ความสัมพันธ์ทวิภาคีญี่ปุ่น-ไทย ของ ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น–ไทย

ในภาพรวม

ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

การเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ คือ การเสด็จฯ เยือนไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี เมื่อวันที่ 11 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เพื่อทรงเข้าร่วมในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการเยือนไทยเป็นครั้งที่ 2 ของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และเป็นการเสด็จเยือนซ้ำประเทศที่เคยเสด็จเยือนแล้วเป็นครั้งแรก

ในขณะเดียวกัน ในปีเดียวกันนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ของไทยก็ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่นหลายครั้ง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่นเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 14 - 19 มกราคม พ.ศ. 2549

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่น เพื่อทรงเข้าร่วมการประชุมเรื่อง Globalization: Challenges and Opportunities for Science and Technology จัดโดยมหาวิทยาลัยสหประชาชาติและองค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 21 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2549 และศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่น เพื่อทรงเป็นองค์ Keynote Speaker and Lecturer ในการประชุมวิชาการ “1st International Conference on Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia” ที่จังหวัดโอกินาวา ระหว่างวันที่ 14 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และเสด็จเยือนญี่ปุ่น เพื่อทรงเข้าร่วมในการประชุม Members of President’s Council ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ระหว่างวันที่ 12 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549

ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น ปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน

ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 120 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้มีการเฉลิมฉลอง โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วม ไทย - ญี่ปุ่น ว่าด้วยการฉลอง 120 ปี ความสัมพันธ์การทูตขึ้นเพื่อกำกับและเตรียมการกิจกรรมเฉลิมฉลองขึ้นทั้งที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยมีกิจกรรมตลอดทั้งปีและมีกิจกรรมหลักร่วมกัน 3 กิจกรรม คือ พิธีเปิด (Curtain Raiser) ในประเทศไทยในวันที่ 16 มกราคม และในประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ สำหรับในวันที่ 26 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ เมื่อ พ.ศ. 2430 ฝ่ายไทยมอบศาลาไทยให้เป็นของขวัญแก่ฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งถูกจัดตั้งเป็นการถาวรที่สวนสาธารณะอุเอะโนะ ในกรุงโตเกียว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยจะจัดงานเทศกาลไทย (Thai Festival) ครั้งที่ 8 ที่สวนสาธารณะโยะโยะงิ ในกรุงโตเกียว ตามด้วยกิจกรรมส่งเสริมความมั่นใจต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในไทย โดยฝ่ายญี่ปุ่นจัดงาน Japan Festival ในกรุงเทพฯ ขึ้นในเดือนธันวาคม

ด้านนโยบายต่างประเทศ

ญี่ปุ่นต้องการเพิ่มบทบาทและส่วนร่วมในประชาคมระหว่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ อาทิ ความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การแก้ไขปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และการผลักดันให้มีการเจรจาการค้ารอบใหม่ขององค์การการค้าโลก เป็นต้น โดยยังคงให้น้ำหนักความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอาเซียน

ไทยสนับสนุนบทบาทดังกล่าวของญี่ปุ่น โดยเห็นว่าจะเป็นการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงทั้งในภูมิภาค และเวทีโลก แต่กระนั้น ในช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินนโยบายการต่างประเทศในเชิงรุกมายิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดมีกรณีพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน และสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มมากขึ้น และญี่ปุ่นยังมีข้อพิพาทซึ่งเกิดจากเขตแดนและการแย่งชิงแหล่งพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติกับจีน สาธารณรัฐเกาหลีและรัสเซีย

ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ที่จัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ระหว่าง 11 - 12 ธันวาคม 2546 ญี่ปุ่นได้ประกาศจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งครึ่งกันระหว่างอาเซียนกับการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นได้ลงนามปฏิญญาโตเกียวว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่มีพลวัตและยั่งยืนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นในสหัสวรรษใหม่

ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายไทยต่อกรณีธรณีพิบัติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โดยญี่ปุ่นได้ประกาศให้ความช่วยเหลือจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศที่ประสบภัย สำหรับประเทศไทยนั้นญี่ปุ่นได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือและกู้ภัย ทีมชันสูตรศพ และเครื่องอุปโภคและเวชภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือฝ่ายไทย โดยความช่วยเหลือดังกล่าวมาจากทั้งทางภาครัฐบาลและภาคเอกชน

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

ในปี พ.ศ. 2548 มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาเยือนไทยจำนวน 1,196,654 คน คิดเป็นร้อยละ 10.35 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย คิดเป็นลำดับที่ 2 รองจากมาเลเซีย และมีชาวไทยเดินทางเยือนญี่ปุ่นจำนวน 168,456 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.68 คิดเป็นร้อยละ 5.53 ของชาวไทยที่เดินทางเยือนต่างประเทศ คิดเป็นลำดับที่ 6

