำนองเดียวกับคลิป "รักจากแม่" จนล่าสุดคลิปทั้งสองถูกปิดการเข้าถึงทางยูทูบแล้ว[107] วันเดียวกัน มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตามหาเด็กอายุ 3 ขวบที่ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วต้านรัฐบาล[108]

วันที่ 28 สิงหาคม ผู้มีชื่อตามหมายจับจำนวน 15 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ ส.น. สำราญราษฎร์ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางประกัน วันเดียวกัน เกิดเหตุมีศิลปินสาดสีใส่ชุดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ[109]

สนับสนุน

สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับโอกาสการรับเข้าทำงานของเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรมนุษย์ตอบว่า คนที่จะได้รับผลกระทบมีเฉพาะผู้ที่มีฝ่ายทางการเมือง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมืองเท่านั้น[110]

มี ส.ส. สังกัดพรรคก้าวไกล ระบุว่าการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในการประท้วง (เช่น การล้อเลียน เสียดสี มีม ฯลฯ) เป็นความจริงที่น่ากระอักกระอ่วน และจำต้องให้ความสนใจ อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ และอภิรัชต์ตอบโต้อย่างรุนแรง โดยมองว่าในผู้ประท้วงมีกลุ่มผู้ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์แอบแฝง หรือไม่นักศึกษาก็ตกเป็นเหยื่อของผู้อยู่เบื้องหลังที่มีเจตนาดังกล่าว[111] ศาสตราจารย์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนว่า "เด็กเขาก็แสดงออกในสิ่งที่เขาคิด... ถามว่าทำไมเราถึงรู้สึกหวั่นไหว ตกอกตกใจ หรือสะดุ้งเวลาเห็นข้อความบางข้อความ เพราะว่าจุดที่เราสะดุ้งนั้น มันไม่ใช่จุดของเด็ก มันเป็นจุดของเราเอง เป็นเพดานของเรา แต่เด็กเขาไม่เห็นเพดาน เขายังไม่มีเพดาน ส่วนพวกเราที่ผ่านชีวิตมาแล้ว เราเห็นเพดาน หรือเราเห็นเส้นที่ห้ามแตะ ห้ามเกิน เป็นเส้นตัด" มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ถือป้ายทำนองดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า "พี่เขาให้มา หนูก็รับ ไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหา มันเป็นสิ่งที่ควรพูดได้ และไม่ควรมีใครต้อง 'เป็นบ้า' เพียงเพราะเขียนข้อความอะไรลงแผ่นกระดาษหรือบนเสื้อ"[112] ในวันที่ 28 กรกฎาคม อานนท์ นำภา โพสต์ว่า ทราบมาว่ามีการจัดตั้งกลุ่มคนมาทำร้ายผู้ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม[113]

มารีญา พูลเลิศลาภ นางงาม แสดงจุดยืนเข้ากับผู้ประท้วง[114] นักแคสเกมที่มีชื่อเสียงที่ใช้ชื่อว่า ฮาร์ตร็อกเกอร์ ก็แสดงความสนับสนุนเช่นกัน[115] ทราย เจริญปุระซื่อไอศกรีมเลี้ยงผู้ประท้วงที่จังหวัดนนทบุรี[116]

คณาจารย์อย่างน้อย 147 คนลงชื่อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาในวันที่ 10 สิงหาคม และระบุว่าเนื้อหาไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย[117][90] และนักวิชาการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองอย่างน้อย 358 สนับสนุนการประท้วง[90] บุคลากรโรงเรียนบางส่วนสนับสนุนการแสดงออกของนักเรียน[118]

วันที่ 18 สิงหาคม ยูนิเซฟออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายรับรองความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเด็กและเยาวชน โรงเรียนและสถานศึกษาเป็นที่แสดงออกและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างสร้างสรรค์[119]

คัดค้าน

อดีตรองโฆษกกองทัพบกเรียกผู้ประท้วงว่า "ม็อบมุ้งมิ้ง" ทางเฟซบุ๊ก การประท้วงต่อมาบ้างใช้คำว่า "มุ้งมิ้ง" ในชื่อกิจกรรมของพวกตน[120] พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์เตือนว่าการกระทำของผู้ประท้วงบางคนอาจเข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และน้ำตาคลอเมื่อเล่าถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของตน[121] ด้านพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เตือนเขาไม่ให้ยุ่งกับผู้ประท้วง และให้ "รีบเกษียณอายุราชการ"[122]

