ประวัติ ของ คุ้มวิชัยราชา

คุ้มวิชัยราชา เป็นคุ้มของพระวิไชยราชา (เจ้าขัติ แสนศิริพันธุ์) พระวิไชยราชานครแพร่องค์สุดท้าย และอดีตเสนาคลังเมืองนครแพร่ บุตรในเจ้าแสนเสมอใจเครือญาติเจ้าหลวงเทพวงศ์ลิ้นตอง เจ้าผู้ครองนครแพร่ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างคุ้มนี้เมื่อใด แต่เป็นที่แน่นอนว่าได้สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2441 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ บุตรของท่านเกิด ณ ที่บ้านหลังนี้ ในปีถัดมาท่านจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุให้วัดศรีบุญเรือง จากประวัติวัดศรีบุญเรืองและการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และจากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่แถวคุ้มและบริเวณสีลอ ตลอดจนไล่เรียงศึกษาอายุของ “พ่อเจ้าพระฯ” และลูกหลานของท่านรวมทั้งคำบอกเล่าของอาจารย์โสภา วงศ์พุฒ ที่ได้กล่าวถึงคุณยายที่ได้เสียชีวิตไปกว่า ๒๐ปีมาแล้ว เมื่อตอนอายุเก้าสิบกว่า เล่าให้ฟังว่าเมื่อเกิดมาและจำความได้ ก็เห็นบ้านหลังนี้อยู่แล้ว กอปรกับบริเวณที่ตั้งคุ้มวิชัยราชาในปัจจุบันเป็นทำเลที่เหมาะเพราะเป็นเนินสูง สันนิษฐานว่า คงเป็นคุ้มของพระยาแสนศรีขวามาก่อนแต่ในอดีต และสืบทอดกันมาจนถึงยุคสมัยของพระวิชัยราชา และแม่เจ้าคำป้อ ที่ได้สร้างคุมวิชัยราชา เรือนไม้สัก ทรงมะนิลา หลังงามนี้มาเป็นที่พักอาศัยแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จากข้อมูลเหล่านี้คาดว่า บ้านหลังนี้คงสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2434 - 2438 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า บ้านหลังนี้จะมีอายุเก่าแก่เกินร้อยปีแต่ยังมีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทั้งยังได้รับการออกแบบอย่างสวยงามเหมาะเจาะกลมกลืนมีความงามที่ โดนเด่น พร้อมทั้งลวดลายฉลุที่สวยงามดูอ่อนช้อย ทั้งที่จั่วบ้าน บังลม ระเบียง ตลอดจนไม้ช่องลมเหนือบานประตูและหน้าต่างล้วนเป็นศิลปะสวยงามและหายาก สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่งและถึงแม้ว่าพ่อเจ้าพระฯ จะเป็นคลังจังหวัดที่มีฐานะและได้รับสัมปทานทำป่าไม้ แต่บ้านท่านไม่ได้ใช้ไม้ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของโครงสร้างและน้ำหนักที่รับแต่อย่างไร แม้แต่เสาที่รับน้ำหนักทั้งหมดยังใช้เสาไม้ขนาด 8 นิ้ว x 8 นิ้ว มิได้ใช้เสาใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงค่านิยมและภูมิปัญญาของชาวเมืองแพร่ในยุคสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี ในเรื่องการทนุถนอมทรัพยากรธรรมชาติและการรู้ซึ้งถึงความพอดี[1]

บ้านหรือคุ้มของพระวิชัยราชาหลังนี้ นอกจากจะเป็นเรื่อนไม้โบราณที่เป็นสถาปัตยกรรมอันลำค่าแล้ว ยังมีประวัติที่โลดโผนตื่นเต้นของเจ้าบ้านที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เกิดขึ้นในจังหวัดแพร่และประเทศไทยอยู่หลายช่วง หลังจากพระวิชัยราชาถึงได้อสัญกรรมประมาณปี พ.ศ. 2465 คุ้มวิชัยราชาหลังนี้ก็ตกเป็นของบุตรท่านเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ซึ่งเป็นศิษย์เอกของภราดา ฟ. ฮีแลร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วท่านได้เข้าทำงานบริษัท อิสเอเชียติก เมื่อได้ศึกษาวิธีการทำงานการบริหารงานจนช่ำชอง จึงลาออกมาประกอบอาชีพค้าไม้สัก จนร่ำรวยมหาศาล ท่านเป็น ส.ส. คนแรกของจังหวัดแพร่ เมื่อปี 2475 มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับบุคคลสำคัญในยุคนั้นเช่น ดร.ปรีดี พนมยงค์ พระยาพหลพยุหเสนา หลวงศรีประกาศ นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์ และได้สร้างเกียรติประวัติเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย จังหวัดแพร่ เพื่อกู้ชาติระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้บ้านหลังนี้เป็นศูนย์กลางประสานไปยังหนองม่วงไข่ เวียงต้าและอำเภอต่างๆ ของจังหวัด จากหน้า 142 ของหนังสือตลบรอบ 100 ปี ชาติกาลรัฐบุรุษอาวุโส กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ นายปรีดี มีความประสงค์จะเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย ในเรื่องนี้ในเบื้องแรกนายปรีดีได้ขอให้เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ผู้แทนราษฎร์จังหวัดแพร่ จัดส่งคนที่ไว้ใจได้ออกไปเมืองจีน ” ซึ่งแสดงให้เห็นวถึงความไว้วางใจและสัมพันธ์อันแนบแน่นของบุคคลทั้งสอง เพราะบทบาทและวีรกรรมของขบวนการกู้ชาติเสรีไทยนี่เอง ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นฝ่ายแพ้สงคราม สามารถรักษาเกียรติภูมิศักดิ์ศรี และอธิปไตยของชาติไว้ได้อย่างหวุดหวิด

แต่ต่อมาเจ้าวงค์ และครอบครัวต้องประสบชะตากรรม สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งคุ้มวิชัยราชาเพราะถูกรัฐยึด เนื่องจากมาตรการชำระภาษีจากการศึกษาวิเคราะห์หาสาเหตุที่เจ้าวงค์ต้องมีอันเป็นไปนี้ เป็นไปได้ว่า คงเป็นเพราะความสัมพันธ์แนบแน่นกับท่านปรีดี พนมยงค์ จึงทำให้ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับแกนทำขบวนการเสรีไทยคนอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับหัวหน้าที่ผิดเพี้ยนไปคือไม่ได้โดนฆ่าแบบนายเตียง ศิริขันธ์ หรือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ฯลฯ ชีวิตในช่วงที่เหลือของท่านค่อนข้างอับเฉา จนมีบางคนกล่าวว่า ถ้าโดนฆ่าตายแบบคนอื่นจะดีกว่า เพราะไม่ต้องทุกข์ทรมาน เรื่องราวของเจ้าวงค์ แสนศิริพันธุ์ เป็นตำนานและเป็นสัจธรรมที่น่าศึกษายิ่ง

หลังจากเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2513 เจ้าสุนทร แสนศิริพันธุ์ บุตรของท่าน วิศวกรจากมหาลัยชิคาโก้ ได้รวบรวมช้างจำนวนหนึ่งข้ามไปทำป่าที่ประเทศลาว และได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่นั่น จนลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้กลับเมืองไทย ท่านเป็นผู้จัดการโรงงานกระดาษบางปะอิน ก่อนเสียชีวิตไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2527[2]

ใกล้เคียง

คุ้มวิชัยราชา คุ้มวงศ์บุรี คุ้มเจ้าหลวง (นครแพร่) คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) คุ้มรินแก้ว คุ้มเจ้าหนานไชยวงศ์ คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยหนู) คุ้มหลวงเวียงแก้ว คลุ้ม วัชโรบล