ปกครองประเทศร่วมกับพระราชสวามี ของ จักรพรรดินีมย็องซ็อง

เมื่อกำจัดเจ้าชายแทวอนผู้เป็นพระบิดาของพระสวามีคือพระเจ้าโคจงออกไปได้แล้ว พระมเหสีมินก็ทรงเข้ามามีบทบาทในการปกครองประเทศอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ทรงเกรงกลัวข้อจำกัดของสตรีตามหลักของลัทธิขงจื้อแต่ประการใด พระมเหสีมินทรงแนะนำและมีอิทธิพลต่อการตัดสินพระทัยของพระเจ้าโคจงอย่างมาก ในค.ศ. 1875 รัฐบาลสมัยเมจิของจักรวรรดิญี่ปุ่นนำเรือรบชื่อว่า อุงโย (ญี่ปุ่น: 雲揚 โรมาจิUn'yō) เช้ามารุกรานเกาะคังฮวา อันเป็นดินแดนของอาณาจักรโชซอน เรียกร้องให้อาณาจักรโชซอนเปิดประเทศทำการติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่น หลังจากที่มีนโยบายปิดประเทศมาหลายร้อยปีจนได้ฉายาว่า อาณาจักรฤๅษี (Hermit Kingdom) ในที่สุดอาณาจักรโชซอนก็ยอมเปิดประเทศทำการติดต่อกับญี่ปุ่นเป็นชาติแรก เกิดเป็นสนธิสัญญาคังฮวา (เกาหลี: 강화도 조약) ขึ้น โดยโชซอนต้องเปิดเมืองท่าสามแห่งได้แก่ ปูซาน อินชอน และวอนซานให้เรือญี่ปุ่นได้เข้ามาเทียบท่า สนธิสัญญาคังฮวาเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียม โชซอนเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น และราชสำนักโชซอนจะต้องยินยอมให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำการสำรวจและต้าขายในเกาหลีโดยปราศจากการขัดขวาง

การเปิดประเทศทำให้ราชสำนักเกาหลี โดยเฉพาะพระมเหสีมิน ได้มีโอกาสรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก การคุกคามจากชาติตะวันตกและเทคโนโลที่ทันสมัย พระมเหสีมินทรงตระหนักว่าอาณาจักรโชซอนจะอยู่รอดได้ต้องมีการพัฒนาปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยโดยการดูตัวอย่างจากญี่ปุ่น แต่ในทางการเมืองเนื่องจากทรงเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามและอาณาจักรโชซอนเป็นประเทศราชของจักรวรรดิจีนมาช้านาน จึงทรงมีนโยบายสานความสัมพันธ์กับราชสำนักราชวงศ์ชิงอย่างแน่นแฟ้นเพื่อเป็นคานอำนาจกับอิทธิพลของญี่ปุ่นในเกาหลี การพัฒนาอย่างแรกคือการปรับปรุงกองกำลังทหารและกองทัพให้มีอาวุธที่ทันสมัย และได้รับการฝึกหัดอย่างตะวันตก โดยพระมเหสีมินทรงให้มินกยอมโฮ (เกาหลี: 민겸호 閔謙鎬) ผู้เป็นพระเชษฐาบุญธรรมเป็นแกนนำในการปรับปรุงกองกำลังทหาร และได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นในการจัดตั้งกองกำลังพิเศษซึ่งติดอาวุธแบบใหม่ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้สร้างความไม่พอใจแก่ทหารกลุ่มดั้งเดิมที่ไม่ได้รับการพัฒนา และเนื่องจากราชสำนักโชซอนมีนโยบายต่อทหารสองกลุ่มนี้อย่างไม่เท่าเทียม ทหารกลุ่มเก่าจึงก่อการกบฏขึ้นในค.ศ. 1882 เรียกว่า กบฏปีอีโม (เกาหลี: 임오군란) กองกำลังทหารกลุ่มเก่าเข้าบุกยึดพระราชวังคย็องบกเข้าทำการสังหารทหารกลุ่มใหม่ รวมทั้งมินกยอมโฮและชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง เป็นเหตุให้พระเจ้าโคจงและพระมเหสีมินต้องเสด็จหลบหนีออกจากพระราชวังไปยังเมืองชองจู จังหวัดชุงช็องเหนือในปัจจุบัน กลุ่มทหารกบฏยกเจ้าชายแทวอนให้กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง แต่ทว่าทางฝ่ายราชวงศ์ชิงได้เข้าช่วยเหลือพระมเหสีมินโดยการส่งกองทัพจำนวน 4,500 นำโดยหลี่หงจาง (จีน: 李鴻章 Lǐ Hóngzhāng) เข้ามายังโซลเพื่อทำการปราบกบฏลงได้สำเร็จ จับองค์เจ้าชายแทวอนกลับไปยังเมืองเทียนจิน พระมเหสีมินพร้อมพระสวามีจึงเสด็จนิวัติพระราชวังได้ในที่สุด

