เหตุการณ์ ของ การผนวกนครเชียงใหม่ของสยาม

พระนครกรุงเทพฯ

ภายหลังที่รัฐบาลสยามและรัฐบาลอังกฤษได้ตกลงแลกเปลี่ยนสัตยาบัน "สนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอินเดียเพื่อการส่งเสริมการพาณิชย์ระหว่างพม่าของอังกฤษกับอาณาเขตเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน" หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม สนธิสัญญาเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2416 อันเป็น "...การรับประกันว่า ประเทศราชภาคเหนือเป็นดินแดนของสยาม อันเป็นการป้องกันการยึดครองของต่างชาติไว้ได้อีกชั้นหนึ่ง..."[2][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ] แล้ว กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงบันทึกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า

...การปกครองภายในที่ไม่สู้จะเป็นระเบียบ หรือว่าการที่เจ้านายขุนนางทางภาคเหนือเกลียดชังฝรั่ง และมักข่มเหงคนในบังคับนั้น อาจเป็นการท้าทายและอาจเป็นช่องทางที่ทำให้อังกฤษฉวยโอกาสใช้กำลังทางทหารเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างที่ทำกับพม่า และหรือว่าอย่างน้อยการทะเลาะวิวาทกันเองระหว่างเจ้านายขุนนางทางเหนือก็ย่อมจะมีผลกระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และรัฐบาลในฐานะเจ้าของประเทศราชภาคเหนือ ก็ย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น...[2]

แต่แนวพระราชดำริที่จะรักษาเมืองเชียงใหม่ดังกล่าวนั้น กลับตรงข้ามกับความเห็นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงบันทึกไว้ว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ "...ยังคงยึดถือแนวทางการปกครองประเทศราชแบบดั้งเดิมคือ ไม่ต้องการที่จะให้รัฐบาลเข้าไปแทรกแทรงการปกครองในภาคเหนือแต่อย่างใด ด้วยเกรงว่าเจ้านายขุนนางทางเหนืออาจจะไม่พอใจ และอาจก่อการกบฏขึ้น สมเด็จเจ้าพระยาฯถือว่า เมืองประเทศราชเป็นหัวเมือง "สวามิภักดิ์" ไม่ใช่ "เมืองขึ้นกรุง" ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับทรงเห็นไปอีกอย่าง..." ซึ่งในครานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่า "...ฉันว่าสวามิภักดิ์จริงแต่คนตระกูลนี้ แต่เมืองมิได้สวามิภักดิ์ เราตีได้แล้วตั้งให้อยู่ต่างหาก ใครพูดดังนี้เห็นจะไม่ถูก ท่านว่านั้นแลเขาพูดกันอย่างนั้น มันจึงเปรี้ยวนัก..." [2]ด้วยเหตุดังกล่าวจึงยากนักที่จะหาคนไปจัดการได้สมพระราชประสงค์ ขณะนั้นคงมีแต่พระนรินทรราชเสนี ปลัดบัญชีกรมพระกลาโหม ที่รับอาสาขึ้นไปจัดการตามพระราชดำริ ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระนรินทรราชเสนี เป็นข้าหลวงที่หนึ่ง และหลวงเสนีพิทักษ กรมมหาดไทยเป็นข้าหลวงที่สอง ไปประจำอยู่นครเชียงใหม่ มีหน้าที่ควบคุม ดูแลแนะนำให้พระเจ้าเชียงใหม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาเชียงใหม่ และทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองเหนือ[3] รวมทั้งเป็นตุลาการศาลต่างประเทศในการพิจารณาอรรถคดีบรรดาคนในบังคับของอังกฤษฟ้องร้องคนพื้นเมืองเป็นจำเลย และคดีที่คนในบังคับของอังกฤษที่ไม่มีหนังสือสำหรับตัวตกเป็นจำเลย กับหน้าที่กำกับการให้สัมปทานป่าไม้ในเขตหัวเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน และยังโปรดเกล้าฯ ให้นายสิบและพลทหารราว 70 คนขึ้นมารับราชการพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ดี เนื้ออ่อน (2557) มองว่า การลงนามสนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2416 เป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์จากรัฐบรรณาการมาเป็นราชอาณาเขต ซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกับจักรวรรดิบริติชเจ้าอาณานิคมขณะนั้น มองว่าล้านนาล้าหลังทำให้ต้องเข้าไปปฏิรูป[1]:65

