ผลการพิจารณาคดีของศาลอาญา ของ คดีแชร์ชม้อย

คดีนางชม้อย ทิพย์โส ได้ใช้เวลาสืบพยานในศาลเป็นเวลาประมาณ 4 ปี จนศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อ 27 กรกฎาคม 2532 ศาลอาญาจึงได้พิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก 83 รวม 23,519 กระทง ฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12 รวม 3,641 กระทง เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยจำคุกจำเลยทั้งแปด ฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก กระทงละ 5 ปี รวม 23,519 กระทง จำคุกคนละ 117,595 ปี ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกูยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12 กระทงละ 10 ปี รวม 3,641 กระทง จำคุกคนละ 36,410 ปี รวมจำคุกคนละ 154,005 ปี

แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกทั้งสิ้นคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ที่แก้ไขแล้ว และให้จำเลยทั้งแปดคนร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชน รวมจำนวน 4,043,997,795 บาท แก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ ร่วมกันคืนเงินกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวมจำนวน 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 2 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินเสร็จคดี ดังกล่าวได้ถึงที่สุดโดยไม่มีการอุทธรณ์ ซึ่งเมื่อมีคำพิพากษาแล้วทรัพย์สินของนางชม้อยฯ กับพวกได้ถูกเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้เสียหายในคดี

แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงคงจำคุกทั้งสิ้นคนละ 20 ปี เพราะประมวลกฎหมายอาญาให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี และให้นางชม้อย กับพวกร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงด้วย นางชม้อย จำคุกอยู่ในเรือนจำเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดลงโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536[1]