การลงคะแนน ของ การลงคะแนนแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า

การลงคะแนนระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าใช้ในการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศใน 43 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เคยมีความเกี่ยวพันกับสหราชอาณาจักร สหรัฐ แคนาดา และอินเดีย[1]

ในแบบที่ใช้เลือกผู้สมัครคนเดียวนั้น ผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนได้เพียงแค่ผู้สมัครเพียงรายเดียว และการตัดสินผู้ชนะนั้นใช้เกณฑ์จำนวนคะแนนเสียงที่มีมากที่สุด (คะแนนเสียงที่เหนือกว่า) จึงทำให้การลงคะแนนระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่านี้เป็นระบบที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้ลงคะแนนและกรรมการผู้นับคะแนน (อย่างไรก็ตามการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นมักจะเป็นข้อโต้แย้งอยู่เสมอในระบบนี้)

ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติที่มีผู้แทนคนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น ผู้ลงคะแนนที่อยู่ในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ จะสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้เพียงรายเดียวจากจำนวนผู้สมัครทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้น ในระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งจะถือเป็นผู้แทนของเขตเลือกตั้งนั้นโดยปริยาย

ในการเลือกตั้งเพื่อหาผู้ชนะเพียงคนเดียวในระดับประเทศ เช่น ประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดี ใช้ระบบการลงคะแนนแบบในเดียวกันซึ่งผู้ชนะเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด

ในการลงคะแนนระบบสองรอบนั้น โดยปกติจะให้ผู้สมัครเพียงสองรายที่ได้รับคะแนนสูงสุดในรอบแรกเข้าไปสู่รอบที่สอง หรือเรียกอีกอย่างว่า "รอบตัดเชือก"

ในการลงคะแนนเพื่อหาผู้แทนที่มากกว่าหนึ่งคนต่อเขตเลือกตั้ง ผู้ชนะเหล่านั้นคือผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด (จำนวนขึ้นอยู่กับการจัดที่นั่งในเขตเลือกตั้ง) โดยกฎที่ใช้มีทั้งผู้ลงคะแนนสามารถเลือกได้เพียงคนเดียว หรือหลายคนแต่ไม่เกินกี่คน หรือจำนวนใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้

บัตรลงคะแนน

ตัวอย่างของบัตรลงคะแนน

โดยทั่วไป บัตรลงคะแนนในระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าสามารถแบ่งได้เป็นสองแบบหลัก แบบง่ายที่สุดประกอบด้วยช่องว่างซึ่งเว้นไว้เพื่อเขียนชื่อผู้สมัครที่ต้องการด้วยลายมือ แบบที่เป็นระเบียบมากขึ้นจะมีรายชื่อผู้สมัครและมีช่องว่างข้างหน้าชื่อผู้สมัครสำหรับการกาเครื่องหมายเลือกผู้สมัครรายเดียว (หรือหลายรายในบางระบบ)

ตัวอย่างการลงคะแนนระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า

การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร

ในสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับแคนาดา และสหรัฐ ใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียวในการเลือกตั้งระดับประเทศ ซึ่งในแต่ละเขตเลือกตั้งจะมีผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียว ผู้สมัครรายใดที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในเขตนั้นจะได้รับเลือก (คะแนนเสียงที่เหนือกว่าชนะ) โดยไม่จำเป็นจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 50 ของคะแนนเสียงทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เมื่อค.ศ. 1992 พรรคเสรีประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหนึ่งในสกอตแลนด์โดยมีคะแนนเพียงร้อยละ 26 เท่านั้น ในระบบเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนคนเดียวที่ใช้ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าในการเลือกผู้ชนะนั้นมักจะทำให้เกิดพรรคใหญ่เพียงสองพรรค ในประเทศที่ใช้ระบบสัดส่วนในการเลือกตั้งนั้นในทางกลับกันไม่เป็นประโยชน์ที่จะลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองใหญ่ จึงทำให้เกิดระบบการเมืองแบบหลายพรรคขึ้น

ในสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร แต่ในการเลือกตั้งในระดับสภาของตนนั้นใช้แบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง ในสหราชอาณาจักรทั้งหมดใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนในการเลือกตั้งสภายุโรป

ประเทศที่ได้รับมรดกทางการเมืองมาจากบริเตนใหญ่นั้นล้วนจะมีสองพรรคใหญ่ ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เช่นในสหรัฐซึ่งมีพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ส่วนในแคนาดานั้นถือเป็นข้อยกเว้น โดยมีพรรคการเมืองใหญ่หลัก ๆ ถึงสามพรรค ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ใหม่ ซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย พรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นฝ่ายขวา และพรรคเสรีนิยม ซึ่งอยู่ตรงกลางค่อนไปทางซ้าย ส่วนพรรคในลำดับที่สี่ซึ่งไม่ถือเป็นพรรคการเมืองหลักในปัจจุบันได้แก่ พรรคบล็อกเกเบกัวซึ่งสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของรัฐควิเบก และเป็นพรรคประจำเขตซึ่งลงแข่งขันเพียงแค่ในการเมืองระดับรัฐ ส่วนในนิวซีแลนด์นั้นเคยใช้ระบบเดียวกับบริเตนใหญ่ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคเช่นกัน ซึ่งทำให้พลเมืองชาวนิวซีแลนด์ไม่พอใจเพราะปัญหาของพวกเขาไม่ได้รับการแก้ไขจึงทำให้รัฐสภานิวซีแลนด์ผ่านกฎหมายใน ค.ศ. 1993 ไปใช้ระบบการเลือกตั้งเช่นเดียวกับเยอรมนี ซึ่งใช้ระบบสัดส่วน (PR) โดยมีที่นั่งจำนวนหนึ่งมาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่อมาจึงทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นประเทศที่มีการเมืองแบบหลายพรรค[2]