การทูตกับอังกฤษ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่คนแรก

ในปี พ.ศ. 2426 รัฐบาลอังกฤษได้จัดทำ สนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2426 ขึ้นแทนฉบับเดิมที่หมดอายุโดยมีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาฉบับเดิม คือ เกี่ยวกับเรื่องให้ความคุ้มครองคนในบังคับของทั้งสองฝ่าย เรื่องความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การป่าไม้ และส่วนที่แตกต่างคือ ว่าด้วยอำนาจของศาลต่างประเทศ และการตั้งรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่[2] แต่ก่อนที่อังกฤษจะส่งรองกงสุลขึ้นไปประจำที่เชียงใหม่นั้น มีข่าวลือว่าได้มีทูตอังกฤษจากพม่าตอนใต้มาเจรจาทาบทามพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ว่า สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร มีพระราชประสงค์อยากจะขอรับเอาเจ้าหญิงดารารัศมีที่ประสูติแด่แม่เจ้าเทพไกรสรราชเทวีไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อข่าวลือทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร อัญเชิญพระกุณฑลและพระธำมรงค์ประดับเพชรขึ้นไปหมั้นเจ้าหญิงดารารัศมี พร้อมกับตราพระราชบัญญัติสำหรับข้าหลวงและตระลาการสำหรับศาลเมืองลาวเฉียง โดยโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ในการกำกับการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

นครเชียงใหม่

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรที่เสด็จฯขึ้นมาเชียงใหม่ ได้ทรงหารือกับแม่เจ้าเทพไกรสรราชเทวี ชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ที่จะจัดระเบียบราชการงานเมืองให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่สอง ซึ่งเป็นทราบดีว่า สรรพราชการงานเมืองทั้งปวงอยู่ที่แม่เจ้าเทพไกรสรเสมือนเป็นพระเจ้านครเชียงใหม่เสียเอง[4] แต่ยังไม่ทันจัดระเบียบใดๆ แม่เจ้าเทพไกรสรก็เสด็จถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2427 ซึ่งทำให้พระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงไม่มีพระสติสมประฤๅดี เพราะหากไม่เสด็จพระราชทานน้ำอาบพระศพพระราชเทวีก็จะเสด็จพาพระราชโอรส-ธิดาเสด็จประพาสตามสวนดอกไม้ ไม่รับสั่งกับใคร เป็นเหตุให้ราชการงานเมืองติดขัด[4] ในขณะที่เจ้าราชบุตรนครเชียงใหม่ก็ไม่ทรงรู้เรื่องราชการงานเมือง ทำให้นับแต่นั้นมา กรมหมื่นพิชิตปรีชากรจึงทรงจัดระเบียบการปกครองนครเชียงใหม่ด้วยพระองค์โดยลำพัง

ผลจากการปฏิรูปของกรมหมื่นพิชิตปรีชากรในสามหัวเมือง นอกจากจะมีผลให้เสนาทั้งหกได้เข้ามามีบทบาทในการบริหาราชการบ้านเมืองแทนเค้าสนามหลวง ซึ่งเป็นองค์กรปกครองตามจารีตล้านนาที่มีมาตั้งแต่รัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 แล้ว ยังส่งผลให้เค้าสนามหลวงถูกลดบทบาทลงจนในที่สุดก็ถูกยุบเลิกไปโดยปริยายในรัชสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ประกอบกับการที่เจ้านายฝ่ายเหนือซึ่งเคยมีบทบาทเป็นเจ้าภาษีนายอากรต้องถูกลดทอนผลประโยชน์จากส่วยและภาษีอากร รวมทั้งผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ในป่าไม้ก็ต้องเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับ ได้สร้างความคับข้องใจแก่เจ้านายฝ่ายเหนือในสามหัวเมืองเป็นอันมาก พระเจ้าอินทวิชยานนท์และพระประยูรญาติจึงพากันฟ้องร้องกล่าวโทษข้าราชการที่ทางรัฐบาลกลางส่งมาเป็นผู้ช่วยเสนาหกเหล่าในการปฏิบัติราชการในด้านการเก็บภาษีอากรและด้านป่าไม้ ได้ใช้วิธีเบียดบังในรูปแบบบัญชี และคบคิดกับพวกเจ้าภาษีนายอากรทั้งหลายที่ประมูลผูกขาดการเก็บภาษีทางราชการไป ทำให้ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตกไปอย่างมากมาย

