ประชากรศาสตร์ ของ จังหวัดสุรินทร์

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 [11] จังหวัดสุรินทร์มีประชากรทั้งสิ้น 1,380,399 คน แยกเป็นชาย 690,644 คน หญิง 689,755 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 170 คน/ตร.กม. มีจำนวนประชากรมากเป็นลำดับที่ 10 ของประเทศไทย และมีความหนาแน่นเฉลี่ยเป็นลำดับที่ 18 ของประเทศไทย

กลุ่มชาติพันธุ์

ชาวไทยกูย - กวย - เยอ

กูย หรือกวย คำที่ใช้เรียกชนชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง คำว่า กูย หรือ กวย  เป็นคำนาม เมื่ออยู่โดดๆ ไม่ได้แปลว่า คน หรือ ใคร เพียงเท่านั้น แต่หมายถึง ชื่อเรียกชนชาติพันธุ์เก่าแก่ชนชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งมีอารยธรรมอันดีงามร่วมกันกับชนเผ่าอื่นในดินแดนสุวรรณภูมิ  เช่นชาวกูยในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ  และจังหวัดอื่นๆแถบอีสานใต้ในปัจจุบัน และในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น  กัมพูชาและลาว  ก็ยังพบชนชาติพันธุ์นี้อาศัอยู่กันเป็นจำนวนมากหลายหมู่บ้านตำบล  และนอกจากนี้ คำว่า กูย ยังหมายรวมถึง ภาษากูย อีกด้วย ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดคุยสื่อสารกันในชีวิตประจำวันที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ชาวกูย หรือกวย มีรูปร่างลักษณะผิวค่อนข้างคล้ำ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ รวมไปถึง ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุดรธานี นครราชสีมา ชาวกูยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เคยครอบครองดินแดนแถบที่ราบสูงในเขตเทือกเขาพนมดงรัก และลงไปจนถึงแถบทะเลสาบในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน รวมไปถึงถึงในเขตลาวใต้ (เช่น จำปาศักดิ์ อัตตะปือ แสนปาง เป็นต้น) และเวียดนามใต้บางส่วน ซึ่งเป็นดินแดนดั้งเดิม ในสมัยอยุธยาเคยส่งราชทูตเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรอยุธยา และมีการบันทึกไว้ว่ามีสิทธิทางการค้าเท่าเทียมพ่อค้าชาวตะวันตก บรรพบุรุษในอดีตมีการเดินทางค้าขาย การย้ายถิ่นที่อยู่ไปมาระหว่างกันเสมอ ชาวกูยมีภาษาพูด มีการนับเลขเป็นระบบฐานสิบ และในอดีตมี อักษรเป็นของตนเองแต่ได้ขาดหายไปอย่างไม่ปรากฏร่องรอย ชาวกูย/กวยในปัจจุบันเชี่ยวชาญด้านวิศวกร สถาปนิก แพทย์ การปกครอง ครูบาอาจารย์ นักบวช ชาวกูยส่วนใหญ่สามารถพูดสื่อสารภาษาถิ่นในแถบอิสานใต้ได้หลายภาษา ทั้งภาษากูย กวย ภาษาลาว และภาษาเขมร นิยมพูดภาษาเป็น 2 กลุ่ม คือ กูย - ลาว อยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ และนครราชสีมาบางพื้นที่ ซึ่งพูดภาษากูยในปัจจุบันมีคำภาษาลาวปนอยู่ด้วยบางคำ และกูย - เขมร อยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีตอนล่าง ชาวไทยกูยอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดที่อำเภอศีขรภูมิ สำโรงทาบ จอมพระ สังขะ บัวเชด ศรีณรงค์ สนม ลำดวน ท่าตูม บางส่วนของอำเภอเมือง เขวาสินรินทร์ และกาบเชิง ปัจจุบันนับถือพุทธศาสนา พราหมณ์ ผสมความเชื่อผีบรรพบุรุษ

ชาวไทยเขมร (ขะแมร์)

มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์-บุรีรัมย์ ชาวเขมรส่วนใหญ่มีลักษณะผิวขาวเหลือง - ค่อนข้างคล้ำ มีภาษาพูดเป็นของตนเอง ภาษาเขมรป่าดงคล้ายภาษาเขมรในกัมพูชา แต่เสียงเพี้ยนกันอยู่บ้าง เขมรป่าดงแต่เดิมนับถือศาสนาพราหมณ์และผีบรรพบุรุษ ปัจจุบันหันมานับถือพุทธศาสนา ชาวเขมรส่วนใหญ่ชอบและเชี่ยวชาญงานด้านการเกษตร ประมง การเลี้ยงสัตว์ งานบริการ และการละเล่นดนตรี เนื่องบริเวณแอ่งที่ราบลุ่มทะเลสาบโตนเลไปจนถึงบริเวณแถบเวียดนามใต้ในปัจจุบันเป็นพื้นที่เหมาะแก่การทำการเกษตรและเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญมาแต่สมัยโบราณ ชาวเขมรอพยบขึ้นมาอาศัยอยู่ในแถบสุรินทร์ และอิสานใต้ต่อเนื่องมา และในช่วงปีพ.ศ. 2324 ทางฝ่ายเขมรเกิดการจลาจล โดยเจ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิมลราช (ฮู) ฝักใฝ่ในทางญวน และสมัยที่นางดามบุตรีเจ้าเมืองประทายเพชร ซึ่งเป็นนายของตนมาเป็นสะใภ้หลานชายชาวกูยเจ้าเมืองสุรินทร์ จึงพากันอพยพตามเจ้านายมาอยู่ที่เมืองคูประทาย (เมืองสุรินทร์) เป็นอันมาก และอพยพเข้ามาอีกหลายครั้งในช่วงฝรั่งเศสปกครองและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ชาวไทยลาว

จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์ จึงมีเชื้อสายไทยลาวเหมือนกับหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยได้ใช้ภาษาและวัฒนธรรมที่เมือนกันกับชาวไทยลาวโดยทั่วไป แต่ก็จะมีอยู่ที่แตกต่างในเรื่องของภาษาบ้างในแต่ละท้องถิ่น ชาวไทยลาวอพยบเข้ามาในประเทศไทยหลายครั้งด้วยเหตุหลาย ๆ ประการ

ชาวไทยจีน

ชาวจีนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาก่อตัวเป็นชุมชนขึ้นในจังหวัดสุรินทร์นั้น สาเหตุหลัก ๆ มาจากปัญหาการลี้ภัยสงคราม การแตกพ่ายของก๊กต่าง ๆ การเกณฑ์แรงงานทาสที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานมาหลายพันปีของราชวงศ์ต่าง ๆ สงครามฝิ่นกับอังกฤษและชาติต่าง ๆในยุโรป ซึ่งสร้างความวุ่ยวายในแผนดินจีนถึง 100 ปี และต่อเนื่องมาถึงยุคการปฏิวัติประชาธิปไตยสมัย ดร.ซุนยัดเซ็น การปฏิวัติคอมมิวนิสต์นำโดยเหมา เจ๋อ ตง และสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นบุกจีน ที่ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 54 ปี ในระหว่าง พ.ศ. 2438–2492 ทำให้ประชาชนเดือดร้อนลำเค็ญโดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนในจังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง และทางแถบตอนใต้ของประเทศจีนในปัจจุบันได้อพยพลี้ภัยเข้ามายังเมืองไทยเป็นจำนวนมาก สายหนึ่งมาทางเรือ ขึ้นฝั่งที่เมืองบางกอก (กรุงเทพมหานคร) อีกสายหนึ่งผ่านเข้ามาทางเวียดนามและลาว ชุมชนชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสุรินทร์อาจแบ่งออกเป็นสองถึงสามช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่ ก่อนการสร้างทางรถไฟผ่านเมืองสุรินทร์ (อพยบข้ามมาจากทางฝั่งชายแดนที่ติดต่อกัน เช่น กัมพูชา ลาว หรือเวียดนาม) และระหว่าง - หลังจากทางรถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์แล้ว ซึ่งการคมนาคมสะดวกขึ้นทำให้เกิดการเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดและภาคต่าง ๆของประเทศสะดวกขึ้น ประเทศจีนในปัจจุบันประกอบกันขึ้นมาด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หลายชนเผ่าพันธุ์ ภาษา ประเพณี และวัฒนธรรม มีรวม ๆ กันประมาณ 56 กลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างน้อย กระจายอาศัยอยู่ทั่วประเทศจีน เช่น มองโกล อุยกูร์ ถู่จีอา ยี ไต ฮั่น จ้วง หุย แมนจู แม้ว ฯลฯ เป็นต้น เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคแถบเอเชียทั้งหมด

ชาวไทยญวน

ชาวไทยเชื้อสายญวน บ้างอาจปรากฏว่า แกว หรือเวียดนาม (ญวนหรือเวียดนามก็มีหลากหลายชาติพันธุ์/ภาษา/วัฒนธรรม) หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย (สยาม) ในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายญวนแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ญวนเก่าและญวนใหม่ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มญวนเก่าได้อพยพจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม และผสมกลมกลืนไปกับคนไทยหมดแล้ว ส่วนญวนใหม่ คือคนที่อพยพเข้ามาในไทยในปี พ.ศ. 2488 (เริ่มการประกาศราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง) และในปี พ.ศ. 2489 (ปีที่เวียดนามเหนือรบชนะสงครามเวียดนาม) และชาวญวนใหม่เหล่านี้ได้ทยอยเข้ามาในไทยจนถึงปี พ.ศ. 2499 ซึ่งกระจายอยู่ในภาคอิสานของไทย ภาคใต้ และภาคกลาง ซึ่งจริงแล้วในประเทศญวนนั้นก็มีลักษณะทางสังคม ภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย ในปัจจุบันเท่าที่มีการสำรวจพบว่าในประเทศเวียดนามมี 54 ชนเผ่า กระจายอาศัยอยู่ทั่วประเทศ แต่เรียกบรรดาผู้คนที่จากบริเวณประเทศเวียดนามในปัจจุบันว่า "ชาวญวน"

ชาวไทยอื่น ๆ

ในปัจจุบันทุกชาติพันธุ์ในจังหวัดสุรินทร์และบริเวณจังหวัดใกล้เคียงได้อาศัยอยู่กันอย่างกลมกลืนตามความเชื่อของตนเอง มีการผสมผสานกันทางภาษา ประเพณี และวัฒนธรรม ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การศึกษา

ใกล้เคียง

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชลบุรี จังหวัดของประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี