อิทธิพลในราชสำนักอังกฤษ ของ จอห์นแห่งกอนต์_ดยุกที่_1_แห่งแลงแคสเตอร์

หลังบรรลุการทำสนธิสัญญาพักรบในปี ค.ศ. 1375 พระองค์ได้เดินทางกลับอังกฤษ พระองค์ได้ผูกมิตรกับกลุ่มข้าราชสำนักที่ทุจริตฉ้อฉลซึ่งนำโดยอาลิซ เพอร์เรอร์ สนมลับของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ผู้สูงวัย ในช่วงที่กษัตริย์อยู่ในสภาวะเลอะเลือน จอห์นทำหน้าที่เสมือนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน การขึ้นครองอำนาจทางการเมืองของพระองค์ทำให้ความไม่พอใจต่ออิทธิพลในอังกฤษของพระองค์ขยายออกไปเป็นวงกว้าง กองทัพอังกฤษประสบความล้มเหลวในสงครามร้อยปี การปกครองของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ก็เริ่มไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากการเรียกเก็บภาษีที่สูงและความสัมพันธ์ชู้สาวของพระองค์กับอาลิซ เพอร์เรอร์ ความล้มเหลวทางการทหาร, การบริหารราชการที่ทุจริตฉ้อฉล และการวางตัวอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสภานิติบัญญัติอันดีงามสร้างกระแสเกลียดชังในตัวจอห์น กระทั่งในปี ค.ศ. 1376 กลุ่มของพระองค์ถูกสภานิติบัญญัติอันดีงามขับไล่ออกจากอำนาจ แต่ไม่นานจอห์นก็รวบรวมสมัครพรรคพวกได้อีกครั้ง

ปี ค.ศ. 1377 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 สิ้นพระชนม์ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกที่ชีน ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์คือพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 พระนัดดาวัย 10 พรรษา หลังหลานชาย (ลูกของพี่น้อง) ขึ้นครองราชย์อิทธิพลในราชสำนักของจอห์นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น จอห์นกลายเป็นผู้ปกครองตัวจริงของอังกฤษในช่วงที่กษัตริย์น้อยอยู่ในวัยเยาว์ ทรงให้คำปรึกษาในการทำสงครามกับฝรั่งเศสและเป็นผู้ดูแลพรมแดนที่ติดกับสกอตแลนด์ ในปี ค.ศ. 1380 พระองค์ได้ทำสนธิสัญญาพักรบกับชาวสกอตแลนด์และได้รับมอบหมายให้ปราบกบฏหลายครั้งในปีต่อมา

การตัดสินใจเรื่องการเก็บภาษีที่ไม่ค่อยฉลาดสะสมความไม่พอใจจนก่อเกิดการปฏิวัติชาวนาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1381 จอห์นแห่งกอนต์ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการในการเรียกเก็บภาษี พระองค์ต้องออกจากลอนดอนในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อหนีความโกรธเคืองของกลุ่มกบฏ ทว่าพระราชวังซาวอยของพระองค์ซึ่งถูกมองว่าเป็นคฤหาสน์ขุนนางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลอนดอนสมัยกลางได้ถูกทำลาย ชิ้นส่วนที่กลุ่มชาวนาไม่สามารถพังหรือเผาได้ถูกโยนลงแม่น้ำ

แม้จะถูกข้าราชสำนักฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าทรยศต่อชาติแต่จอห์นก็ยัคงได้รับการหนุนหลังอันล้ำค่าจากพระเจ้าริชาร์ด พระองค์ยังคงรับใช้กษัตริย์ต่อไป จอห์นเป็นผู้เจรจาสันติภาพกับฝรั่งเศสและเป็นผู้จัดการเรื่องพรมแดนที่ติดกันสกอตแลนด์ ทว่าในปี ค.ศ. 1385 พระองค์ได้ขัดแย้งกับกษัตริย์แต่ต่อมาก็ได้คืนดีกัน พระองค์ยังคงทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างกษัตริย์กับฝ่ายตรงข้ามต่อไป

ภาพวาดดยุคแห่งแลงคัสเตอร์ขณะกำลังร่วมรับประทานมื้อเย็นกับกษัตริย์แห่งโปรตุเกส

พระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา พระบิดาของกอนส์ตันซาถูกเอนริเกแห่งกัสติยา พระอนุชาต่างมารดาฆาตกรรมและได้แย่งชิงบัลลังก์ที่กอนส์ตันซา พระธิดาคนโตของพระเจ้าเปโดรเป็นทายาทโดยชอบธรรม จอห์นได้เข้าไปพัวพันกับการสู้รบในคาบสมุทรไอบีเรีย เนื่องจากตามกฎของสเปนสามีของทายาทหญิงในบัลลังก์ถือเป็นกษัตริย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในปี ค.ศ. 1386 จอห์นได้ออกเดินทางจากอังกฤษไปอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์กัสติยาซึ่งเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของภรรยา ทรงจับมือเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าฌูเอาที่ 1 แห่งโปรตุเกสที่สมรสกับธิดาคนหนึ่งของพระองค์และนำทัพออกทำศึกกับพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา พระโอรสที่สืบทอดบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเอนริเกที่ 2 ทว่าความพยายามของจอห์นไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายในปี ค.ศ. 1388 พระองค์ได้ทำข้อตกลงสันติภาพโดยยกการอ้างสิทธิ์ให้เป็นของแคทเธอรีน ธิดาที่เกิดจากกอนส์ตันซาแห่งกัสติยาซึ่งถูกจับเธอสมรสกับพระเจ้าเอนริเกที่ 3 แห่งกัสติยา (ขณะนั้นยังไม่เป็นกษัตริย์) อันเป็นการรวมการอ้างสิทธิ์จากทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน

ในช่วงที่จอห์นไม่อยู่ การบริหารกิจการภายในที่ผิดพลาดของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ทำให้อังกฤษตกอยู่ในสงครามกลางเมือง เมื่อเดินทางกลับมาในปี ค.ศ. 1389 จอห์นได้เป็นคนกลางทำให้พระเจ้าริชาร์ดกับกลุ่มลอร์ดผู้อุทธรณ์ซึ่งนำโดยธอมัสแห่งวูดสต็อค ดยุคแห่งกลอสเตอร์ พระอนุชาของพระองค์ประนีประนอมกัน นำไปสู่ยุคแห่งเสถียรภาพ สี่เดือนหลังกลับมาอังกฤษ พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ได้แต่งตั้งจอห์นเป็นดยุคแห่งอากีแตนในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1390