มณฑลลาวเฉียง
  หัวเมืองนครเชียงใหม่
  หัวเมืองนครลำพูน
  หัวเมืองนครลำปาง
  หัวเมืองนครแพร่
  หัวเมืองนครน่าน

เมื่อพระยาเพชรพิไชย ขึ้นมาเป็นข้าหลวงใหญ่ห้าหัวเมืองใน พ.ศ. 2431 พระยาเพชรพิไชยได้สนับสนุนพระเจ้าอินทวิชยานนท์โดยการออกหนังสือประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลกลางยกเลิกตำแหน่งเสนาทั้งหก และยกเลิกระบบภาษีอากรแบบกรุงเทพฯ และขอให้ใช้ระบบแบบเดิม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาติตามที่เสนอมา ถึงกระนั้นพระยาเพชรพิไชย ก็ยินยอมให้พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ใช้พระราชอำนาจแห่งพระเจ้านครเชียงใหม่ ยกเลิกตำแหน่งเสนาทั้งหก และยกเลิกภาษีอากรต่างๆโดยพลการ และสามารถเปิดบ่อนการพนันขึ้นได้อีกครั้ง หลังจากที่เลิกไปตามคำสั่งของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร[5]

กบฏพญาผาบ

การที่พระยาเพชรพิไชยเอนเอียงไปเอาใจเจ้านายฝ่ายเหนือนั้น ทำให้ราชสำนักสยามเรียกพระยาเพชรพิไชยกลับลงมาที่กรุงเทพฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ เป็นข้าหลวงพิเศษขึ้นมาจัดการรักษาพระราชอาณาเขตเมืองนครเชียงใหม่ เพื่อทรงบังคับบัญชาการทหารและพลเรือนป้องกันมิให้พวกเงี้ยวยางแดงที่ถูกอังกฤษปราบปรามหลบหนีเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาจักรสยามเป็นที่มั่น

พร้อมกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาเทพกระษัตรสมุห เป็นข้าหลวงใหญ่ห้าหัวเมืองแทนพระยาเพชรพิไชยในปลายปี พ.ศ. 2431 นั้นเอง ในระหว่างนั้น นายน้อยวงษ์ได้เป็นผู้ประมูลเก็บภาษีหมากโดยมีผลตอบแทนให้รัฐถึง 41,000 รูปีต่อปี ด้วยภาษีมากเช่นนี้ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียกเก็บภาษีจากเดินรายต้นมาเป็นการซื้อขายในพิกัดที่สูงแทน การเก็บภาษีเช่นนี้สร้างความเดือนร้อนให้แก่ราษฎรผู้ปลูกและซื้อขายหมากเป็นอันมากลุกฮือขึ้น จนบานปลายเป็น "กบฏพญาผาบ" ในช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2432 หวังจะเข่นฆ่าข้าราชการสยามและพ่อค้าจีนในเชียงใหม่ให้หมดสิ้น แต่เมื่อถึงกำหนดตีเมืองเชียงใหม่นั้นก็มิอาจกระทำการได้ จากเกิดฝนตกหนักน้ำหลาก แม่น้ำปิง แม่น้ำกวง และแม่น้ำคาวล้นฝั่ง ด้วยเหตุนี้ เจ้าอุปราช เจ้าบุรีรัตน์ และเจ้านายฝ่ายเหนือจึงสามารถออกปราบปราบและจับกุมกลุ่มชาวบ้านติดอาวุธได้จำนวนหนึ่ง แต่พญาปราบสงครามสามารถพาบุตรหลานหนีไปได้ [6]

ใกล้เคียง

การผนึกประตูของซุซุเมะ การผนวกไครเมียโดยสหพันธรัฐรัสเซีย การผนวกนครเชียงใหม่ของสยาม การผนวกภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครนเข้ากับรัสเซีย การผนวกไครเมีย การขนส่งในประเทศไทย การนำความร้อน การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง การอนุมาน การขนส่งระบบรางในประเทศไทย