ประวัติ ของ จักรพรรดิหย่งเล่อ

เจ้าชายจูตี้เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ของจูหยวนจาง ก่อนจูตี้ประสูติ 8 ปี (ใน ค.ศ. 1352) เกิดน้ำท่วมหลายแห่งในจีน ทำให้ทั่วอาณาจักรได้รับความเดือดร้อน เกิดกลุ่มกบฏขึ้นมากมาย จูหยวนจางเข้าร่วมกับกบฏเพราะได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน จูหยวนจางได้ขึ้นเป็นผู้นำอย่างรวดเร็วปี ค.ศ. 1356 กองทัพของจูหยวนจางเข้ายึด นานกิง อันเป็นการตัดเสบียงเมืองต้าตู (ปักกิ่ง) เมื่อจูตี้มีพระชนมายุได้ 8 ชันษากองทัพของพระบิดาก็เข้าสู่เมืองต้าตู โตกัน เตมูร์ จักรพรรดิมองโกลองค์สุดท้ายเสด็จหนีออกจากจีน ไปยังทุ่งหญ้าทางเหนือ จูหยวนจางสถาปนาราชวงศ์หมิง ต่อมาจูตี้ได้เข้าร่วมกองทัพปราบยูนนาน ในปี ค.ศ. 1382 พระองค์ได้รับคำสั่งให้ทำลายเมืองคุนหมิงที่มั่นที่ยังเหลือของมองโกล เด็กชายมองโกลนับพันถูกตอนเป็นขันทีในราชสำนัก

หลังจากที่เจ้าชายจูตี้ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงแล้ว พระองค์ก็ได้เฉลิมพระนามว่าหมิงเฉิงจู่ (成 祖) ใช้ศักราชว่า หย่งเล่อ (永 乐) พระองค์ทรงมีราชโองการให้ประหารขุนนาง เนื่องจากทรงระแวงว่าขุนนางเหล่านั้นจงรักภักดีต่อพระนัดดาของพระองค์ซึ่งมีจำนวนกว่า 870 คน นอกจากนี้ยังดำเนินนโยบายลดทอนอำนาจเจ้าองค์อื่น ๆ อย่างเข้มงวด เช่น ห้ามมีกองทหารประจำเมืองให้มีได้แต่ทหารรักษาพระองค์จำนวนหนึ่ง ห้ามเจ้าแต่ละเมืองติดต่อกันเองโดยไม่ได้รับพระราชานุญาต ภารกิจแรกที่พระองค์ทำคือดำริย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เป่ยผิงอันเป็นฐานที่มั่นของพระองค์ด้วยเหตุผลว่าป้องการรุกรานของชนกลุ่มน้อยทางเหนือ พ.ศ. 1947 (ค.ศ. 1404) มีราชโองการให้อพยพคนมากมายหลายแสนคนจาก เมืองนานกิง มณฑลซานซี และมณฑลเจ้อเจียง แบ่งเป็น 5 สายเข้ามายังปักกิ่ง พร้อมกับเป็นการหาแรงงานเพื่อสร้างพระราชวังที่ประทับของจักรพรรดิในเมืองหลวง ซึ่งก็คือ "พระราชวังต้องห้าม"

ในการนี้ต้องเกณฑ์คนหนึ่งแสนพร้อมกับช่างฝีมืออีกหลายพันคน การก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามนี้กินระยะเวลานานถึง 15 ปี พระองค์ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามแห่งนี้เป็นอย่างมากโดยในปี พ.ศ. 1949 (ค.ศ. 1406) ได้เสด็จมาตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ. 1956 (ค.ศ. 1413) พระองค์จึงทรงย้ายจากกรุงนานกิงมาประทับที่กรุงปักกิ่ง เป็นการถาวร แต่ดูเหมือนสวรรค์จะไม่ยินดีกับพระราชวังแห่งนี้เท่าใดนัก เพราะเพียงไม่กี่เดือนหลังเฉลิมพระมณเฑียรก็มีฟ้าผ่าลงพระที่นั่งและเกิดเพลิงไหม้อาคารต่างๆ หลายหลัง ซ้ำยังเกิดแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 1959 (ค.ศ. 1416) จนต้องซ่อมแซมกว่าจะสำเร็จก็นานถึง 4 ปี แต่พระองค์กลับมีโอกาสได้ประทับอยู่ในพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้ไม่เกิน 4 ปี เพราะต้องนำทัพออกไปรบกับพวกมองโกลถึง 4 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 1953 1965 1966 และ 1967

ในปี พ.ศ. 1946 (ค.ศ. 1403) พระองค์มีราชโองการโปรดให้ราชบัณฑิตกว่าสองพันคน พร้อมด้วยผู้อำนวยการใหญ่ 5 คน รองผู้อำนวยการอีก 20 คน จัดทำ “หย่งเล่อต้าเตี่ยน” สารานุกรมรวบรวมความรู้ทางวิชาการสาขาต่าง ๆ ทั้งหมด ใช้เวลาจัดทำ 4 ปี เป็นหนังสือกว่า 22,937 บรรพ มหาสารานุกรมชุดนี้มีต้นฉบับ 1 ชุดและสำเนาอีก 2 ชุดเก็บรักษาไว้แต่หายสาบสูญไปจนปัจจุบันเหลือเพียง 370 บรรพ

พระราชภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือโปรดให้จัดสร้างกองเรือ “เป่าฉวน” ที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะนั้นมีทั้งสิ้น 62 ลำ ลำที่ยาวที่สุดวัดได้ 140 เมตร กว้าง 60 เมตร แต่ละลำประกอบด้วย ทหาร นายแพทย์ ล่าม นายกองเรือคือ เจิ้งเหอ (郑 和) ขันทีคนสนิทของพระองค์ที่เดินทางออกทะเลล่องไปทั่วโลก 7 ครั้งในรอบ 28 ปี ไปไกลถึง อินเดีย แอฟริกา นำสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับชาติต่าง ๆ รวมทั้งเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาตรงกับรัชกาลของสมเด็จเจ้านครอินทร์ และนำของหายากกลับมาถวายองค์จักรพรรดิ เจิ้งเหอนำกองทัพเรือจีนออกทะเลครั้งแรกเมื่อศักราชหหย่งเล่อปีที่ 3 เดือน 7 ตรงกับ พ.ศ. 1948 (ค.ศ. 1405) โดยออกเดินทางจากท่าเรือหลิวเจียก่าง มณฑลซูโจว หมิงเฉิงจู่สวรรคตขณะยกทัพกลับจากไปรบพวกมงโกลเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 1967 (ค.ศ. 1424) พระศพถูกเชิญไปบรรจุที่สุสาน ฉานหลิง

คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ:
จักรพรรดิหย่งเล่อ
บทความเกี่ยวกับชีวประวัตินี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มข้อมูล

ใกล้เคียง

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิ จักรพรรดิคังซี จักรพันธ์ แก้วพรม จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล จักรพรรดินีโคไลที่ 2 แห่งรัสเซีย จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย