คุณสมบัติของระบบสัดส่วน ของ การเลือกตั้งระบบสัดส่วน

ขนาดของเขตเลือกตั้ง

เหล่านักวิชาการมีความเห็นตรงกันว่าอิทธิพลที่สำคัญที่สุดในระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนคือขนาดของเขตเลือกตั้ง (district magnitude) ซึ่งคือจำนวนของผู้แทนในเขตเลือกตั้งนั้น ความเป็นสัดส่วนจะดีมากขึ้นหากขนาดเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นโดยปริยาย[3] โดยผลงานวิจัยโดยนักวิชาการการเมืองส่วนใหญ่มีข้อแนะนำให้แบ่งเขตเลือกตั้งให้มีผู้แทนจำนวนสี่ถึงแปดคนจะดีที่สุด ซึ่งจำนวนประมาณนี้จะถือว่าน้อยในระบบสัดส่วนโดยทั่วไป[34]

ในอีกมุมหนึ่ง คือ ระบบการลงคะแนนแบบทวินาม (binomial voting) ซึ่งใช้ในชิลี ช่วงปีค.ศ. 1989 จนถึงค.ศ. 2013[35] เป็นระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อเปิดแบบหนึ่งซึ่งมีผู้แทนเขตละสองคน โดยในระบบนี้ผลการเลือกตั้งมักจะได้ผู้แทนพรรคละหนึ่งคนจากพรรคใหญ่ต่อหนึ่งเขต (ในเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่) จึงไม่ถือว่าเป็นสัดส่วนโดยปริยาย[3]:79

ในอีกกรณีหนึ่ง หากเขตเลือกตั้งทั้งเขตกินอาณาบริเวณเดียวทั้งประเทศ (และมีเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำน้อย ซึ่งจะทำให้ความเป็นสัดส่วนสูงที่สุด) พรรคการเมืองต่างๆ สามารถได้เปรียบจากการเสริมภาพลักษณ์ของตนได้ง่ายผ่านการส่งผู้สมัครจากชนกลุ่มน้อย หรือผู้แทนสตรี[3]:83

ภายหลังจากการเริ่มใช้ระบบการลงคะแนนแบบถ่ายโอนคะแนนเสียงในไอร์แลนด์เมื่อค.ศ. 1921 ขนาดของเขตเลือกตั้งได้เริ่มลดลงอย่างช้าๆ จนกลายเป็นเขตละสามคนเกือบทั้งหมด ซึ่งพรรคหลักที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือ พรรค Fianna Fáil จนกระทั่งค.ศ. 1979 เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการอิสระด้านเขตแดน ซึ่งได้ปรับแก้ขนาดของเขตเลือกตั้งใหม่[36] ต่อมาในปีค.ศ. 2010 คณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญในรัฐสภาได้แนะนำให้มีขนาดอย่างน้อยเขตละ 4 คน[37] นอกจากนั้นถึงแม้ว่าไอร์แลนด์จะมีขนาดเขตเลือกตั้งที่ค่อนข้างเล็กแต่ส่วนใหญ่จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นสัดส่วนสูงอยู่อย่างสม่ำเสมอ[3]:73

องค์การ FairVote ซึ่งได้เคยพิจารณาแผนการใช้ระบบการลงคะแนนแบบถ่ายโอนคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้เสนอให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีขนาดตั้งแต่ 3-5 คนต่อเขต[38]

ในแผนการของศาสตราจารย์มอลลิสันซึ่งได้เคยพิจารณาแผนการใช้ระบบการลงคะแนนแบบถ่ายโอนคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรนั้น เขตเลือกตั้งส่วนใหญ่มีขนาด 4-5 คนต่อเขต โดยมีบางเขตที่มี 3 คน และบางเขตมากถึง 6 คน และยังมีบางเขตเพียงสองคน และคนเดียวซึ่งเป็นตามข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ในบางสถานที่[23]

เกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำ

เกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำคือจำนวนคะแนนเสียงที่น้อยที่สุดที่ต้องการเพื่อที่จะได้ 1 ที่นั่ง ยิ่งเกณฑ์ขั้นต่ำน้อย ยิ่งทำให้มีความเป็นสัดส่วนของสภาผู้แทนสูงมากขึ้น และจำนวนของคะแนนสูญน้อยลงเท่านั้น[3]

โดยส่วนใหญ่ระบบการลงคะแนนทั้งหลายมักจะมีการกำหนดเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำไว้ ไม่ว่าจะเป็นตามบทบัญญัติกฎหมาย หรือเป็นจากการคำนวนตัวแปรต่างๆ ของการเลือกตั้ง[3]:83

เกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำนั้นปกติจะให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจำนวนหนึ่งเป็นร้อยละ โดยเมื่อถึงเกณฑ์แล้วจะได้รับที่นั่งจากบัญชีรายชื่อ ในเยอรมนี และนิวซีแลนด์ (ทั้งสองประเทศใช้ระบบสัดส่วนผสม) มีเกณฑ์ขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งประเทศ แต่เกณฑ์นั้นจะไม่บังคับใช้ในพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวนหนึ่งแล้ว (สามที่นั่งในเยอรมนี และที่นั่งเดียวในนิวซีแลนด์) ตุรกีนั้นกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่ร้อยละ 10 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 0.67[3] อิสราเอลได้เพิ่มเกณฑ์ขั้นต่ำจากร้อยละ 1 (ก่อนค.ศ. 1992) เป็นร้อยละ 1.5 (จนถึงปีค.ศ. 2004) และต่อมาร้อยละ 2 (ในปีค.ศ. 2006) และร้อยละ 3.25 ในปีค.ศ. 2014[39]