กรอบความร่วมมือทวิภาคีสำคัญ

  • การหารือหุ้นส่วนการเมืองไทย- ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Political Partnership Consultations– JTPPC)) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 13 ตุลาคม 2548 เป็นการหารือประจำปีระหว่างปลัด กต.ไทยกับรองปลัด กต.ด้านการเมืองของญี่ปุ่น ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการประสานช่วงวันหารือที่เหมาะสมสำหรับการหารือครั้งที่ 3
  • การประชุมประจำปีทวิภาคีด้านการเมืองและการทหาร (Politico- Military / Military- Military Consultations) ครั้งที่ 6 ที่กรุงโตเกียว เมื่อ 22- 23 มีนาคม 2549 โดยฝ่ายไทยมีนายสุรพล เพชรวรา รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กต. และ พล.ท. นรเศรษฐ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กห. เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศและทบวงป้องกันตนเองของญี่ปุ่น และได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ฝ่ายไทยกำลังเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั่งที่ 7 ในปี 2550
  • คณะทำงานร่วมเฉพาะกิจไทย- ญี่ปุ่น ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฝ่ายไทยเสนอแนวคิดดังกล่าวในพฤษภาคม 2548 เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาคนไทยในญี่ปุ่น โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำ Concept Paper เสนอฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อกรกฎาคม 2548 และได้จัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 เมื่อ 15 พฤษภาคม 2549 โดยสามารถตกลงกันใน Concept Paper และแนวทางการดำเนินความร่วมมือในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
  • การประชุมความร่วมมือทางวิชาการ หุ้นส่วนไทย-ญี่ปุ่น (Japan- Thailand Partnership Programme in Technical Cooperation - JTPP) หลังจากที่ไทยปรับบทบาทจากประเทศผู้รับเป็นผู้ให้รายใหม่ ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น จึงเปลี่ยนไปจากการให้ความช่วยเหลือเป็นความร่วมมือในระดับหุ้นส่วน โดยฝ่ายไทยเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณารูปแบบการดำเนินการรูปแบบใหม่ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศผู้รับ
  • การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement - JTEPA)

ภายหลังการศึกษาร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยและญี่ปุ่นซึ่งมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการเข้าร่วม ในช่วงปี 2545 - 2546 การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น จึงได้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 และหลังจากการเจรจาหลายครั้ง ไทยกับญี่ปุ่นสามารถบรรลุความตกลงในหลักการขององค์ประกอบที่สำคัญของ JTEPA ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันประกาศการบรรลุความตกลงในหลักการดังกล่าวที่กรุงโตเกียวเมื่อ 1 กันยายน 2548 ความตกลง JTEP มีสาระครอบคลุม 21 บท ทั้งในด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนที่ของบุคคล และด้านความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การส่งเสริมการค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการเกษตร

ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในการเจรจา ได้แก่ การเปิดเสรีสินค้าเกษตร การค้าบริการและการเคลื่อนที่ของบุคคล และการจัดตั้งกลไกถาวรเพื่อพิจารณาการจัดส่งแรงงานทักษะในสาขาที่ญี่ปุ่นต้องการและไทยมีศักยภาพ ขณะเดียวกัน ไทยได้เปิดเสรีเหล็ก ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และการค้าบริการสาขาต่างๆ อาทิ สาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต ในระดับและระยะเวลาทยอยเปิดเสรีที่เอกชนไทยน่าจะรับได้ เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวของโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทย

นอกจากการลงนามในร่างความตกลงฯ แล้ว ไทยกับญี่ปุ่นได้ตกลงให้มีการลงนามในเอกสารเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือ 7 เรื่อง ได้แก่ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนครัวไทยสู่โลก ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การอนุรักษ์พลังงาน เศรษฐกิจสร้างมูลค่า และหุ้นส่วนภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเกษตร

สำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่าการจัดทำหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นน่าจะมีผลบวกทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยในมิติยุทธศาสตร์จะทำให้ไทยเป็นหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียมใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับญี่ปุ่น ขณะที่ในมิติเศรษฐกิจ จะส่งผลในการขยายตลาดและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยในญี่ปุ่น ทำให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น ตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทย สนับสนุนการปรับโครงสร้างเพื่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และขยายโอกาสทางด้านตลาดแรงงานฝีมือของไทยในญี่ปุ่น และในมิติการพัฒนา จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชนได้กล่าวถึงผลกระทบรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมต่อประเทศไทยจากเรื่องขยะ ของเสียอันตรายที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากความตกลงนี้ เช่น การใช้มาตรการปกป้องสองฝ่ายที่กำหนดไว้ใน JTEPA นั้น สามารถใช้ได้เพียงกรณีที่เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน ไม่ได้รวมถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากมีปัญหามลพิษเกิดขึ้นจากการนำเข้าขยะของเสียอันตราย ก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะใช้มาตรการปกป้องได้ [1]

ใกล้เคียง

ความสนใจต่อสิ่งภายนอก-ความสนใจต่อสิ่งภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร–สหรัฐ ความสามารถของบุคคล ความสัมพันธ์ไทย–พม่า ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น–ไทย ความสัมพันธ์จีน–ไทย ความสัมพันธ์ไทย–สหรัฐ ความสัมพันธ์ไทย–รัสเซีย ความสัมพันธ์เนโท–สวีเดน