วิธีพิจารณา ของ การร้องทุกข์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

อำนาจศาล

อำนาจชำระคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นแบ่งเป็นสามประเภท คือ[6][7][8]

  • อำนาจตามสาระของคดี (jurisdiction ratione materiae) กล่าวคือ ศาลจะทำคดีได้ก็แต่ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความผิดอาญาต่อมนุษยชาติ ความผิดอาญาสงคราม และความผิดอาญาฐานรุกราน
  • อำนาจตามบุคคล (jurisdiction ratione personae) และอำนาจตามดินแดน (jurisdiction ratione tertiis) หรือที่เรียกว่า เขตศาล (territorial jurisdiction) กล่าวคือ ศาลจะทำคดีได้ก็แต่เฉพาะที่ว่าด้วยความผิดซึ่งเกิดขึ้น ณ ดินแดนของรัฐภาคีศาล หรือซึ่งผู้ถือสัญชาติรัฐภาคีเหล่านั้นกระทำขึ้น หรือความผิดซึ่งอยู่นอกเงื่อนไขดังกล่าว แต่เลขาธิการสหประชาชาติยื่นเรื่องราวขอให้ศาลพิจารณา หรือรัฐที่เกี่ยวข้องแถลงยอมรับอำนาจศาลแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ดี ต้องเป็นกรณีที่ศาลภายในไม่สามารถหรือไม่สมัครจะดำเนินคดีแล้วด้วย
  • อำนาจตามเวลา (jurisdiction ratione temporis) กล่าวคือ ศาลจะทำคดีได้ก็แต่เฉพาะที่ว่าด้วยความผิดซึ่งเกิดขึ้นในหรือหลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 อันเป็นวันเริ่มใช้ธรรมนูญกรุงโรมบังคับแล้วเท่านั้น

การกล่าวโทษ

ธรรมนูญกรุงโรมว่า บุคคลหรือองค์กรจะแจ้งความดำเนินคดีที่อยู่ในอำนาจศาลต่อศาลก็ได้ โดยให้แจ้งที่อัยการ คำกล่าวโทษเหล่านี้จะได้รับการพิเคราะห์สามชั้น คือ การตรวจเบื้องต้น (initial review), การรายงานมูลฐาน (basic reporting) และการพิเคราะห์โดยละเอียด (intensive analysis) ก่อนเริ่มสืบสวนตามคำกล่าวโทษนั้นต่อไป[1]

การตรวจเบื้องต้น

เมื่อได้รับคำกล่าวโทษแล้วทุกครั้ง อัยการต้อง "พิเคราะห์ความร้ายแรงแห่งข้อมูลที่ได้รับ" แล้ววินิจฉัยว่า มีมูลพอจะเริ่มสืบสวนหรือไม่[9] ที่ผ่านมา มีคำกล่าวโทษจำนวนมากถูกยกในระหว่างการพิเคราะห์ชั้นนี้ เนื่องจากปรากฏว่า "อยู่นอกอำนาจศาลโดยแจ้งชัด"

ตามข้อมูลทางสถิติตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ร้อยละแปดสิบของคำกล่าวโทษที่ได้รับนั้นถูกยก เนื่องจาก

  • ร้อยละ 5 อยู่นอกอำนาจตามเวลา เพราะเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2545
  • ร้อยละ 24 อยู่นอกอำนาจตามสาระของคดี จำพวกนี้มักว่าด้วยคนเข้าเมือง ความประมาทเลินเล่อทางแพทย์ ความมั่นคงทางสังคม บำเหน็จบำนาญ และแรงงาน
  • ร้อยละ 13 อยู่นอกอำนาจตามบุคคลหรือตามดินแดน
  • ร้อยละ 38 ปรากฏ "แจ้งชัดว่าไม่มีมูลเพียงพอ" (manifestly ill-founded) จำพวกนี้มักขาดเหตุผลในการใช้สิทธิทางศาลหลายประการ หรือไม่ระบุเหตุผลดังกล่าว เช่น กล่าวหาว่ามีการสมคบคิดกัน แต่ไม่ระบุรายละเอียด หรือเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศหรือท้องถิ่น

การรายงานมูลฐาน และการพิเคราะห์โดยละเอียด

เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเรื่องที่กล่าวโทษนั้นอยู่ในอำนาจศาล คำกล่าวโทษก็จะเข้าสู่ "การรายงานมูลฐาน" เพื่อ "พิเคราะห์ทั่วไปในทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย" และประมวลข้อหาตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ที่มีพร้อมอยู่แล้ว มีสถิติว่าระหว่างเดือนกรกฎาคม 2546 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มีคำกล่าวโทษอยู่ในชั้นรายงานมูลฐานนี้ยี่สิบสามฉบับ

เมื่อผ่านชั้นรายงานมูลฐานั้นแล้ว คำกล่าวโทษจะได้รับการพิเคราะห์โดยละเอียด เพื่อประมวลข้อมูลพิสดารจากแหล่งข้อมูลเปิด พิเคราะห์การกระทำความผิดอย่างเป็นระบบ ตรวจปัจจัยสี่ แสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม และถ้าคดีซับซ้อน ก็จะวางแผนการสืบสวนอย่างมีศักยภาพ มีสถิติว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 เป็นต้นมา มีคดีสิบรายอยู่ในชั้นพิเคราะห์โดยละเอียด รวมถึง เรื่องราวในประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศชาด ประเทศโคลอมเบีย ประเทศโกตดิวัวร์ ประเทศจอร์เจีย และประเทศเคนยา[4]

การสืบสวน

ครั้นแล้ว อัยการจะพิเคราะห์ "ปัจจัยสี่" (four factors) ดังต่อไปนี้ เพื่อเริ่มสืบสวนอย่างเป็นทางการ คือ

  • มีเหตุควรเชื่อหรือไม่ว่ามีการกระทำความผิดอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาล
  • ความผิดอาญานั้นร้ายแรงหรือไม่
  • ความผิดอาญานั้นไม่อยู่ในอำนาจองค์กรตุลาการภายในแล้วใช่หรือไม่ (ศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือไม่เต็มใจทำคดีแล้วใช่หรือไม่) และ
  • คดีเป็นประโยชน์แก่ความยุติธรรมหรือไม่

ใกล้เคียง

การร้องเพลง การร้องทุกข์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ การร้องเพลงด้วยลำคอแบบตูวา การร้องประสานเสียง การรถไฟแห่งประเทศไทย การระบาดทั่วของโควิด-19 การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย การรับรู้รส การค้าประเวณี