ด้านอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แสดงความกังวลถึงโอกาสแพร่กระจายของโรคโควิด-19 แต่วางท่าทีเป็นกลางต่อข้อเรียกร้อง 3 ประการ[123]

วันที่ 10 สิงหาคม สถาบันทิศทางไทย ซึ่งมีอดีตสมาชิกกลุ่ม กปปส. เข้าร่วม[124] เผยแพร่ "แผนผังเครือข่ายปฏิวัติประชาชน" ซึ่งโยงผู้ประท้วงนักศึกษา กับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และทักษิณ ชินวัตร[125] ประยุทธ์แสดงความไม่สบายใจต่อการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตในวันเดียวกัน[126] รองอธิการบดี มธ. โพสต์ขออภัยกรณีข้อเสนอ 10 ข้อของนักศึกษา โดยระบุว่าเมื่อนักศึกษามาขอใช้พื้นที่ชุมนุมไม่ได้แจ้งเรื่องนี้[127] ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่กระทบกระเทือนพระราชอำนาจ[128] ด้านประวิตร โรจนพฤกษ์ตั้งคำถามถึงเงินทุนสนับสนุนและการจัดระเบียบที่มีลักษณะคล้าย นปช. หรือ กปปส.[129] แต่พรรคก้าวไกลออกมาสนับสนุนให้เปิดโอกาสแก่นักศึกษา[130] หนังสือพิมพ์แนวหน้า เขียนว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำชั่วร้าย สร้างความแตกแยก อ้างว่าเป็นการประท้วงรัฐบาลหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อบังหน้า แต่เป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเบื้องหลังเป็นพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่[131]

การคัดค้านในเวลาต่อมาพยายามอ้างว่ามีต่างชาติให้การสนับสนุนการประท้วง ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ แกนนำแนวร่วมนวชีวิน ที่มีข่าวว่าเริ่มอดอาหารประท้วงหน้าสัปปายะสภาสถานตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม โดยให้สัมภาษณ์ว่าทำเพื่อเน้นย้ำความยากจนที่เกิดจากโควิด-19[132] แต่ภายหลังออกมาให้สัมภาษณ์ว่าแตกหักกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกเนื่องจากไม่พอใจที่ไม่ได้ขึ้นเวที และกล่าวหาว่ากลุ่มรับเงินสถานทูตและองค์การนอกภาครัฐต่างประเทศ ขณะเดียวกันตัวเขาเองก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายตำรวจ[133] บ้างอ้างว่า ที่องค์การการบริจาคทรัพย์เพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Endowment for Democracy) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐที่ได้รับจัดสรรเงินสนับสนุนผ่านรัฐสภาสหรัฐ สนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ ที่สนับสนุนฝ่ายผู้ประท้วงนั้น เป็นหลักฐานเชื่อมโยงดังกล่าว ทั้งที่กลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การดังกล่าว เช่น ไอลอว์ เปิดเผยต่อสาธารณะมาช้านานแล้ว

ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ประกาศให้รางวัลครูที่ตบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนักเรียน และว่าถ้าตนพบเห็นนักเรียนชูสามนิ้วจะจับตีก้น[134]

บางคนและกลุ่ม เช่น เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือเพจโปลิศไทยแลนด์ ประณามการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจของผู้ประท้วง โดยกล่าวว่าเป็น "ความรุนแรง"[135][136]

การห้ามใช้พื้นที่ชุมนุม

สถานศึกษาที่ประกาศห้ามชุมนุม เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[137] มหาวิทยาลัยมหิดล[138] โรงเรียนราชินี ส่วนที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน มีการพ่นยากันยุงในวันที่นัดชุมนุม[139]

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอนุญาตให้นักเรียนจัดกิจกรรมในโรงเรียนได้ เพียงแต่ห้ามบุคคลภายนอกเข้าร่วม[140]

ใกล้เคียง

การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 การปรับตัวเป็นสัตว์เลี้ยง การประกวดความงาม การปรับตัว (ชีววิทยา) การประเมินตัวเองหลัก (จิตวิทยา) การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ การปรับอากาศรถยนต์ การประมาณราคา การประกันภัย การปรับตัวของประสาท