อัศวินแห่งมอลตา ของ คณะอัศวินบริบาล

ดูบทความหลักที่: การล้อมมอลตา (ค.ศ. 1565)
ตราของอัศวินบริบาลแบ่งสี่กับตราของปิแยร์ ดอร์บูส์ซอง (Pierre d'Aubusson) บนบอมบาร์ด (bombard) ที่ปิแยร์สั่ง เหนือตราเป็นคำจารึก “F. PETRUS DAUBUSSON M HOSPITALIS IHER”การแสดงการต่อสู้ของอัศวินในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่ป้อมเซนต์เอลโม, วาเล็ตตา, มอลตา (8 พฤษภาคม ค.ศ. 2005)ทิวทัศน์จากวาเล็ตตาไปยังป้อมเซนต์แอนเจโล

หลังจากที่เร่ร่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอยู่ 7 ปีในยุโรป อัศวินก็ก่อตั้งใหม่ในปี ค.ศ. 1530 เมื่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 แห่งสเปนในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งซิซิลีก็พระราชทานมอลตาให้แก่คณะ[8] พร้อมทั้งโกโซ (Gozo) และทริโปลี (Tripoli) เมืองท่างของแอฟริกาเหนือในการเป็นอาณาจักรเป็นการแลกเปลี่ยนกับเหยี่ยวมอลตาหนึ่งตัวต่อปีที่ต้องนำมามอบให้แก่อุปราชแห่งซิซิลี ผู้เป็นผู้แทนพระองค์ในวัน “All Souls Day” ของทุกปี[2] (ข้อมูลนี้นำไปใช้เป็นโครงเรื่องของนวนิยายที่มีชื่อเสียงเรื่อง “The Maltese Falcon” โดยดาชิลล์ แฮมเม็ทท์)

อัศวินบริบาลก็ยังคงต่อสู้กับฝ่ายมุสลิมอยู่ และโดยเฉพาะกับกลุ่มโจรสลัดบาร์บารี แม้ว่าจะมีกองเรือเพียงไม่กี่ลำแต่ก็ทำให้เป็นที่เคืองพระทัยของสุลต่านออตโตมัน ที่เห็นว่าอัศวินบริบาลสามารถไปหาที่มั่นใหม่ได้ ในปี ค.ศ. 1565 สุลต่านสุลัยมานจึงทรงส่งกองทัพจำนวน 40,000 คนมาล้อมอัศวิน 700 คนและทหารอีก 8,000 คนเพื่อจะกำจัดอัศวินออกจากมอลตา[8]

ในช่วงแรกของการรุกราน สถานะการณ์ดูเหมือนจะซ้ำรอยกับที่โรดส์ที่ฝ่ายบริบาลเพลี่ยงพล้ำ เมืองต่าง ๆ เกือบทุกเมืองถูกทำลายและอัศวินครึ่งหนึ่งถูกสังหาร เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม สถานะการณ์ของฝ่ายอัศวินก็ถึงจุดวิกฤติ ทหารถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนมากและอ่อนกำลังลงทุกวัน แต่เมื่อสภาสงครามเสนอให้ทิ้งอิลบอร์โก (Il Borgo) และเซ็งเกลีย (Senglea) และถอยไปยังป้อมเซนต์แอนเจโล (Fort St. Angelo) แกรนด์มาสเตอร์ ฌอง ปาริโซต์ เดอ ลา วาเลตต์ (Jean Parisot de la Valette) ปฏิเสธ

