พฤติกรรม ของ คีอา

คีอาเป็นนกสังคมและอาจรวมฝูงใช้ชีวิตร่วมกันมากถึง 13 ตัว[23] และสร้างลำดับชั้นทางสังคมแบบยืดหยุ่นขึ้นภายในฝูง[15] นกที่อยู่ลำพังในการถูกจองจำมักมีสุขภาพที่ไม่ดี เฉื่อยชา แต่จะตอบสนองได้ดีเมื่อได้มองเห็นตัวเองในกระจก[23] การรวมฝูงของนกแก้วคีอาในภาษาอังกฤษเรียก "circus"[24]

การผสมพันธุ์

ลูกนกคีอา ที่สวนนกโลก (Weltvogelpark) เมืองวาลส์โรเดอ (Walsrode) เยอรมนี

โดยทั่วไปคีอาโตเต็มวัยและเริ่มผสมพันธุ์ตั้งแต่อายุ 4 ปี และมักอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต[15] แม้ผู้สังเกตการณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งรายงานว่า นกแก้วคีอามีพฤติกรรมจับคู่กับนกตัวเมียหลายตัว (Polygynous) จากการสันนิษฐานอ้างอิงสัดส่วนของตัวเมียที่มีมากกว่าตัวผู้มาก[25] ทั้งนี้การศุึกษายังไม่ได้รับการยืนยันด้วยการติดตามการเดินทางของนกทางวิทยุ[15]

นกแก้วคีอาผสมพันธุ์ในฤดูหนาว ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเมษายน[15]

จากการศึกษาความหนาแน่นของการสร้างรัง พบว่า มี 1 รังต่อ 4.4 ตารางกิโลเมตร (1.7 ตารางไมล์)[26] พื้นที่ผสมพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในป่าบีชตอนใต้ บริเวณเขาสูงชัน แหล่งผสมพันธุ์มักอยู่ในที่สูงไม่น้อยกว่า 1,600 เมตร (5,200 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล คีอาเป็นหนึ่งในนกแก้วน้อยชนิดในโลกที่ใช้ชีวิตเป็นประจำอยู่เหนือแนวต้นไม้ รังมักสร้างอยู่บนพื้นดินใต้ต้นบีชขนาดใหญ่ ในรอยแยกหิน หรือขุดโพรงระหว่างรากต้นไม้ สามารถสร้างอุโมงค์หลายช่อง ยาว 1 ถึง 6 เมตร (3.3 ถึง 19.7 ฟุต) ต่อเชื่อมกับห้องรังขนาดใหญ่ซึ่งปูด้วยไลเคน มอส เฟิร์น และเศษไม้ที่เปื่อย ฤดูการวางไข่เริ่มในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนมกราคม วางไข่ 2–5 ฟอง สีขาว เส้นรอบวง 39 มม. และไข่ยาว 43 มม.[15] ระยะเวลาฟักไข่ประมาณ 21–26 วัน และระยะเลี้ยงดู 94 วันจึงเริ่มหัดบิน และแยกออกจากรังเมื่ออายุ 100–150 วัน[15]

อัตราการเสียชีวิตสูงในลูกนกคีอา ประมาณไม่เกินร้อยละ 40 ที่รอดชีวิตจากปีแรก[27] อายุขัยเฉลี่ยของนกแก้วคีอาในธรรมชาติอาจอยู่ที่ 5 ปี และจากการคาดคะเนมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรนกแก้วคีอามีอายุมากกว่า 20 ปี[15][28] นกแก้วคีอาเลี้ยงที่มีอายุขัยมากที่สุดที่รู้จักกันคือ 50 ปีในปี ค.ศ. 2008[27]

อาหารและการหาอาหาร

เป็นนกที่กินทั้งพืชและสัตว์ นกคีอากินพืชมากกว่า 40 ชนิด ทั้งหน่ออ่อน ใบ ผล และน้ำหวานจากดอกไม้ และอาจมีบทบาทสำคัญในการกระจายเมล็ดพืชอัลไพน์[15] กินสัตว์เช่น ตัวอ่อนด้วง นกและลูกนกอื่น ๆ (ได้แก่ ลูกนกจมูกหลอด) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (รวมถึงแกะและกระต่าย)[29][30] มีการสังเกตพบการทำลายรังของนกจมูกหลอด และพบเสียงลูกนกจมูกหลอดเป็นอาหารในรังของคีอา[31] คีอายังใช้ประโยชน์จากขยะของมนุษย์และ อาหารที่มนุษย์แบ่งให้กิน[32] รวมทั้งกินซากกวาง ซากแพะภูเขาและแกะเมื่อมีโอกาส[15]

แกะ

แกะ ซึ่งต้องสงสัยว่าจะถูกฆ่าโดย นกคีอา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2450

