เบื้องหลัง ของ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_พ.ศ._2562

รัฐประหารปี 2557 และรัฐบาลประยุทธ์ 1

ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในห้วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ในเดือนมีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะการเลือกตั้งไม่เกิดในวันเดียวกันทั่วประเทศ[2] หลังข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 20 กรกฎาคม[2]

ต่อมา เกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปหลังดำเนินการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การเลือกตั้งครั้งนี้จะจัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีทหารหนุนหลัง และจะนำไปสู่การสิ้นสุดลงของช่วงเวลาเผด็จการทหารที่ยาวนานที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย[3]

ไม่นานหลังรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์กล่าวว่าการเลือกตั้งน่าจะจัด "ภายในสิ้นปี 2558" ทว่า เมื่อสิ้นปี 2557 เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนกล่าวต่อสาธารณะว่า จะไม่จัดการเลือกตั้งจนถึงประมาณกลางปี 2559[4] ในเดือนพฤษภาคม 2558 รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม กล่าวว่า บัดนี้จะจัดการเลือกตั้ง "ประมาณเดือนสิงหาคมหรือในเดือนกันยายน" 2559 หลังรัฐบาลประกาศเจตนาว่าจะจัดการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะจัดในช่วงต้นปี 2559[5] ในเดือนมิถุนายน 2558 พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า เขาเต็มใจรั้งตำแหน่งอีกสองปีหาก "ประชาชนต้องการ" หลังสภาปฏิรูปแห่งชาติผลักดันเพื่อจัดการลงคะแนนว่าการปฏิรูปของรัฐบาลควรเสร็จสิ้นก่อนจัดการเลือกตั้งหรือไม่ หมายความว่า การเลือกตั้งทั่วไปอาจไม่จัดจนกว่าต้นปี 2561 แต่ไม่กี่วันต่อมา เขาวางตัวห่างจากการริเริ่มของสภาปฏิรูปแห่งชาติหลังเผชิญปฏิกิริยาสะท้อนสำหรับความเห็นของเขา[6] ทว่า การนี้เปิดประตูไว้ให้ "การสำเร็จการปฏิรูป" ภายใต้รัฐบาลใหม่ซึ่งจะเลื่อนการเลือกตั้งไปอีก หากการริเริ่มของสภาปฏิรูปแห่งชาติสำเร็จ

ในเดือนตุลาคม 2560 พลเอกประยุทธ์ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 ทว่า การเลือกวันเลือกตั้งทำให้เกิดข่าวลือว่าเขาพยายามรั้งอำนาจหลังการเลือกตั้งครั้งถัดไปผ่านพรรคการเมืองที่กองทัพหนุนหลัง ในเดือนมกราคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเลื่อนการใช้บังคับกฎหมายการเลือกตั้งใหม่อีก 90 วัน ซึ่งยิ่งเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีก ในเวลานั้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การตัดสินใจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจเลื่อนการเลือกตั้งไปจนเดือนกุมภาพันธ์ 2562[7]

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ตัวแทนกลุ่มการเมืองเข้าร่วมประชุมกับ กกต. เพื่อรับทราบข้อมูลในการยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[8]

ภายหลังจากการประชุมหารือ 4 ฝ่ายประกอบไปด้วย ครม. กรธ. กกต. และพรรคการเมืองที่สโมสรทหารบกเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าได้กำหนดวันเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรก โดยมีตัวเลือกได้แก่ 24 กุมภาพันธ์, 31 มีนาคม, 28 เมษายน หรือ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 วิษณุแจ้งกับพรรคการเมืองที่เข้าร่วมประชุมว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดวันเลือกตั้ง[9]

ระบบเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปลี่ยนแปลงวิธีการออกเสียงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเดิมจะมีบัตรเลือกตั้งสองบัตร บัตรหนึ่งเลือกสมาชิกฯ แบบแบ่งเขต และอีกบัตรหนึ่งเลือกสมาชิกฯ แบบบัญชีรายชื่อ แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะลดบัตรเลือกตั้งเหลือบัตรเดียว โดยเลือกทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ[10]

โดยรัฐธรรมนูญกำหนดระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment System: MMA) โดยกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 350 คน ซึ่งมาจากผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในเขตนั้น ๆ และมากกว่าคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนน ส่วนถ้าคะแนนเท่ากันให้จับสลากต่อหน้า กกต. ฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมาจากคะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่ได้รับทั้งประเทศหารด้วย 150 ได้เป็นจำนวน สส. ที่พึงมีของพรรคการเมืองนั้น ๆ แล้วนำจำนวนดังกล่าวมาเพิ่มให้ สส. เขตที่พรรคการเมืองดังกล่าวได้อยู่ก่อนแล้ว[11] ซึ่งการคำนวณ สส. แบบดังกล่าวทำให้มีความเป็นไปได้น้อยที่พรรคการเมืองพรรคเดียวจะครองเสียงข้างมากในสภาเกินกึ่งหนึ่ง พรรคเพื่อไทยใช้วิธีการตั้งพรรคพี่-พรรคน้อง ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กพยายามดึงตัว สส. และ "ผู้สมัครสอบตก" เข้าร่วมพรรค ด้านบีบีซีไทยคำนวณว่าหากใช้ระบบดังกล่าวไปคิดในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 พรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่งน้อยลง 61 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์จะได้ที่นั่งน้อยลง 14 ที่นั่ง ส่วนพรรคภูมิใจไทยจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 16 ที่นั่ง และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 11 ที่นั่ง[12]

