ผลสืบเนื่อง ของ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_พ.ศ._2562

การจัดตั้งรัฐบาล

แถลงการณ์ลงนามหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรลงนามเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562

วันที่ 25 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่าตนได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตมากที่สุด จึงขอตั้งรัฐบาล[107] ด้านพรรคพลังประชารัฐซึ่งแถลงว่าพรรคได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากที่สุดระบุว่าพร้อมจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน[108] พรรคอนาคตใหม่แถลงไม่เสนอชื่อธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะให้พรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันดับหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอเงื่อนไขร่วมรัฐบาล คือ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้พลเรือนควบคุมกองทัพ[109] สำหรับพรรคภูมิใจไทยกำหนดเงื่อนไขร่วมรัฐบาลว่าต้องมีนโยบายกัญชาเสรี[110] มีข่าวลือว่าพรรคภูมิใจไทยเจรจากับพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยขอตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐยังเตรียมเจรจาตำแหน่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย[111]

วันที่ 27 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยนำพรรคพันธมิตรทางการเมืองรวม 6 พรรค ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติและพรรคพลังปวงชนไทยประกาศตั้งรัฐบาล โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมืองดังกล่าวยกเว้นพรรคเศรษฐกิจใหม่เข้าร่วมลงนามสัตยาบันคัดค้านการสืบทอดอำนาจ คสช. ด้านมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ชี้แจงว่าแม้ตนไม่ได้เข้าร่วม แต่ส่งสารมาสนับสนุน[112]

ในช่วงเดือนเมษายน 2562 มีข่าวที่มีบุคคลเสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองไม่มีทางออก ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องไว้[113]

วันที่ 25 เมษายน 2562 หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ลงข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ได้ถึง 270 ที่นั่ง ประกอบด้วยพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา รวมพลังประชาชาติไทย เศรษฐกิจใหม่ พลังท้องถิ่นไท และ ส.ส. พรรคอื่นที่จะขัดมติพรรคอีก 40 คน[114]

ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 หลัง กกต. ประกาศรายชื่อ ส.ส. มีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนาไม่พอใจกับโควตารัฐมนตรีที่ได้รับ และว่าพรรคพลังประชารัฐยึดกระทรวงเศรษฐกิจไว้เองทั้งหมด นอกจากนี้ยังอึดอัดใจที่จะสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี และการมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และบุคคลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติร่วมรัฐบาล[115] ด้านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งมี ส.ส. รวม 378 ที่นั่ง แต่ไม่ตอบว่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจากพรรคประชาธิปัตย์ หรืออนุทิน ชาญวีรกุลจากพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่[116]

วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 พรรคภูมิใจไทยประกาศจะตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมีกระแสข่าวว่าพรรคจะได้รับจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา[117] อย่างไรก็ดี หลังมีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐด้วย พรรคภูมิใจไทยก็ว่าตนก็อาจไม่เข้าร่วมเช่นกัน[118] ต้นเดือนมิถุนายน 2562 มีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เจรจาได้ที่นั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์[119] และมีมติร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ[120] หลังรัฐสภามีมติเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย มีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐจะยึดกระทรวงที่เคยตกลงไว้กับพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์[121]

วันที่ 5 มิถุนายน 2562 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย โดยได้รับคะแนนเสียงจาก ส.ส. ทั้งหมด 19 พรรค นับเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม จนถึงเดือนกรกฎาคมยังไม่สามารถตั้งรัฐบาล โดยมีข่าวนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลชิงตำแหน่งรัฐมนตรีกันอยู่เนือง ๆ[122] จนวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งบีบีซีไทยระบุว่ามาจากพรรคพลังประชารัฐ 18 คน (โควตาประยุทธ์ 7 คน โควตาพรรค 3 คน โควตา กปปส. 2 คน โควตากลุ่มสามมิตร 2 คน โควตามุ้ง 4 คน) พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน ภูมิใจไทย 7 คน ชาติไทยพัฒนา 2 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน และชาติพัฒนา 1 คน[123]

การเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค

คืนวันเลือกตั้ง หลังนับคะแนนไปได้ประมาณร้อยละ 90 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลังพรรคมีโอกาสสูงที่จะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่า 100 ที่นั่งตามการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อาจมีโอกาสไปตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ[124] วันที่ 15 พฤษภาคม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่[125]

คดีความและการพิจารณาเพิกถอนสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 ทางการไทยแจ้งข้อหาต่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ รศ. ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่[126] วันที่ 18 เมษายน 2562 ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ยื่น กกต. ขอให้ยุบพรรคตนเองเพราะชื่อว่ามีคนนอกครอบงำพรรค รวมทั้งขอให้ กกต. ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง[127] วันที่ 26 เมษายน 2562 ผู้ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพรรคพลังประชารัฐคนหนึ่งถูกยื่นสอบคุณสมบัติผู้สมัครเพราะถือหุ้นสื่อ[128]

ใกล้เคียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2567 การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 การเลือกตั้งระบบสัดส่วน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_พ.ศ._2562 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/830478 http://www.bbc.com/news/business-30218621 http://www.bbc.com/thai/thailand-43221557 http://www.ft.com/intl/cms/s/0/a01892a6-fe33-11e4-... http://www.khaosodenglish.com/news/2018/03/02/doze... http://www.khaosodenglish.com/politics/2018/11/30/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/02/18/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/02/27/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/03/26/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/03/28/...