ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ ความเห็นพ้อง

สำหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้นิยาม “ฉันทามติ” ว่าเป็นคำที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คำที่ใกล้เคียงกัน คือ คำว่า “ฉันทาคติ” แปลว่า ความลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบใจ กับคำว่า “ฉันทานุมัติ” แปลว่า ความเห็นชอบตามโดยความพอใจ ให้กระทำการด้วยความเต็มใจ มักใช้ว่ามีฉันทานุมัติหรือลงฉันทานุมัติ หมายความว่าลงความเห็นด้วยความยินยอมพร้อมใจ เช่น ญาติ ๆ มีฉันทานุมัติให้เขาเป็นผู้จัดการมรดกของคุณปู่ “ฉันทานุมัติ” กับ “ฉันทามติ” จึงใช้ในความหมายเดียวกัน[5] คำที่เขียนถูกต้องควรจะเป็น “ฉันทมติ” ซึ่งเป็นคำสมาสของ ฉันท+มติ หากเขียนว่า “ฉันทามติ” จะหมายถึง ฉันท+อมติ ซึ่งมีความหมายตรงกันข้าม[6]

ในเชิงการนำไปใช้พบตัวอย่างเช่น ในเอกสารแผนพัฒนาการเมืองของสภาพัฒนาการเมืองเห็นว่า การสร้างกระบวนการแสวงหาฉันทามติในการหาข้อสรุปหรือมติที่ “ทุกคน” ที่เกี่ยวข้องยอมรับด้วยความเต็มใจโดยไม่มองข้ามความคิดเห็นหรือข้อคัดค้านของคนส่วนน้อย หลายครั้งจึงพบว่า “ญัตติสาธารณะ” และการริเริ่มหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ๆ ทางการเมืองอาจถูกอ้างว่าได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนนอกสภา เช่น การขับไล่เผด็จการทหาร หรือเผด็จการระบอบรัฐสภา การร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปฏิรูปการเมือง เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยยังไม่เคยนำกระบวนการตัดสินใจแบบเห็นพ้องต้องกันอย่างฉันทามติมาใช้อย่างเป็นทางการเลย[7]

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่าการใช้คำว่าความเห็นพ้องในสังคมไทยยังมีปัญหาในการทำความเข้าใจใน 2 ระดับดังนี้

  1. ปัญหาระดับการนิยาม เป็นปัญหาในการให้ความหมายที่เน้นเรื่องของเสียงข้างน้อย ไม่ใช่เรื่องของ “กระบวนการ” เพราะความเห็นพ้องในความหมายสากลไม่ได้สนใจเสียงข้างน้อยแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะสนใจทั้งกระบวนการไม่ว่าจะมีเสียงขนาดไหน ก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันได้
  2. ปัญหาระดับการปฏิบัติ ความเห็นพ้องมักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามเสียงข้างมาก และไม่สนใจกติกาของสังคม ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาระดับสากลเช่นเดียวกัน เพราะคำว่า consensus ที่ต้องการให้ทุกเสียงมีความหมายอาจจะถูกนำไปบิดเบือนให้กลายเป็นเสียงข้างน้อยเท่านั้นที่มีความหมาย หรือกล่าวได้ว่าเกิดเผด็จการเสียงข้างน้อย (minority tyranny)

ใกล้เคียง

ความเสียวสุดยอดทางเพศ ความเจ็บปวด ความเหนือกว่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี ความเครียด (จิตวิทยา) ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง ความเสี่ยงมหันตภัยทั่วโลก ความเป็นมาของตัวละครในเพชรพระอุมา