การศึกษาทางคลินิก ของ คอเลสเซเวแลม

นับตั้งแต่มีการค้นพบว่าคอเลสเซเวแลมสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลรวม และ LDL-C ในระกายได้ และมีผลเพิ่มระดับ HDL-C ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลดีที่ร่างกายต้องการ ทำให้มีการศึกษาหลายการศึกษาที่ผ่านมาที่ทำการศึกษาถึงผลของคอเลสเซเวแลม รวมไปถึงยาชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกัน ว่ามีผลในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีความเสี่ยงหนึ่งมาจากการมีระดับไขมันในเลือดสูงหรือไม่ ผลการศึกษาหลายการศึกษาให้ผลที่สอดคล้องกัน คือ นอกจากยากลดไขมันในกระแสเลือดกลุ่มสแตตินแล้ว ไม่มียาลดไขมันในกระแสเลือดกลุ่มอื่นใดที่มีผลลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติการณ์ดังกล่าว ดังนั้น แนวทางการรักษาโรคไขมันในเลือดสูงในปัจจุบัน จึงแนะนำให้ใช้ยากลุ่มสแตตินเป็นทางเลือกแรก 

ผลการศึกษาทางคลินิกที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าการรับประทานคอเลสเซเวแลมวันละ 3,800 - 4,500 มิลลิกรัม สามารถลดระดับ LDL-C ได้ประมาณร้อยละ 15-18 ของค่า LDL-C พื้นฐานของผู้ป่วย, ลดระดับคอเลสเตอรอลรวมได้ประมาณร้อยละ 7-10 ของค่าคอเลสเตอรอลรวมพื้นฐานของผู้ป่วย และสามารถเพิ่ม HDL-C ได้ประมาณร้อยละ 3 ของค่า HDL-C พื้นฐานเดิมของผู้ป่วย

การใช้ยาสูตรผสมระหว่างคอลเลสเซเวแลมกับยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อยากลุ่มสแตติน สามารถเสริมฤทธิ์กันในการลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้[8]