มีการโต้เถียงอย่างยาวนานมากกว่าหลายทศวรรษว่า นกแก้วคีอากินแกะ จากการบันทึกในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1860 พบแกะจำนวนหนึ่งมีบาดแผลที่ผิดปกติที่ด้านข้างหรือเอวได้รับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษของการบุกเบิกที่ดินของเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะ ซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ในที่ราบสูง ในขณะนั้นแม้ว่าบางคนคิดว่าสาเหตุอาจเกิดจากโรคชนิดใหม่ แต่ต่อมาในไม่ช้าความสงสัยได้ตกอยู่กับนกแก้วคีอา ในปี พ.ศ. 2411 เจมส์ แมคโดนัลด์ หัวหน้าคนเลี้ยงแกะที่สถานีวานาก้า ได้เป็นประจักษ์พยานที่คีอาเข้าทำร้ายแกะ และเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกันจากผู้อื่นเกิดขึ้นไปทั่ว[33] สมาชิกที่มีชื่อเสียงของชุมชนวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า นกแก้วคีอาโจมตีแกะจริง โดย อัลเฟรด วอลเลซ (Alfred Wallace) อ้างในหนังสือ Darwinism ของเขาในปี 1889 ว่า "กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม"[34] โธมัส พอทส์ (Thomas Potts) ตั้งข้อสังเกตว่าการโจมตีเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในช่วงฤดูหนาว และแกะที่มีขนแกะที่ยาวและเลี้ยงไว้ในพื้นที่ที่มีหิมะนั้นเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ในขณะที่แกะที่ขนเพิ่งได้รับการตัดใหม่ในสภาพอากาศอบอุ่นมักไม่ค่อยถูกโจมตี[35]

แม้จะมีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับการโจมตีของนกคีอาจากคำบอกเล่า[33][36] แต่ผู้คนทั่วไปยังคงไม่แน่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีต่อๆ มา ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2505 เจ.อาร์. แจ็คสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวิทยาสรุปว่า แม้ว่านกอาจโจมตีแกะที่ป่วยหรือบาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนกเข้าใจผิดว่าพวกมันตายไปแล้ว (กินซาก) มัน (นกแก้วคีอา) ไม่น่าจะเป็นสัตว์นักล่าสำคัญ[37] อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 มีการจับภาพวิดีโอการโจมตีในตอนกลางคืน[29][38] ซึ่งพิสูจน์ว่านกคีอาโจมตีและกินแกะที่แข็งแรงจริง วิดีโอนี้ยืนยันสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนสงสัยมานานแล้วว่า คีอาใช้จงอยปากโค้งและกรงเล็บอันทรงพลังของมันเพื่อฉีกชั้นขนแกะและกินไขมันจากด้านหลังของสัตว์ แม้ว่านกจะไม่ฆ่าแกะโดยตรง แต่ความตายอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อหรืออุบัติเหตุที่สัตว์ได้รับเมื่อพยายามหลบหนี

เนื่องจากปัจจุบันนกแก้วคีอา (N. notabilis) ได้รับสถานะเป็นสัตว์คุ้มครอง การลักลอบโจมตีของนกยังคงอยู่และเป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงแกะต้องกล้ำกลืนทน ทั้งนี้สาเหตุของการโจมตีแกะและสัตว์อื่น ๆ ของคีอาบางตัวยังไม่ชัดเจน

ทฤษฎีต่าง ๆ ที่ครอบคลุมถึง แหล่งอาหารที่มีอยู่ ความอยากรู้อยากเห็น ความบันเทิง ความหิว หนอนปรสิตบนแกะ ตลอดจนความเปลี่ยนอุปนิสัยจากการไล่ล่าแกะที่ตาย ล้วนถูกหยิบยกมาพิจารณาถึงพฤติกรรมการโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร[36][38] หลักฐานบอกเล่ายังชี้ให้เห็นว่านกบางตัวเท่านั้นที่เรียนรู้พฤติกรรมนี้ ซึ่งการระบุตัวและการกำจัดนกตัวดังกล่าวเหล่านั้นก็อาจเพียงพอที่จะควบคุมปัญหาได้[20][38]

นอกจากนี้ยังมีรายงานจากหลักฐานบอกเล่าเกี่ยวกับนกแก้วคีอาที่ทำร้ายกระต่าย สุนัข และแม้แต่ม้า[36] นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะที่นกแก้วคีอาเคยกินนกโมอา ในลักษณะเดียวกัน[38]

ความสามารถทางสติปัญญา

นกแก้วคีอาได้รับการยอมรับในด้านสติปัญญาและความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นความสามารถที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดารในพื้นที่ภูเขา[29] คีอามีระดับสติปัญญาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับนกแก้วและนกอื่น และแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด สติปัญญาของลูกนกแต่ะตัวต่างกันเกิดจากความแตกต่างในการปฏิสัมพันธ์กับตัวเต็มวัย และการเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นจากทักษะการหาอาหาร รวมทั้งการมีช่วงเวลาก่อนโตเต็มวัยที่ยาวนานกว่านกแก้วทั่วไป ทำให้มีการเล่นและเกิดการเรียนรู้ที่มากกว่า[15]

คีอาสามารถไขปริศนาเชิงตรรกะได้ เช่น การผลักและดึงสิ่งของในลำดับที่แน่นอนเพื่อไปหาอาหาร และสามารถทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง[29] รวมทั้งการเตรียมและการใช้เครื่องมือ[39] และเข้าใจเงาสะท้อนของตัวเอง[40] ความสามารถใช้เครื่องมือและมีความเข้าใจด้านเทคนิคที่ดีมาก[41] สามารถเปิดปิดกระเป๋าเป้สะพายหลังและถังขยะโดยง่าย นอกจากนี้ยังสามารถประเมินความน่าจะเป็นได้อย่างถูกต้อง เช่นการคาดการณ์ความน่าจะเป็นของวัตถุที่ซ่อนอยู่ในมือข้างใดข้างหนึ่ง[41]