ลำดับเหตุการณ์ ของ การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์_พ.ศ._2553

บริเวณแยกพระรามสี่ผู้ชุมนุมตั้งบังเกอร์ผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์

7 พฤษภาคม

เกิดเหตุการณ์ยิงและระเบิดเกิดขึ้นบริเวณสี่แยกถนนพระรามที่ 4 แยกศาลาแดง ส่งผลให้ ส.ต.อ.กาณนุพัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ เสียชีวิตจากอาวุธปืน ผบ.หมู่ จร.สน.ทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพมหานคร เสียชีวิตจากเหตุการณ์คนร้ายยิงเอ็ม 16 เข้าใส่ที่หน้า ธ.กรุงไทยถนนสีลม เมื่อกลางดึกของวันที่ 7 พฤษภาคม 2553[19]

8 พฤษภาคม

เกิดเหตุระเบิดบริเวณหน้าสวนลุมพินี รพ.จุฬาลงกรณ์ และ จ.ส.ต.วิทยา พรหมสำลี สังกัดสถานีตำรวจภูธรหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ที่เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ชุดควบคุมฝูงชน ขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าอาคารอื้อจือเหลียง ย่านสีลม เมื่อคืนวันที่ 8 พฤษภาคม 2553[20]

13 พฤษภาคม

พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ถูกกระสุนปืนความเร็วสูงยิงเข้าที่กะโหลกศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์แก่เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส [21][22] เจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว หลังจาก พล.ต.ขัตติยะ ถูกยิง ก็มีเสียงปืนยิงต่อสู้ และเสียงระเบิดเกิดขึ้น ภายในพื้นที่ปิดล้อมของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย นอกจากนี้ ยังมีการตัดไฟฟ้า บริเวณสวนลุมพินี และแยกศาลาแดง[23]

บริเวณแยกสวนลุมพินี ผู้ชุมนุมได้นำกรวยออกเพื่อเส้นทางสัญจร พร้อมทั้งขวางและผลักดันเจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้ออกมาจากสวนลุมพินี หลังจากนั้นไม่นาน มีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัด ขณะที่เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม มีผู้บาดเจ็บ 20 ราย[24] หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณแยกศาลาแดง ประตู 2 สวนลุมพินี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการรื้อแผงจราจร ขว้างปาก้อนอิฐและสิ่งของ จำนวนหลายสิบราย ในจำนวนนี้ชาติชาย ชาเหลา ผู้ชุมนุม เสียชีวิต[25]

14 พฤษภาคม

เจ้าหน้าที่ตำรวจเคลื่อนเข้าไปปิดล้อมและพยายามตัดขาดกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศว่าอภิสิทธิ์ได้เริ่มสงครามกลางเมือง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดความแตกแยกในกองกำลังความมั่นคง สถานทูตอเมริกันและอังกฤษปิดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย[26] ราว 13.30 น. มีการปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสนามมวยเวทีลุมพินี ทั้งสองฝ่ายมีการยิงปืน ประทัดยักษ์และพลุตะไลตอบโต้กัน[27] มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย จากการปะทะกันบริเวณหน้าสวนลุมไนท์บาซาร์[28] เมื่อเวลา 15.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ย้ายไปปักหลักบริเวณแยกประตูน้ำ ถนนราชปรารภทั้งสองฝั่ง และบริเวณสถานีรถไฟฟ้าราชปรารภ[29]

ซากรถบรรทุกที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเผาทำลายกีดขวางถนนพระราม 4

เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการบริเวณแยกบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 ได้รุกคืบเข้าควบคุมพื้นที่อีกครั้งด้วยการกลับมาวางแนวลวดหนาม หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามานำออกไปก่อนหน้านี้ ฝ่ายทหารใช้ทั้งกระสุนและแก๊สน้ำตาเข้าช่วยยึดคืนพื้นที่[30] ต่อมา เวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 ราย จากการปะทะกับกองกำลังทหารบริเวณแยกบ่อนไก่ กระสุนเข้าที่ท้ายทอย[31] สถานทูตแคนาดาถูกปิดไปเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น.[32]

ในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นหน้าเวทีคนเสื้อแดง โดยเกิดเสียงคล้ายปืนดังขึ้น และมีระเบิดควันขว้างลงมาหลังเวที ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 15 คน[33] เวลา 18.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนรถหุ้มเกราะเข้าไปยังแยกศาลาแดง พร้อมกันนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าต่อต้านด้วยการขว้างขวด ระเบิดขวด และระเบิดควันเข้าใส่ เจ้าหน้าที่ทหารเตือนว่าจะนับหนึ่งถึงสามแล้วจะยิงทันที เสร็จแล้วเสียงปืนจากกองกำลังทหารที่ซุ่มอยู่บนรางรถไฟฟ้าก็ดังขึ้นทันที[34]

เวลา 21.00 น. บริเวณถนนสาทร ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแนวป้องกันปิดถนน ไม่ให้ประชาชนผ่านเข้าไปยังถนนพระรามที่ 4 ตามประกาศของ ศอฉ. โดยเจ้าหน้าที่ทหารยิงกระสุนใส่ประชาชนที่ขับรถไปตามเส้นทางถนนสาทร ช่วงบริเวณแยกไฟแดงซอยสาทร 6 หน้าโรงแรมเอฟเวอร์กรีน จนได้รับบาดเจ็บไป 1 ราย โดยถูกยิงเข้าบริเวณตาตุ่มข้อเท้าด้านขวาเจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณ ช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลตากสิน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารยังใช้ปืนยิงขู่ประชาชน ที่ขับรถเข้ามาตามถนนสาทร มุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4 อีกด้วย[35]

เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ เปิดเผยว่าตัวเลขเมื่อเวลา 22.00 น. มีผู้เสียชีวิต 7 ศพ และได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 101 คน ส่วนมากถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะ ปาก และช่วงท้อง[36] ต่อมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บ 125 คน และเสียชีวิต 10 ศพ[37] ส่วนตามข้อมูลของเดอะเทเลกราฟนั้น ได้รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 16 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 157 คน[38]

15 พฤษภาคม

แนวป้องกันยางรถยนต์ของผู้ชุมนุม ที่เกิดขึ้นตามจุดปะทะต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร

เมื่อเวลา 00.30 น. เกิดเหตุรถตู้โตโยต้าคอมมิวเตอร์ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ขับมาบนถนนราชปรารภ มุ่งหน้าไปทางดินแดงด้วยความเร็วสูง เมื่อวิ่งมาถึงบริเวณสถานีแอร์พอร์ตเรลลิงก์มักกะสัน ทหารประจำด่านตรวจส่งสัญญาณให้หยุดรถ แต่รถตู้คันดังกล่าวไม่ยอมหยุด เจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงยางรถ แต่รถยังคงไม่หยุดวิ่ง ทหารจึงตัดสินใจระดมยิงด้วยกระสุนจนรถพรุนไปทั้งคัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสามราย รวมทั้งคนขับและเด็กชายวัย 10 ปี เจ้าหน้าที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1[39] ต่อมา เวลาประมาณ 9.00 น. ได้เกิดเหตุจ่าทหารอากาศนายหนึ่งเสียชีวิตจากการถูกฝ่ายเดียวกันยิง (friendly fire) [40]

เจ้าหน้าที่ทหารประกาศจัดตั้ง "เขตยิงกระสุนจริง" ในหลายพื้นที่ใกล้กับกลุ่มผู้ชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าไปในเขตเหล่านี้จะถูกยิงทันทีที่พบ มีรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมขาดแคลนน้ำและอาหารจากการปิดกั้นของเจ้าหน้าที่ทหาร และอาจชุมนุมต่อไปได้อีกเพียงไม่กี่วัน หลังกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าปล้นร้านค้าใกล้เคียง[41]

เวลา 24.00 น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานรายชื่อผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ทหารกระชับพื้นที่การชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งแต่วันที่ 14-15 พฤษภาคม ว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 24 ศพ และบาดเจ็บ 187 คน[42]