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร ใน ค.ศ. 2015 มีข้อเรียกร้องจากพรรคเอกราชสหราชอาณาจักรในการปฏิรูประบบเลือกตั้งให้เป็นแบบสัดส่วนเนื่องจากพรรคฯ ได้รับคะแนนเสียงทั้งประเทศถึง 3,881,129 คะแนน แต่ได้ที่นั่งในสภาไปเพียงแค่ที่นั่งเดียว[3] ส่วนพรรคกรีนนั้นร่วมชะตากรรมเดียวกันคือที่นั่งกับคะแนนเสียงไม่สัมพันธ์กัน ในขณะที่พรรคชาติสกอตนั้นได้คะแนนเสียงเพียง 1,454,436 คะแนน แต่ได้ที่นั่งถึง 56 ที่นั่งเนื่องจากแรงสนับสนุนท่วมท้นในเขตเลือกตั้งของสกอตแลนด์

ตัวอย่าง

ใช้จำนวนประชากรเป็นร้อยละโดยนำมาจากรัฐเทนเนสซีในสหรัฐเป็นตัวอย่างประกอบ

สมมติว่ารัฐเทนเนสซีกำลังจะจัดการเลือกตั้งเพื่อเลือกเมืองหลวงของรัฐ โดยประชากรในรัฐเทนเนสซีนั้นกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักทั้งสี่เมืองซึ่งตั้งอยู่ในแต่ละฝั่งของรัฐ ในตัวอย่างนี้ให้สมมติว่าเขตเลือกตั้งทั้งเขตนั้นอยู่ในเขตเมืองทั้งสี่นี้ และประชาชนทุกคนต้องการเลือกให้อาศัยอยู่ใกล้เมืองหลวงมากที่สุด

รายชื่อเมืองผู้สมัครเข้ารับตำแหน่งเมืองหลวงได้แก่

  • เมมฟิส ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐ มีผู้ลงคะแนนมากถึงร้อยละ 42 แต่ตั้งอยู่ไกลจากเมืองอื่นๆ
  • แนชวิลล์ มีผู้ลงคะแนนร้อยละ 26 ตั้งอยู่ใจกลางรัฐ
  • น็อกซ์วิลล์ มีผู้ลงคะแนนร้อยละ 17
  • แชตตานูกา มีผู้ลงคะแนนร้อยละ 15

การแบ่งจำนวนเสียงข้อผู้ลงคะแนนสามารถจำแนกได้ดังนี้

42% ของคะแนนเสียง
(ใกล้กับเมมฟิส)
26% ของคะแนนเสียง
(ใกล้กับแนชวิลล์)
15% ของคะแนนเสียง
(ใกล้กับแชตตานูกา)
17% ของคะแนนเสียง
(ใกล้กับน็อกซ์วิลล์)
  1. เมมฟิส
  2. แนชวิลล์
  3. แชตตานูกา
  4. น็อกซ์วิลล์
  1. แนชวิลล์
  2. แชตตานูกา
  3. น็อกซ์วิลล์
  4. เมมฟิส
  1. แชตตานูกา
  2. น็อกซ์วิลล์
  3. แนชวิลล์
  4. เมมฟิส
  1. น็อกซ์วิลล์
  2. แชตตานูกา
  3. แนชวิลล์
  4. เมมฟิส

หากผู้ลงคะแนนแต่ละคนในแต่ละเมืองนั้นเลือกได้เพียงเมืองเดียว (ชาวเมมฟิสเลือกเมมฟิส ชาวแนชวิลล์เลือกแนชวิลล์ เป็นต้น) เมมฟิสจะได้รับเลือกเนื่องจากมีคะแนนเสียงมากที่สุด (ร้อยละ 42) ซึ่งในระบบนี้ไม่ได้ใช้เกณฑ์คะแนนเสียงข้างมากในการเลือกผู้ชนะ เมมฟิสเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเนื่องจากได้คะแนนเสียงมากที่สุดถึงแม้ว่าอีกร้อยละ 58 ของผู้ลงคะแนนจะไม่เลือกเมมฟิสก็ตาม ซึ่งปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นหากมีการใช้ระบบสองรอบในการลงคะแนนซึ่งแนชวิลล์ก็จะเป็นผู้ชนะแทน (ในทางปฏิบัติแล้วผู้ลงคะแนนในแชตตานูกาและนอกซ์วิลล์จะใช้กลยุทธ์ในการเลือกตั้งและเลือกเมืองแนชวิลล์แทน)

ใกล้เคียง

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย การลงจอด การลงคะแนนเสียงในสวิตเซอร์แลนด์ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2566 การลงประชามติว่าด้วยสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 การลงคะแนนแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า การลงประชามติแยกซูดานใต้เป็นเอกราช พ.ศ. 2554 การลงคะแนนแบบจัดลำดับ การลงประชามติแยกเป็นเอกราช การลงประชามติประมวลกฎหมายครอบครัวคิวบา พ.ศ. 2565