อุปราชแห่งซิซิลีก็ไม่ส่งกองหนุนมาช่วยซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระราชโองการจากพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปนคลุมเครือที่ทำให้การตัดสินใจช่วยหรือไม่ช่วยตกอยู่ในความรับผิดชอบของอุปราช ถ้าตัดสินใจผิดก็หมายถึงการพ่ายแพ้และทำให้ซิซิลีและเนเปิลส์ตกอยู่ในอันตรายจากฝ่ายออตโตมัน ตัวอุปราชเองก็ทิ้งลูกชายไว้กับวาเลตต์บนเกาะ ฉะนั้นจึงไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายนัก แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดอุปราชก็ลังเลในการส่งกองกำลังไปช่วยจนกระทั่งผลของการถูกโจมตีแทบจะอยู่ในมือของอัศวินที่ถูกละทิ้งอยู่บนเกาะ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมก็มีการโจมตีครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายโดยผู้ที่มาล้อม สถานะการณ์คับขันจนแม้แต่ทหารผู้บาดเจ็บก็ต้องร่วมเข้าต่อสู้ป้องกันด้วย แต่การโจมตีของฝ่ายออตโตมันก็ไม่รุนแรงนักนอกจากที่ป้อมเซนต์เอลโม ซึ่งทำให้ป้อมต่าง ๆ ยังต่อต้านอยู่ได้[9] ทางฝ่ายอัศวินก็ซ่อมแซมกำแพงส่วนที่ถูกตีแตกทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับฝ่ายออตโตมันการยึดมอลตาดูจะยากขึ้นทุกวัน กองกำลังที่พักอยู่ในที่แคบจำกัดก็ล้มป่วยและเสียชีวิตกันมากมายระหว่างช่วงฤดูร้อน อาวุธและอาหารก็เริ่มร่อยหรอลงและกำลังใจในการต่อสู้ของทางฝ่ายออตโตมันก็เริ่มลดถอยลงเพราะความพ่ายแพ้ในการพยายามโจมตีหลายครั้งที่ได้รับ นอกจากนั้นแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนทางฝ่ายออตโตมันก็สูญเสียเทอร์กุต ไรส์ (Turgut Reis) ผู้เป็นแม่ทัพเรือผู้มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ แม่ทัพสองคนที่เหลืออยู่ ปิยาเล ปาชา (Piyale Pasha) และลาลา คารา มุสตาฟา ปาชา (Lala Kara Mustafa Pasha) เป็นผู้มีความเลินเล่อ ทั้งสองมีกองทัพเรือขนาดใหญ่ที่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงครั้งเดียว, ขาดการติดต่อกับฝั่งอาฟริกา และไม่พยายามระวังการโจมตีจากแนวหลังโดยซิซิลี

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปิยาเลและลาลาก็พยายามเป็นครั้งสุดท้าย แต่กำลังขวัญของทหารฝ่ายออตโตมันก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ซึ่งทำให้การโจมตีเป็นไปอย่างไม่เต็มใจเท่าใดนัก ทำให้อัศวินผู้ที่ถูกล้อมมีกำลังใจดีขึ้นและเริ่มมองเห็นทางที่จะได้รับชัยชนะ ทางฝ่ายออตโตมันมีความตกประหวั่นเมื่อได้ข่าวว่าทางซิซิลีส่งกำลังมาช่วยโดยหาทราบไม่ว่าเป็นเพียงกองกำลังเพียงกองเล็ก ๆ แต่ก็มีผลทำให้ละทิ้งการล้อมเมื่อวันที่ 8 กันยายน การล้อมมอลตาจึงเป็นชัยชนะครั้งสุดท้ายของอัศวินแห่งเซนต์จอห์น[10]

เมื่อฝ่ายออตโตมันถอยทัพไปแล้วบริบาลก็เหลือกำลังคนอยู่เพียง 600 คนที่ถืออาวุธได้ การสันนิษฐานที่เชื่อถือได้กล่าวว่าฝ่ายออตโตมันตอนที่มีกำลังคนสูงสุดมีถึง 40,000 คนและเหลือ 15,000 คนกลับไปคอนสแตนติโนเปิล การล้อมเป็นภาพที่บันทึกไว้บนจิตรกรรมฝาผนังโดยมัตเตโอ เปเรซ ดาลเล็ชชิโอ (Matteo Perez d'Aleccio) ในท้องพระโรงเซนต์ไมเคิลและเซนต์จอร์จหรือที่เรียกว่าท้องพระโรงพระราชบัลลังก์ (Throne Room) ในวังของแกรนด์มาสเตอร์ในวาเล็ตตา ความเสียหายที่ได้รับจากการล้อมเมืองทำให้ต้องสร้างเมืองใหม่ - เมืองปัจจุบันวาเล็ตตาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่แกรนด์มาสเตอร์ผู้ต่อต้านการล้อมโดยไม่ยอมถอย

ในปี ค.ศ. 1607 แกรนด์มาสเตอร์บริบาลก็ได้รับฐานะเป็น “Reichsfürst” (เจ้าชายแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าดินแดนของบริบาลจะอยู่ทางใต้ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ในปี ค.ศ. 1630 แกรนด์มาสเตอร์ก็ได้รับแต่งตั้งให้มีฐานะทางศาสนาเท่าเทียมกับพระคาร์ดินัลที่ใช้คำนำหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ว่า “His Most Eminent Highness” ที่แสดงถึงความสมฐานะในการเป็นเจ้าชายแห่งคริสตจักร (Prince of the Church)