16 พฤษภาคม

บริเวณจุดปะทะถนนพระรามสี่ ในกรุงเทพมหานคร

ผู้สื่อข่าวในบริเวณใกล้เคียงกับที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหารนั้นจำต้องยุติการออกอากาศสดด้วยเกรงว่าจะถูกพลแม่นปืนฝ่ายทหารในพื้นที่ยิง[ต้องการอ้างอิง] รัฐบาลกระตุ้นให้ผู้ชุมนุมเด็กและผู้สูงอายุออกจากพื้นที่ชุมนุมเมื่อช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น ทำให้เกิดความกลัวว่าจะมีการสลายการชุมนุมตามมา แกนนำ นปช. เริ่มบอกกลุ่มผู้ชุมนุมว่าสื่อต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็น บีบีซี รอยเตอร์ และอื่น ๆ ไม่สามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากสำนักข่าวเหล่านี้มีอคติ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงจากผู้สนับสนุนชาวต่างประเทศ[43] วันเดียวกัน พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม เสียชีวิต[44]

วันเดียวกันนาย จตุพร พรหมพันธุ์ ขอพึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[45]นายจตุพร กล่าวว่า เหตุการณ์วันที่ 20 พฤษภาคม 2535 หากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เรียกคู่ขัดแย้งมาหยุดยั้งความตายในวันนั้น ไม่รู้จะมีกี่พันศพ วันนี้ก็เช่นกัน พวกตนเป็นพสกนิกร ก็ขอพึ่งพระบารมีพระองค์ เพราะเราไม่มีที่พึ่งจริง ๆ

เวลา 23.00 น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จากเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุม ระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม สรุปล่าสุดเวลา 22.00 น. ว่ามีผู้เสียชีวิต 31 ศพ บาดเจ็บ 230 คน รวม 261 คน รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล 83 ราย ในจำนวนนี้ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู 12 ราย[46]

17 พฤษภาคม

เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. มีผู้ขับรถกระบะโตโยต้า วีโก้ คือ จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต มาจากซอยคอนแวนต์เข้าไปยังถนนสีลม ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด และเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้นระหว่างผู้ที่อยู่ในรถกับทหารซึ่งคุมพื้นที่อยู่ริมถนน จนรถกระบะเสียหลักพุ่งชนรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จอดอยู่บริเวณข้างทาง ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ จากนั้น ได้นำผู้บาดเจ็บสองรายส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต ทิพยานนทการ ถูกยิงที่ศีรษะและเสียชีวิตในเวลาต่อมา และเรืออากาศตรีอภิชาติ ช้งย้ง อายุ 26 ปี ได้รับบาดเจ็บ คาดว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิด[47] โดยมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืนระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและทหาร โดยมีคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่หน้าโรงแรมดุสิตธานีจำนวนหลายลูก ทำให้กระจกหน้าโรงแรมแตก และมีกลุ่มควันสีดำพุ่งออกมาจากบริเวณชั้น 5 และ ชั้น 17 ของโรงแรม และยิงระเบิดเอ็ม 79 ตกลงบริเวณตึกอื้อจื่อเหลียงอีกจำนวน 3 ลูก แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งยิงเอ็ม 79 จำนวน 2 ลูก เข้าไปที่บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินีด้วย [48]

เมื่อเวลา 08.30 น. ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร หรือ ศูนย์เอราวัณ เปิดเผยจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะกัน ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม ว่า ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว จำนวน 252 ราย เสียชีวิต 35 ศพ รวมถึงพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ก็เสียชีวิตลงที่วชิรพยาบาล ส่วนผู้บาดเจ็บเป็นชาวต่างชาติ มีจำนวน 6 ราย ประกอบด้วย ชาวแคนาดา ชาวโปแลนด์ ชาวพม่า ชาวไลบีเรีย ชาวอิตาลี และนิวซีแลนด์ ประเทศละ 1 ราย[49]

เฮลิคอปเตอร์ทหารได้โปรยใบปลิวเหนือค่ายที่ชุมนุมหลักของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยกระตุ้นให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ กลุ่มคนเสื้อแดงตอบโต้โดยการยิงพลุตะไลใส่เฮลิคอปเตอร์[ต้องการอ้างอิง] ค่ายผู้ชุมนุมถูกล้อมอย่างสมบูรณ์[ต้องการอ้างอิง] และรัฐบาลประกาศเส้นตายให้สลายการชุมนุมก่อนเวลา 15.00 น.[ต้องการอ้างอิง] การปะทะกันยังคงดำเนินต่อไป โดยทหารยิงใส่การเคลื่อนไหวใด ๆ บริเวณแนวป้องกันของกลุ่มผู้ชุมนุมของกระสุนจริง[ต้องการอ้างอิง] เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ยุทธวิธีถึงตายเช่นเดียวกัน[ต้องการอ้างอิง] กลุ่มคนเสื้อแดงยิงประทัดใส่ทหาร และมีการประยุกต์ใช้ด้ามไม้กวาดเพื่อยิงประทัดไฟอย่างรวดเร็ว[ต้องการอ้างอิง]

