ประวัติ ของ ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ

ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อถูกดัดแปลงโดยสังวาล แก่นจันทร์ นำข้าวเกรียบปากหม้อซึ่งเป็นของว่างมาใส่ในน้ำขลุกขลิกที่ได้จากการผัดกุยช่ายและถั่วงอกสำหรับทำไส้ข้าวเกรียบปากหม้อ เมื่อพบว่าลูกค้าชอบจึงเพิ่มน้ำในการผัดไส้ เพื่อนำน้ำดังกล่าวมาให้ลูกค้าที่กินข้าวเกรียบปากหม้อโดยไม่คิดมูลค่า และใส่ก้อนเลือดขนาดน้อยลงไปด้วย[3] ต่อมาเมื่อพบว่ามีผู้ต้องการเพิ่มขึ้นจึงต้มเป็นน้ำซุปกระดูกหมูจนมีหน้าตาคล้ายก๋วยเตี๋ยว เพียงแต่ไม่มีเส้น หลังจากนั้นจึงออกวางขาย ก็ปรากฏว่าขายดี จึงเรียกอาหารชนิดนี้ว่า "ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ" มาแต่นั้น[1]

น้ำซุปทำจากกระดูกสันหลังหมูหรือเอียเล้งเช่นก๋วยเตี๋ยวทั่วไป ส่วนตัวข้าวเกรียบปากหม้อที่ใส่ในก๋วยเตี๋ยวนั้นจะไม่ผสมกะทิ ตัวแป้งทำด้วยแป้งมันสำปะหลังผสมกับแป้งข้าวเจ้า[4] ห่อไส้ชนิดต่าง ๆ เช่น ไส้หวาน กุยช่าย หน่อไม้ ไชโป๊หวาน ถั่วงอก เต้าหู้ และวุ้นเส้น[1][2] จากที่แต่เดิมมีเพียงสามไส้ คือไส้หวาน กุยช่าย และถั่วงอก[3]

นอกจากตัวข้าวเกรียบปากหม้อแล้ว ยังมีเครื่องเคียงเพิ่มเติม เช่น ไส้หมู ขาไก่ เลือดหมูหรือเลือดไก่ ลูกชิ้น หรือหมูเด้ง[2][3] ก่อนโรยหน้าด้วยผักชีและกระเทียมเจียว[5] ปัจจุบันในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรามีร้านก๋วยเตี๋ยวปากหม้อราว 20 ร้าน โดยมากร้านก๋วยเตี๋ยวปากหม้อจะให้ลูกค้าจะนั่งล้อมวงรอบ ๆ โดยมีแม่ค้าทำข้าวเกรียบปากหม้ออยู่กลางวง ก่อนส่งตัวข้าวเกรียบปากหม้อที่เสร็จใหม่ให้ลูกค้าที่รายรอบ[1][3]