ค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หมายถึง การจ่ายค่าทดแทน การถ่ายโอนทรัพย์สินและเครื่องมือซึ่งเยอรมนีถูกบังคับให้กระทำภายหลังจากสนธิสัญญาแวร์ซาย ภายหลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยมาตรา 231 ว่าด้วยความผิดฐานเป็นผู้ริเริ่มสงคราม เยอรมนีและพันธมิตรถูกบังคับให้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียของฝ่ายพันธมิตรทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากสงคราม และจำเป็นต้องจ่ายในรูปของค่าปฏิกรรมสงครามในเดือนมกราคม ค.ศ. 1921 คณะกรรมการค่าปฏิกรรมสงครามระหว่างฝ่ายพันธมิตรประกาศจำนวนเงินทั้งหมดทึ่เยอรมนีต้องชดใช้คิดเป็น 269,000 ล้านมาร์ก (ทองคำบริสุทธิ์ราว 100,000 ตัน) หรือคิดเป็นกว่า 23,600 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งคิดเป็น 785,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามค่าเงินในปี ค.ศ. 2011[1]) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากในยุคนั้นมองว่ามากเกินกว่าจะยอมรับได้[2] จำนวนเงินที่เยอรมนีต้องผ่อนชำระในแต่ละปีได้รับการลดลงใน ค.ศ. 1924 และใน ค.ศ. 1929 จำนวนเงินที่ต้องชำระทั้งหมดได้ลดจำนวนลงมากกว่า 50% การผ่อนชำระยุติลงเมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี ก้าวขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 1933 โดยมีการชำระค่าปฏิกรรมสงครามไปแล้วหนึ่งในแปดของทั้งหมด[2] การผ่อนชำระงวดสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2010 ตรงกับวันครบรอบยี่สิบปีการรวมประเทศเยอรมนี[2]