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน ซึ่งมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงต้องการคะแนนเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันตั้งแต่ 376 คนขึ้นไป ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาชุดดังกล่าวมีวาระ 5 ปี นักวิจารณ์กล่าวว่าวุฒิสภาชุดนี้ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปแม้พรรคที่นิยมประยุทธ์จะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่า ทั้งนี้ หากสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คนสนับสนุนประยุทธ์ ทำให้พรรคการเมืองที่นิยมประยุทธ์ต้องการอีกเพียง 126 ที่นั่งก็สามารถเลือกเขาเป็นนายกรัฐมนตรีได้[13] อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์ทำนายว่าพรรคพลังประชารัฐและพรรคการเมืองอื่นที่นิยมทหารอาจได้ที่นั่งรวมกันไม่ถึง 126 ที่นั่ง และจะต้องการการสนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์

การเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ 350 เขต ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนที่กำหนดไว้ 400 เขต[14] ในปี 2561 กกต. มีหน้าที่วาดเขตเลือกตั้งใหม่ แต่ก่อนมีการประกาศ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเลื่อนการประกาศเขตเลือกตั้ง นอกจากนี้ กกต. ยังได้รับยกเว้นจากกฎหมายเขตเลือกตั้งเดิม ทำให้ กกต. สามารถวาดเขตเลือกตั้งใหม่อย่างไรก็ได้ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยแสดงการคัดค้านรุนแรง[15] ซึ่งแย้งว่าการเลื่อนเวลาจะทำให้ กกต. วาดแผนที่ให้เอื้อต่อพรรคพลังประชารัฐ นักหนังสือพิมพ์และนักวิจารณ์เปรียบเทียบการณ์นี้ว่าเหมือนกับการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบในสหรัฐ บางคนออกความเห็นว่า คสช. ชนะการเลือกตั้งแล้ว[16][13][17] วันที่ 29 พฤศจิกายน กกต. วาดเขตเลือกตั้งใหม่แล้วเสร็จและประกาศ[18] ซึ่งพรรคการเมืองหลายพรรคและองค์การควบคุมดูแลพบว่ามีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบซึ่งพรรคพลังประชารัฐจะได้ประโยชน์หลายกรณี[19][20]

เขตเลือกตั้ง 350 เขต แบ่งจำนวนเขตเลือกตั้งตามจังหวัดดังต่อไปนี้ [21]

พื้นที่จำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
กรุงเทพมหานคร30
นครราชสีมา14
ขอนแก่น และอุบลราชธานี10
เชียงใหม่9
ชลบุรี, นครศรีธรรมราช, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, สงขลา และอุดรธานี8
เชียงราย, ร้อยเอ็ด, สมุทรปราการ และสุรินทร์7
ชัยภูมิ, นครสวรรค์, นนทบุรี, ปทุมธานี, สกลนคร และสุราษฎร์ธานี6
กาญจนบุรี, กาฬสินธุ์, นครปฐม, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, มหาสารคาม และราชบุรี5
กำแพงเพชร, ฉะเชิงเทรา, นครพนม, นราธิวาส, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, ระยอง, ลพบุรี, ลำปาง และสุพรรณบุรี4
จันทบุรี, ชุมพร, ตรัง, ตาก, น่าน, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, พะเยา, พัทลุง, พิจิตร, เพชรบุรี, ยโสธร, ยะลา, เลย, สมุทรสาคร, สระแก้ว, สระบุรี, สุโขทัย, หนองคาย และหนองบัวลำภู3
กระบี่, ชัยนาท, บึงกาฬ, แพร่, ภูเก็ต, มุกดาหาร, ลำพูน, สตูล, อำนาจเจริญ, อุทัยธานี และอุตรดิตถ์2
ตราด, นครนายก, พังงา, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, สิงห์บุรี สมุทรสงคราม และอ่างทอง1

ใกล้เคียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2567 การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 การเลือกตั้งระบบสัดส่วน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_พ.ศ._2562 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/830478 http://www.bbc.com/news/business-30218621 http://www.bbc.com/thai/thailand-43221557 http://www.ft.com/intl/cms/s/0/a01892a6-fe33-11e4-... http://www.khaosodenglish.com/news/2018/03/02/doze... http://www.khaosodenglish.com/politics/2018/11/30/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/02/18/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/02/27/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/03/26/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/03/28/...