ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเยอรมนี ของ ค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีต่อการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม และความไม่พอใจของชาวเยอรมันที่มีต่อการลงโทษดังกล่าว มักจะถูกพิจารณาว่าเป็นสาเหตุที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของสาธารณรัฐไวมาร์ และการเริ่มต้นของการปกครองแบบเผด็จการในเยอรมนี ที่เรียกว่า นาซีเยอรมนี ส่วนบางคนได้ทำนายเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายจะก่อให้เกิดผลกระทบเช่นนี้[6] โดยมีนักประวัติศาสตร์ผู้โด่งดังเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับการอ้างเหตุผลดังกล่าว อย่างเช่น มาร์กาเรต แมกมิลแลน โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณูปโภคระหว่างช่วงการถอยทัพของทหารเยอรมันก็ได้นำมาพูดถึงด้วย จากที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Peacemakers: The Paris Peace Conference of 1919 and Its Attempt to End War อธิบายถึงการอ้างสิทธิ์ของฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม "จากจุดเริ่มต้น ฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม อ้างสิทธิ์ให้มีการกระจายค่าปฏิกรรมสงครามามลำดับของผลกระทบจากความเสียหาย ในเขตอุตสาหกรรมหนักทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เยอรมนีได้ลำเลียงเอาสิ่งที่ต้องการออกไปเป็นจำนวนมากและทำลายส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมด แม้ว่ากองทัพเยอรมันจะล่าถอยในปี ค.ศ. 1918 แต่ก็ยังสามารถเจียดเวลาออกไประเบิดเหมืองถ่านหินซึ่งมีความสำคัญของฝรั่งเศสได้อยู่ดี"[7] อย่างไรก็ตาม เบลเยี่ยมไม่ได้รับค่าปฏิกรรมสงครามตามที่เคยสัญญาเอาไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย เนื่องจากฝรั่งเศสและอังกฤษเองต่างก็มีหนี้ที่ตนต้องชำระอยู่เช่นเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน แซลลี มาร์กส์ ให้ความเห็นว่า เคนส์ได้ตกหลุมรักคาร์ล เมนชีออร์ สมาชิกคณะผู้แทนเยอรมัน และระบุว่ามุมมองเกี่ยวกับค่าปฏิกรรมสงครามนั้น "... ก่อตัวขึ้นจากความหลงใหลในตัวคาร์ล เมนชีออร์ นักการเงินชาวเยอรมันและผู้เชี่ยวชาญด้านค่าปฏิกรรมสงครามที่เขาพบระหว่างการเจรจาที่สปาไม่นานหลังจากมีการสงบศึก"[8]

นักเศรษฐศาสตร์อย่างเช่นเคนส์ประเมินว่าการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในเรียงความ Versailles and International Diplomacy ในหนังสือ The Treaty of Versailles: A Reassessment after 75 Years วิลเลียม อาร์. เคย์เลอร์ ได้แสดงทัศนะ ว่า "การเพิ่มปริมาณภาษีและการลดการบริโภคในสาธารณรัฐไวมาร์ จะช่วยเพิ่มยอดรายได้จากการส่งออกเพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศที่จำเป็นสำหรับการชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงคราม"[9] อย่างไรก็ตาม รายได้จากการส่งออกและผลของการขาดดุลในการส่งออกทำให้เกิดเป็นสถานการณ์ทางการเมืองอันยากยิ่ง ซึ่งอันที่จริงแล้ว มันก็เป็นสาเหตุของการประท้วงหยุดงานทั่วประเทศในสหราชอาณาจักร ค.ศ. 1926

ส่วนคนบางกลุ่มได้โต้แย้งว่า การพิจารณาว่าการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามนั้นเป็นสาเหตุหลักของสภาพทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1919-1939 นั้นเป็นความเข้าใจผิด โดยอ้างเหตุผลว่า เยอรมนีได้ชำระค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินส่วนน้อย และอัตราเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1920 นั้นเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในสาธารณรัฐไวมาร์เอง ในความเป็นจริงแล้ว การยึดครองแคว้นรูร์โดยฝรั่งเศสนั้น แท้จริงแล้วสร้างความเสียหายให้แก่เยอรมนีมากกว่าค่าปฏิกรรมสงครามเสียอีก ส่วนอีกด้านหนึ่งได้กล่าวว่า การจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุเดียวของสภาพทางเศรษฐกิจ อันนำไปสู่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ในความเป็นจริงแล้ว เยอรมนีได้ทำสิ่งที่น่าทึ่งหลังจากสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในปี ค.ศ. 1923 และกลับมาเป็นประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง

สภาพทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินไปได้ด้วยดีจนกระทั่งการลงทุนจากต่างชาติ และการกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าปฏิกรรมสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่ม ทำให้ปัญหานี้ขยายขึ้นเนื่องจากการกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ชาวอเมริกันโดยบริษัทเยอรมัน แม้ว่าค่าปฏิกรรมสงครามที่ถูกจำกัดลงตามแผนการดอวส์ จะได้รับเงินในปริมาณมากผ่านทางการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 เป็นต้นมา ทางการเยอรมัน "เต็มไปได้วยผู้ให้กู้จากต่างชาติ"[10] ทำให้หนี้ค่าปฏิกรรมสงครามซึ่งจ่ายเป็นรายปีถูกบีบลงเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

และแนวคิดของเอ. เจ. พี. เทย์เลอร์ ในหนังสือเรื่อง The Origins of the Second World War ว่า การเรียกค่าปฏิกรรมสงครามดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เด็ดขาด ซึ่งการลงโทษดังกล่าวถือได้ว่ารุนแรง แต่ไม่อาจยับยั้งเยอรมนีไม่ให้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง และในทศวรรษเดียวเท่านั้นที่เยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้อีกครั้งหนึ่ง