18 พฤษภาคม

การปะทะกันอย่างประปรายดำเนินต่อไปในวันที่ 18 พฤษภาคม แต่การปะทะกันเหล่านี้มีความรุนแรงน้อยกว่าการเผชิญหน้าครั้งก่อน ๆ มาก[50] จำนวนผู้มีเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 39 ศพ ขณะที่การปะทะกันยังดำเนินต่อ เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะสลายการชุมนุม เนื่องจากกำลังพลและรถหุ้มเกราะมารวมตัวอยู่โดยรอบบริเวณที่ชุมนุม และกระตุ้นให้ประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งประกาศว่ากำลังจะดำเนินปฏิบัติการทางทหารในอีกไม่ช้า[51] หลังจากนั้นไม่นาน ทหารพร้อมด้วยรถหุ้มเกราะบุกเข้าไปผ่านสิ่งกีดขวางหลักของกลุ่มผู้ชุมนุม คนเสื้อแดงถูกยิงสองรายในช่วงแรกของปฏิบัติการ ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงอื่น ๆ จุดน้ำมันก๊าดใส่สิ่งกีดขวางเพื่อขัดขวางการรุกคืบของเจ้าหน้าที่และปิดบังทัศนียภาพ[52]

ทั้งนี้ ประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง หารือกับสมาชิกวุฒิสภากลุ่มที่ไม่นิยมความรุนแรง และมีข้อยุติที่จะส่งกลุ่มผู้แทนไปพบแกนนำ นปช. เพื่อรับทราบเงื่อนไข และนำมาเสนอต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงได้มีการเจรจาระหว่างกลุ่มผู้แทนสมาชิกวุฒิสภากับแกนนำ นปช. ระหว่างเวลา 18:30-20:15 น. บริเวณหลังเวทีชุมนุมแยกราชประสงค์ โดยแกนนำ นปช.เห็นด้วยกับการเจรจาแบบไม่มีเงื่อนไขกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ และนอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภายังได้รับคำสัญญาจากอภิสิทธิ์ว่า หากแกนนำ นปช.เข้าร่วมการพูดคุยอย่างไม่มีเงื่อนไข รัฐบาลอภิสิทธิ์จะยับยั้งการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามในอนาคต[53]

ศูนย์บริหารการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) แจ้งยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทหารกดดันกลุ่ม นปช. วันที่ 14-18 พฤษภาคม สิ้นสุดเวลา 18.00 น. เพิ่มเป็น 43 ราย บาดเจ็บรวม 365 ราย นักข่าวต่างชาติรายล่าสุดที่เสียชีวิต ชื่อโปเลนกี ฟาดิโอ ชาวอิตาลี[ต้องการอ้างอิง]

ใกล้เคียง

การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553 การสละราชสมบัติ การสลายตัวกัมมันตรังสี การสลายของเม็ดเลือดแดง การสลับขั้วแม่เหล็กโลก การสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน พ.ศ. 2563 การสลายให้อนุภาคบีตา การสละตำแหน่งพระสันตะปาปา การสลายให้อนุภาคแอลฟา การสละราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

แหล่งที่มา

WikiPedia: การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์_พ.ศ._2553 http://www.brisbanetimes.com.au/world/16-dead-more... http://www.smh.com.au/world/Red-Shirts-on-rampage-... http://www.abc.net.au/news/stories/2010/05/19/2903... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/119852 http://www.bangkokpost.com/breakingnews/178232/arm... http://www.ch7.com/news/news_thailand_detail.aspx?... http://www.channelnewsasia.com/stories/afp_asiapac... http://edition.cnn.com/2010/WORLD/asiapcf/05/17/th... http://www.csmonitor.com/World/terrorism-security/...