การใช้ประโยชน์ทางคลินิก ของ คอเลสเซเวแลม

คอเลสเซเวแลม ชนิดเม็ด ของบริษัท ไดอิจิ ซังเคียว (Daiichi Sankyo)

คอเลสเซเวแลมมีข้อบ่งใช้สำหรับลดระดับ low-density lipoprotein cholesterol (LDL-C) ในผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง (hyperlipidemia) ในผู้ที่ควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้วไม่สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลดังกล่าวลงได้ โดยพิจาณาใช้ในรักษาด้วยยาชนิดเดียว แลละนอกจากนี้คอเลสเซเวแลมยังช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อีกด้วย (type 2 diabetes mellitus)[1] ทั้งนี้ อาจพิจารณาใช้คอเลสเซเวแลมร่วมกับยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน ในผู้ที่ใช้ยาลดไขมันในเลือดเพียงชนิดเดียวแล้วไม่ได้ผล 

คอเลสเซเวแลมเป็นหนึ่งในยาลดไขมันในกระแสเลือดกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในยาลดไขมันในเลือด 3 กลุ่มหลัก คือ สแตติน ไนอะซิน และไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ โดยสแตตินถือเป็นยาลดไขมันในกระแสเลือดทางเลือกแรกที่ควรเลือกใช้ ทั้งนี้เนื่องจากมีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์มากมายที่ให้ข้อมูลสนับสนุนว่าสแตตินเป็นยาลดระดับไขมันในเลือดเพียงกลุ่มเดียวที่มีผลลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ และก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่น้อยกว่ายาลดไขมันในกระแสเลือดอีก 2 กลุ่มที่เหลือ คือ  ไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการท้องอืดและท้องผูก และกลุ่มไนอะซินมักจะทำให้เกิดผิวหนังแดง (skin flushing) ทำให้ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยามากเท่าใดนัก<[2]

คอเลสเซเวแลมสามารถใช้ทดแทนคอเลสไตรามีนได้ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังที่เป็นผลมาจากความผิดปกติของการดูดซึมกลับของกรดน้ำดี (bile acid diarrhea) ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบโครห์น (Crohn's disease) หรือผู้ป่วยกลุ่มอาการหลังผ่าตัดถุงน้ำดี (postcholecystectomy syndrome)[3][4][5]