ชัยชนะในเมดิเตอเรเนียน

หลังจากที่ก่อตั้งตัวขึ้นในมอลตาแล้ว อัศวินบริบาลก็ขาดจากเหตุผลเดิมในก่อตั้งเป็นคณะ ซึ่งเมื่อก่อตั้งขึ้นมีจุดประสงค์ในการเข้าร่วมในสงครามครูเสดในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เมื่อย้ายมาอยู่ที่มอลตาแล้วก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะตำแหน่งที่ตั้งและกำลังทรัพย์ เมื่อรายได้จากผู้อุปถัมภ์ในยุโรปผู้ไม่เต็มใจที่ส่งเงินจำนวนมามาดำเนินการสนับสนุนองค์การที่ขาดจุดประสงค์ลดน้อยลง อัศวินบริบาลก็หันไปหาการรักษาความปลอดภัยในทะเลเมดิเตอเรเนียนจากอันตรายจากโจรสลัดที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากออตโตมันที่สนับสนุนโจรสลัดบาร์บารีให้ก่อความไม่สงบในบริเวณฝั่งทะเลของแอฟริกาเหนือ จากความมีชื่อเสียงที่ได้รับในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากการป้องกันจากการถูกล้อมได้ในปี ค.ศ. 1565 พร้อมกับชัยชนะครั้งใหญ่ต่อจักรวรรดิออตโตมันของฝ่ายคริสเตียนในยุทธการเลอพานโตในปี ค.ศ. 1571 อัศวินบริบาลก็ตั้งตนเป็นองค์อุปถัมภ์พ่อค้าชาวคริสต์ที่คนส่งสินค้าไปมากับลว้าน และทำการปลดปล่อยคริสต์ศาสนิกชนที่ถูกจับไปเป็นทาสโดยโจรสลัดบาร์บารี ซึ่งมาเรียกว่า "คอร์โซ"[11]

แต่กระนั้นไม่นานอัศวินบริบาลก็ต้องพยายามดำเนินการรักษาคณะด้วยรายได้ที่ลดต่ำลง การเพิ่มหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในทะเลเมดิเตอเรเนียนให้แก่สาธารณรัฐเวนิส, สาธารณรัฐเจนัว และ ฟลอเรนซ์ก็เท่ากับเป็นการสร้างความรับผิดชอบในฐานะผู้พิทักษ์เช่นที่เคยทำมาก่อน ปัญหาที่มีอยู่ทวีคูณขึ้นเมื่อในระหว่างช่วงเวลานี้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราท้องถิ่นต่อ "สคูโด" ที่ก่อตั้งขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 กลายมาล้าสมัยไป ซึ่งหมายความว่าอัศวินค่อย ๆ ได้รับเงินสนับสนุนจากพ่อค้าน้อยลงเป็นลำดับ[12] ปัญหาทางเศรษฐกิจประกอบกับที่ดินที่แห้งแล้งที่อาศัยอยู่ ก็ทำให้อัศวินมีพฤติกรรมเลยเถิดไปถึงการปล้นเรือมุสลิม[13] การปล้นที่บ่อยครั้งขึ้นทำให้อัศวินมีเงินมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เอาผู้หญิงท้องถิ่นเป็นภรรยา และเข้าร่วมกับกองเรือฝรั่งเศสและสเปนในการเดินทางผจญภัยต่าง ๆ ที่เป็นการเพิ่มรายได้ให้มากยิ่งขึ้น[14] พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ตรงกันข้ามกับการถือคำปฏิภาณในการรักษาความสมถะเมื่อเข้าเป็นนักบวชตามหลักปฏิบัติของคณะ ความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของอัศวิน ประจวบกับการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และ การปฏิรูปคาทอลิก และการขาดเสถียรภาพของสถาบันโรมันคาทอลิก เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มีผลกระทบกระเทือนต่ออัศวินอย่างรุนแรง เมื่อในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 เกิดความเสื่อมโทรมด้านทัศนคติทางศาสนาของผู้คนทั่วไปในยุโรป ที่ทำให้ความสำคัญของการมีคณะอัศวินลดถอยลง ซึ่งก็แปลว่าการสนับสนุนทางการเงินจากชาติต่าง ๆ ในยุโรปก็ลดน้อยลงตามไปด้วย[15] การที่อัศวินโรมันคาทอลิกเริ่มพิจารณายอมรับอังกฤษเข้ามาเป็นรัฐสมาชิก หลังจากที่ สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ แยกตัวออกไปเป็นคณะอิสระอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษผู้เป็นพระราชินีโปรเตสแตนต์ขึ้นครองราชย์ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับลัทธิอื่นของอัศวิน[16] อัศวินบริบาลถึงกับมีเขตเยอรมันซึ่งมีทั้งโปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิกเท่า ๆ กัน

ความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมของอัศวินบริบาลในช่วงนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดจากการตัดสินใจของอัศวินหลายคนในการเข้ารับราชการในราชนาวีต่างประเทศและกลายเป็น "ทหารรับจ้าง" (sea-dogs) แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยนิยมกันไปทำงานให้กับฝรั่งเศส[17] การไปเป็นทหารรับจ้างเป็นข้อที่ตรงกันข้ามกับหลักการของอัศวินบริบาลอย่างที่สุด ตรงที่การไปทำงานให้กับมหาอำนาจในยุโรปเป็นโอกาสที่อาจจะเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การที่อัศวินต้องไปต่อสู้กับกองทัพคริสเตียนของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นในการปะทะกันประปรายทางนาวีระหว่างฝรั่งเศสกับสเปนที่เกิดขึ้น[18] สิ่งที่เป็นปฏิทรรศน์มากที่สุดก็เมื่อฝรั่งเศสไปเป็นพันธมิตรกับออตโตมันอยู่หลายปี ผู้ซึ่งเป็นศัตรูอันสำคัญของอัศวินและผู้เป็นเหตุผลหลักในการดำรงตัวของคณะเอง ฝรั่งเศสไปลงนามในสัญญาทางการค้าหลายฉบับ และ ถึงกับไปตกลงสงบศึก (ที่ไม่มีผล) กับออตโตมันในช่วงเวลานี้ด้วย[19] การที่อัศวินเข้าไปพัวพันกับพันธมิตรของศัตรูหมายเลขหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นทางจรรยาธรรมของอัศวินและความสำคัญทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นในทะเลเมดิเตอเรเนียนในขณะนั้น การไปทำงานให้กับราชนาวีต่างประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศสเป็นการเปิดโอกาสให้อัศวินได้ทำหน้าที่ทางศาสนาและรับใช้พระมหากษัตริย์, เพื่อเพิ่มการเป็นที่รู้จักของราชนาวีที่รับราชการหรือมอลตา, เพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น และเพื่อหากิจการต่าง ๆ ทำเพื่อขจัดความจำเจ[20] พฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าอัศวินเริ่มจะละทิ้งความภักดีต่อทั้งคณะและศาสนา แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์คือฝรั่งเศสที่ได้กองกำลังทางนาวีที่มีประสบการณ์ที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านภัยที่มาจากสเปน การเปลี่ยนทัศนคติของอัศวินในระหว่างช่วงนี้สรุปได้จากคำกล่าวของพอล ลาครัวซ์ที่ว่า:

"ฐานะที่เพิ่มขึ้นจากความมั่งคั่งร่ำรวย การมีอภิสิทธิ์ที่ทำให้เป็นเหมือนราชรัฐ ... คณะในที่สุดก็ขาดจริยธรรมจากความฟุ่มเฟือย และ การปราศจากกิจการ ที่ทำให้เลิกคิดถึงจุดประสงค์เดิมที่แท้จริในการก่อตั้งคณะ และหันไปอ้าแขนรับความสำราญ ความละโมบและความหยิ่งในที่สุดก็ไม่มีขอบเขต อัศวินแสร้งทำตนว่าเหนืออำนาจของผู้ใด โดยการเที่ยวยึดเที่ยวปล้นโดยไม่คำนึงว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ใดไม่ว่าจะเป็นของผู้นอกศาสนาหรือคริสเตียน"[21].

