การรวมประเทศเยอรมนี
การรวมประเทศเยอรมนี

การรวมประเทศเยอรมนี

การรวมประเทศเยอรมนี (เยอรมัน: Deutsche Wiedervereinigung) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1990 เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) รวมประเทศกันเป็นเยอรมนีเดียวที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และได้รวมเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกเป็นนครหนึ่งเดียวด้วยเช่นกัน กระบวนการนี้ถูกระบุไว้โดยรัฐธรรมนูญ กรุนด์เกอเซทซ์ (เยอรมัน: Grundgesetz) มาตรา 23 และเมื่อกระบวนการนี้สิ้นสุดลงก็ถูกขนานนามว่า เอกภาพเยอรมนี (เยอรมัน: Deutsche Einheit) ซึ่งจัดการเฉลิมฉลองทุกวันที่ 3 ตุลาคมของทุกปีในฐานะ วันเอกภาพเยอรมัน (เยอรมัน: Tag der deutschen Einheit)[1] จากการรวมประเทศในครั้งนี้ ส่งผลให้กรุงเบอร์ลินถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีอีกครั้งหนึ่งจุดเริ่มต้นของการรวมประเทศเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1989 เมื่อระบอบการปกครองของเยอรมนีตะวันออกเริ่มสั่นคลอนจากการที่สาธารณรัฐประชาชนฮังการีเปิดพรมแดนด้านที่ติดกับออสเตรีย ส่งผลให้เกิดช่องโหว่ในแนวม่านเหล็กและเกิดการอพยพขนานใหญ่ของชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนหลายพันคน ซึ่งหลบหนีออกจากประเทศไปยังฝั่งตะวันตกและออสเตรียโดยใช้ฮังการีเป็นทางผ่าน นอกจากนี้การปฏิวัติอย่างสงบ (Peaceful Revolution) ซึ่งเป็นระลอกการประท้วงของชาวเยอรมันตะวันออกยังส่งผลให้เกิดการจัดการเลือกตั้งเสรีขึ้นเป็นครั้งแรกในเยอรมนีตะวันออกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1990 และนำไปสู่การเจรจาระหว่างเยอรมนีทั้งสองประเทศถึงประเด็นสนธิสัญญารวมประเทศอีกด้วย[1] ต่อมามีการเจรจาเพิ่มเติมซึ่งชาติมหาอำนาจอีกสี่ชาติที่เคยยึดครองเยอรมนีในอดีตได้มีส่วนร่วมด้วย จึงก่อให้เกิดการลงนามในข้อตกลงของ สนธิสัญญาสองบวกสี่ (สนธิสัญญาว่าด้วยการตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับดินแดนเยอรมนี) ณ กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1990 โดยให้อำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์แก่ประเทศเยอรมนีที่รวมกันใหม่ อีกทั้งเป็นการปลดปล่อยเยอรมนีทั้งสองประเทศจากภาระเกี่ยวพันจากข้อจำกัดหลายประการที่เกิดขึ้นในสมัยที่ยังเป็นเขตปกครองของชาติมหาอำนาจด้วยเช่นกันทั้งนี้สถานภาพของเยอรมนีที่รวมประเทศขึ้นมาใหม่ถือว่าเป็นรัฐสภาพของสหพันธ์สาธารณรัฐเดิม (เยอรมนีตะวันตก) ที่ดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่อง เสมือนว่าเยอรมนีตะวันออกถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีตะวันตกมากกว่าการรวมเป็นประเทศใหม่อย่างเท่าเทียมกัน ส่งผลให้หลังจากการรวมประเทศในครั้งนี้เยอรมนีจึงไม่ใช่รัฐสืบทอด (successor state) ของรัฐใดรัฐหนึ่งแต่อย่างใด สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจึงสามารถดำรงสมาชิกภาพของตนในองค์การระหว่างประเทศอยู่ได้เช่นเดิม เช่น ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (สหภาพยุโรปในภายหลัง) หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในขณะที่สมาชิกภาพเดิมในองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ หรือองค์การอื่น ๆ ที่เยอรมนีตะวันออกเป็นสมาชิกอยู่กลับถูกสละทิ้งไปทั้งหมด

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: การรวมประเทศเยอรมนี http://timpani.globescope.com/relaunch/info/public... http://www.dw-world.de/dw/article/0,1564,1687204,0... http://bundesrecht.juris.de/einigvtr/BJNR208890990... http://www.spiegel.de/international/germany/0,1518... http://www.spiegel.de/international/spiegel/0,1518... http://repository.library.georgetown.edu/handle/10... http://www.cvce.eu/obj/the_unification_treaty_betw... https://www.academia.edu/25386946/_Unfriendly_even... https://repository.library.georgetown.edu/handle/1... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:German...