ในระบบการลงคะแนนแบบถ่ายโอนคะแนนเสียง (STV) นั้น หากพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงถึงเกณฑ์โควตา (คือ คะแนนเสียง÷จำนวนที่นั่ง+1) ของคะแนนเสียงในลำดับแรกก็จะได้รับเลือก อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครรายสำคัญยอดนิยมของแต่ละเขตเลือกตั้งซึ่งอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีในลำดับที่สองหรือสามเป็นต้น อาจจะได้รับเลือกไปด้วยคะแนนเพียงครึ่งเดียวจากโควตาของลำดับแรก ดังนั้น ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนหกคน จะมีเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำเริ่มที่ร้อยละ 7.14 สำหรับลำดับแรก (คำนวนโดย 100÷(6+1)÷2)[23] ซึ่งการเลือกผู้สมัครในลำดับที่สองนั้นถือเป็นการสนับสนุนระบบฉันทามติได้ดี

ขนาดของพรรคในเขตเลือกตั้ง

ขนาดของพรรคในเขตเลือกตั้ง (party magnitude) คือจำนวนผู้แทนที่สังกัดพรรคการเมืองเดียวกันในเขตเลือกตั้งหนึ่ง โดยเมื่อใดที่ขนาดของพรรคในเขตนั้นๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้ผู้แทนมีความสมดุลมากขึ้นซึ่งเหมาะที่จะส่งผู้สมัครที่เป็นสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์เข้าลงแข่งขัน[40]

แต่ในระบบถ่ายโอนคะแนนเสียงนั้นหากส่งผู้สมัครจำนวนมากเกินไปจะทำให้เกิดผลเสียแทน โดยจะเกิดปัญหาเสียงแตกในคะแนนลำดับแรกและจะเป็นเหตุให้ผู้สมัครตกรอบไปก่อนที่จะได้รับโอนคะแนนจากผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่นๆ ตัวอย่างเกิดขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่นสกอตแลนด์ ค.ศ. 2007 ที่พรรคแรงงานได้ส่งผู้สมัครถึงสามคนโดยชนะเพียงแค่คนเดียวในขณะที่ควรจะชนะได้ถึงสองคนเพราะปัญหาการแย่งคะแนนเสียงกันเอง[23] กรณีเดียวกันเกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปในไอร์แลนด์ ค.ศ. 2011 ซึ่งเป็นผลให้พรรค Fianna Fáil ล่มสลายลงในเวลาต่อมา[41]

ความไม่สมดุลในระบบประธานาธิบดี

ในระบบประธานาธิบดี การเลือกประธานาธิบดีนั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐสภา ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐบาลที่แบ่งขั้วโดยที่รัฐสภาและประธานาธิบดีมีความเห็นตรงกันข้ามและมีความพยายามที่จะคานอำนาจซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดีในระบบสัดส่วนนั้นมีผลดีต่อรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคเล็กรวมกันซึ่งจำเป็นจะต้องมีการรอมชอมและการเจรจาต่อรอง จึงทำให้การร่วมพรรคการเมืองนั้นจะมีความยากลำบากในการรวมตัวเป็นปึกแผ่นเพื่อคานอำนาจกับประธานาธิบดีซึ่งจะเป็นเหตุให้อำนาจทั้งสองฝ่ายนั้นไม่สมดุล โดยประธานาธิบดีจะใช้อำนาจได้มากกว่าในเรื่องการเมืองบางประเด็นได้

ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นในกรณีของระบบรัฐสภาที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านกลไกรัฐสภา ดังนั้นทำให้กรณีของรัฐบาลแบ่งขั้วนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ถึงแม้ว่ามุมมองทางการเมืองสามารถสลับสับเปลี่ยนได้อยู่ตลอด และอาจทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ได้รับการไว้วางใจจากรัฐสภาโดยจะถูกเปลี่ยนตัวได้โดยการลงมติไม่ไว้วางใจโดยในกรณีนี้จึงทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดรัฐบาลแบ่งขั้วได้ในระบบรัฐสภา

อื่นๆ

ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อความเป็นสัดส่วนของระบบสัดส่วน ได้แก่ ขนาดของสภา การเลือกใช้ระหว่างบัญชีรายชื่อแบบเปิดหรือปิด การออกแบบบัตรลงคะแนน และวิธีการนับคะแนน

ใกล้เคียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2567 การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 การเลือกตั้งระบบสัดส่วน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเลือกตั้งระบบสัดส่วน http://www.cbc.ca/news/canada/british-columbia/pr-... http://www.cbc.ca/news/canada/prince-edward-island... http://publications.gc.ca/collections/Collection/J... http://esm.ubc.ca/CA93/results.html http://www.ekathimerini.com/248820/article/ekathim... http://www.community.netidea.com/ccbc/Gallagher.pd... http://www.wahlrecht.de/ausland/europa.htm http://www.zeit.de/politik/deutschland/2013-02/bun... http://www.thedanishparliament.dk/Publications/The... http://www.hks.harvard.edu/fs/pnorris/Acrobat/Choo...