เมื่ออัศวินบริบาลมีชื่อเสียงและความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น รัฐในยุโรปก็เริ่มหมดความสนใจกับคณะและไม่เต็มใจที่จะให้เงินสนับสนุนอย่างที่เคยทำมาให้แก่คณะที่หารายได้ได้ดีจากการรุกรานทางทะเล ฉะนั้นวัฏจักรของความเสื่อมโทรมที่เกิดจากการมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการลดเงินสนับสนุนก็เกิดขึ้น จนกระทั่งในที่สุดอัศวินก็ต้องพึ่งรายได้จากการหากินทางทะเลแต่เพียงอย่างเดียว[14] เหตุผลอีกประการหนึ่งที่มหาอำนาจในยุโรปหันความสนใจจากอัศวินบริบาลและหันไปสนใจกับปัญหาบนผืนแผ่นดินใหญ่ก็เนื่องมาจากสงครามสามสิบปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1641 ก็มีจดหมายจากบุคคลสำคัญผู้ไม่ทราบนามในวาลเล็ตตาในมอลตาไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พันธมิตรสำคัญของอัศวินที่กล่าวถึงปัญหาที่ประสบ:

"อิตาลีให้ความสนับสนุนเราแต่ไม่มาก โบฮีเมียและเยอรมนีเกือบไม่ได้สนับสนุน และอังกฤษและเนเธอร์แลนด์เป็นเวลาเนิ่นนานแล้วที่ไม่ได้สนับสนุนแต่อย่างใด เรามีบางสิ่งที่สามารถทำให้ดำรงตัวอยู่ได้ เซอร์ ในราชอาณาจักรของท่านและในสเปน"[22]

แต่ที่น่าสังเกตคือไม่มีการกล่าวถึงรายได้อันดีที่ได้มาจากการหากินทางทะเล เจ้าหน้าที่มอลตาเห็นประโยชน์จากการเป็นโจรสลัดว่าเป็นรายได้สำคัญและส่งเสริมให้เกิดการกระทำนั้นมากขึ้น แม้ว่าอัศวินจะถือปฏิภาณความยากจนแต่ก็ได้รับอนุญาตให้เก็บสินค้าและทรัพย์สินที่ปล้นได้เป็นของตนเองส่วนหนึ่ง และ ให้ใช้ทุนทรัพย์ในการสร้างเสริมเรือให้แข็งแรงขึ้น[23] นอกจากการปล้นสดมทางเรือแล้วอัศวินก็ยังมีกิจการการค้าทาสที่รุ่งเรืองพอกับโจรสลัดบาร์บารี

ปัญหาขัดแย้งใหญ่ของระบบการหากินของอัศวินบริบาลคือการเรียกร้องในการบังคับใช้มาตรการในการมีอำนาจที่จะหยุดและขึ้นเรือทุกลำที่สงสัยว่าจะบรรทุกสินค้าออตโตมัน และยึดสินค้าและนำมาขายใหม่ในวาลเล็ตตา ซึ่งรวมทั้งกะลาสีซึ่งเป็นสินค้าที่มีค่าที่สุด พฤติกรรมที่ว่านี้ทำให้หลายชาติอ้างว่าเป็นตกเป็นเหยื่อจากการกระทำของอัศวินที่ยึดเรือแม้ว่าเป็นที่ต้องสงสัยเพียงเล็กน้อยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าที่มาจากตุรกี[13] เมื่อปัญหาเริ่มบานปลายขึ้นเจ้าหน้าที่มอลตาพยายามควบคุมโดยการก่อตั้งศาล 'Consiglio del Mer' สำหรับกัปตันเรือผู้มีความรู้สึกว่าถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมสามารถร้องเรียนได้ และมักจะสำเร็จ การให้ใบอนุญาตในการทำกิจการหากินทางทะเลก็ได้รับการควบคุมมากขึ้นเพราะมอลตาพยายามรักษาสันติภาพกับมหาอำนาจในยุโรป แต่กระนั้นมาตรการก็ไม่ประสบผลสำเร็จไปเสียทั้งหมด ที่เห็นได้จากบันทึกจำนวนมากของคดีร้องเรียนต่าง ๆ จากศาล 'Consiglio del Mer' ตั้งแต่ ค.ศ. 1700 ในที่สุดพฤติกรรมดังกล่าวก็นำความหายนะมาให้แก่ลัทธิเอง[24]

ใกล้เคียง

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอัศวินบริบาล คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอัศวินทิวทอนิก คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา คณะอักษรศาสตร์ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 คณะองคมนตรีไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะอัศวินบริบาล http://www.bodrum-bodrum.com/html/history/castle.h... http://www.carnaval.com/malta/history/knights/ http://www.jimdiamondmd.com/malta_history.htm http://www.knightsofmalta.com/history/history.html http://www.turkeyhotelguides.com http://www.zum.de/whkmla/military/16cen/malta1565.... http://www.guidetomalta.net/knights_of_malta.htm http://www.brillonline.nl/public/suleyman http://www.castles.nl/eur/es/cons/cons.html http://www.allianceofstjohn.org/