การก้าวขึ้นสู่อำนาจ ของ จักรพรรดินีมย็องซ็อง

จักรพรรดินีมย็องซ็อง พระราชสมภพเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1851 ที่เมืองยอจู (เกาหลี: 여주) จังหวัดคย็องกี[1]ในปัจจุบัน เป็นธิดาของมินชีรก (เกาหลี: 민치록 閔致祿) ขุนนางชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง จากตระกูลมินแห่งยอฮึง (เกาหลี: 여흥민씨 驪興閔氏 ตระกูลเดียวกันกับพระมเหสีอินฮยอน) เนื่องจากกฎหมายที่ห้ามการบันทึกพระนามเดิมของพระมเหสีของราชวงศ์โชซอน ทำให้นักประวัติศาสตร์ไม่ทราบว่าพระจักรพรรดินีมย็องซ็องนั้นมีพระนามเดิมว่าอย่างไร (พระนามที่ปรากฏในภาพยนตร์และบทละครนั้นเป็นสิ่งที่ถูกแต่งขึ้น) ค.ศ. 1858 เมื่อพระชนมายุ 7 พรรษา ทั้งบิดาและมารดาของนางมินได้เสียชีวิตลง เป็นเหตุให้ทรงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงไปเป็นธิดาบุญธรรมของมินชีกู (เกาหลี: 민치구 閔致久) ผู้เป็นญาติห่างๆ

ค.ศ. 1866 เมื่อพระเจ้าโกจงมีพระชนมพรรษา 15 พรรษาถึงเวลาอภิเษกสมรส สมเด็จพระราชอัยยิกาจากตระกูลโจ (เกาหลี: 대왕대비조씨 大王大妃趙氏) ผู้สำเร็จราชการแทน และองค์ชายแทวอน ฮึงซอน (เกาหลี: 흥선대원군 興宣大院君) พระบิดาของพระเจ้าโกจงเป็นผู้คัดเลือกพระมเหสีองค์ใหม่ เนื่องจากพระมารดาของพระเจ้าโกจงคือ เจ้าหญิงยอฮึง (เกาหลี: 여흥부대부인 驪興府大夫人) นั้นเป็นธิดาของมินชีกู เจ้าหญิงยอฮึงจึงแนะนำบุตรสาวของมิชีรกซึ่งมินชีกูบิดาได้รับเลี้ยงไว้เป็นธิดาบุญธรรม ให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าโกจง ซึ่งเจ้าชายแทวอนฮึงซอนนั้นก็เห็นด้วยเนื่องจากว่าเป็นตระกูลของพระชายาของเจ้าชายแทวอนเอง ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลและบทบาทในราชสำนักน้อย ไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อเจ้าชายแทวอนในอนาคต พิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าโกจงพระชนมพรรษา 15 พรรษา และพระมเหสีจากตระกูลมินพระชนมายุ 16 พรรษา มีขึ้นเมื่อค.ศ. 1866 ที่พระราชวังอึนฮยอน (เกาหลี: 운현궁) ในโซล

ทรงเป็นสตรีที่ฉลาดและใฝ่การศึกษามาตั้งแต่เด็ก พระนางจึงมีบทบาทในการถวายคำปรึกษางานด้านต่าง ๆ ให้แก่ พระเจ้าโกจง และยังสามารถบริหารกิจบ้านเมืองได้ด้วยพระองค์เอง เช่นเดียวกับพระเจ้าโกจงอีกด้วย นอกจากนี้ พระนางยังสนใจในเรื่องการต่างประเทศเป็นพิเศษ ทรงศึกษาความเจริญของสังคมในประเทศต่าง ๆ พระนางยังมักเรียกเหล่าเสนาบดีที่คุ้นเคยเข้าปรึกษาราชการและโปรดให้ผู้รอบรู้สรรพวิชาต่าง ๆ อย่างเป็นพิเศษคอยถวายคำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ เสมอ ด้วยพระจริยาวัตรเช่นนี้ พระนางจึงมักเป็นที่ติฉินนินทากันในหมู่ชนชั้นสูงว่า พระนางพยายามจะทำตัวเสมือนบุรุษที่ชอบเข้าไปก้าวก่ายงานกิจการบ้านเมืองจนเกินงาม และด้วยความปราดเปรื่องของพระนางนี้เองจึงกลายเป็นความหวาดระแวงของพวกขุนนางผู้พยายามกุมอำนาจในวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสกุลโจ และ เจ้าชายแทวอน พระบิดาของพระเจ้าโกจง ซึ่งมีอำนาจปกครองประเทศในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนอยู่ในขณะนั้น

การดำรงตำแหน่งพระมเหสี ของพระมเหสีมิน ทำให้ขุนนางตระกูลมินขึ้นมามีอำนาจในราชสำนัก ค.ศ. 1868 พระสนมควีอินตระกูลลี (เกาหลี: 귀인이씨 貴人李氏) ประสูติพระโอรสองค์แรกแด่พระเจ้าโคจงพระนามว่า เจ้าชายวานฮวา (เกาหลี: 완화군 完和君) ซึ่งเจ้าชายแทวอนประสงค์จะแต่งตั้งเจ้าชายวานฮวาเป็นเจ้าชายรัชทายาท ทำให้สถานะของพระมเหสีมินไม่มั่นคง เมื่อค.ศ. 1871 พระมเหสีมินประสูติพระโอรสองค์แรกของพระองค์เองแต่ทว่าสิ้นพระชนม์ลงเมื่อพระชนมายุเพียงสามวัน เจ้าชายแทวอนตำหนิพระมเหสีมินว่าทรงไม่อาจทำหน้าที่ของภรรยาที่ดีได้ ในขณะที่พระมเหสีมินตรัสโทษโสมของเจ้าชายแทวอนที่ประทานแก่พระโอรสว่าเป็นต้นเหตุการสิ้นพระชนม์ ในค.ศ. 1873 กลุ่มขุนนางตระกูลมินได้สนับสนุนให้ขุนนางชื่อว่า ชเวอิกฮยอน (เกาหลี: 최익현 崔益鉉) ถวายฏีกาตำหนิการปกครองของเจ้าชายแทวอนว่ามีการทุจริตฉ้อฉล และร้องขอให้พระเจ้าโคจงทรงปกครองประเทศด้วยพระองค์เองเนื่องจากมีพระชนมายุเกินยี่สิบชันษาแล้ว พระเจ้าโคจงจึงทรงประกาศว่าจะว่าราชการด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้เจ้าชายแทวอนต้องทรงพ้นสภาพจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนไปโดยปริยาย ค.ศ. 1874 พระมเหสีมินประสูติพระโอรสอีกองค์หนึ่ง พระนามว่าเจ้าชายลีชอก ซึ่งต่อมาภายหลังคือพระเจ้าซุนจง

ใกล้เคียง

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิ จักรพรรดิยงเจิ้ง จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล จักรพรรดินีฟาราห์ ปาห์ลาวี

แหล่งที่มา

WikiPedia: จักรพรรดินีมย็องซ็อง http://english.chosun.com/w21data/html/news/200501... http://koreanstudies.com/ks/ksr/queenmin.txt http://www.network54.com/Forum/371173/thread/11076... http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?_r=1... http://www.pathfinder.com/asiaweek/98/1218/feat3.h... http://www.youtube.com/watch?v=JEAbR3MFwDo http://www.gkn-la.net/history_resources/queen_min.... http://www.gkn-la.net/history_resources/queen_min_... http://www.gutenberg.org/files/13368/13368-8.txt https://www.youtube.com/