ในขณะนั้นขุนนางในราชสำนักโชซอนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายซาแด อันเป็นขุนนางที่สนับสนุนนโยบายของพระมเหสีมิน คือ การยึดความสัมพันธ์กับจีนราชวงศ์ชิงเป็นหลัก และมีการพัฒนาประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ฝ่ายก้าวหน้า ต้องการให้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องการให้เกาหลีมีสิทธิเสรีภาพเฉกเช่นเดียวกับชาติตะวันตก และเห็นว่าเกาหลีควรที่จะสร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นมากกว่า ในค.ศ. 1884 ขุนนางกลุ่มก้าวหน้าหรือกลุ่มแคฮวา (เกาหลี: 개화당) นำโดย คิมอ็กกยุน (เกาหลี: 김옥균) และพัคยองฮโย (เกาหลี: 박영효) นำกองกำลังเข้ายึดพระราชวังคยองบก เรียกว่า การยึดอำนาจปีคัปชิน (เกาหลี: 갑신정변) เข้าทำการสังหารขุนนางฝ่ายซาแดรวมทั้งมินแทโฮพระเชาฐา แต่ทว่าพระมเหสีมินทรงได้รับการสนับสนุนทางทหารจากราชวงศ์ชิงอยู่เดิม และทรงร้องขอให้ราชสำนักราชวงศ์ชิงเข้าช่วยเหลือ ราชวงศ์ชิงส่งหยวนซื่อไข่ (จีน: 袁世凱 Yuán Shìkǎi) นำกองทัพจีนจำนวน 1,500 คน เข้ามาทำการปราบกบฏได้สำเร็จเพียงสามวันหลังจากก่อการ

ในช่วงปลายราชวงศ์โชซอนการปกครองและสังคมของเกาหลีกำลังเสื่อมโทรม ลัทธิทงฮัก (เกาหลี: 동학) ได้ถือกำเนิดขึ้น อันเป็นลัทธิที่ต่อต้านการปกครองของราชสำนักโชซอน เรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและสิทธิมนุษยชน และได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนา ลัทธิทงฮักเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านในมณฑลคยองซังทางตอนใต้ ค.ศ. 1894 ชาวบ้านในมณฑลช็อลลาซึ่งไม่พอใจการปกครองของขุนนางท้องถิ่นและตระกูลมินได้ก่อการกบฏขึ้น เรียกว่า กบฏชาวบ้านทงฮัก (เกาหลี: 동학 농민 운동) นำโดย ช็อนบงจุน (เกาหลี: 전봉준) เข้ายึดอำนาจจัดตั้งการปกครองตนเอง สามารถเข้ายึดเมืองช็อนจูได้ และยกทัพบุกนครฮันซอง พระมเหสีมินจึงทรงขอความช่วยเหลือไปยังราชสำนักต้าชิงเพื่อขอความช่วยเหลืออีกครั้ง ฝ่ายต้าชิงจึงส่งหลี่หงจางนำทัพจีนจำนวนประมาณ 2,500 คน เข้ามาในเกาหลีเพื่อทำการปราบกบฏทงฮักลงได้เป็นผลสำเร็จ แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ในค.ศ. 1885 จักรวรรดิจีนและจักรวรรดิญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงเทียนจิน (Convention of Tienjin) ว่าแต่ละฝ่ายจะไม่ส่งกองกำลังทหารเข้าแทรกแซงการเมืองของเกาหลี เว้นแต่จะเป็นไปเพื่อพิทักษ์ทรัพส์สินและบุคคลของชาติตนเอง การที่จีนยกทัพเข้าปราบกบฏทงฮักนั้นจึงเป็นการละเมิดข้อตกลงเทียนจิน สร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายญี่ปุ่น จึงเกิดเป็นสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (First Sino-Japanese War) ผลคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายจีน นำไปสู่สนธิสัญญาชิโมะโนะเซะกิ (Treaty of Shimonoseki) ในค.ศ. 1895 ให้จักรวรรดิจีนราชวงศ์ชิงยุติบทบาททุกประการในเกาหลี โดยที่เกาหลีพ้นจากการเป็นประเทศราชของราชวงศ์ชิง

ชัยชนะของญี่ปุ่นในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทแทนที่จีนในเกาหลี ฝ่ายพระมเหสีมินเมื่อขาดการสนับสนุนจากจีน จึงทรงค้นหามหาอำนาจใหม่เพื่อคานอำนาจกับญี่ปุ่น นั่นคือจักรวรรดิรัสเซีย

ใกล้เคียง

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิ จักรพรรดิยงเจิ้ง จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล จักรพรรดินีฟาราห์ ปาห์ลาวี

แหล่งที่มา

WikiPedia: จักรพรรดินีมย็องซ็อง http://english.chosun.com/w21data/html/news/200501... http://koreanstudies.com/ks/ksr/queenmin.txt http://www.network54.com/Forum/371173/thread/11076... http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?_r=1... http://www.pathfinder.com/asiaweek/98/1218/feat3.h... http://www.youtube.com/watch?v=JEAbR3MFwDo http://www.gkn-la.net/history_resources/queen_min.... http://www.gkn-la.net/history_resources/queen_min_... http://www.gutenberg.org/files/13368/13368-8.txt https://www.youtube.com/