ประวัติ ของ จำนง_รังสิกุล

จำนง รังสิกุล เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 ที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรชายคนโต ในจำนวน 6 คนของหลวงบัญชาพิชิตราษฎร์ (บิดา) และนางจันทร์ รังสิกุล (มารดา) จบการศึกษาชั้นประถม ที่โรงเรียนในจังหวัดนครนายก, จบการศึกษาชั้นมัธยม ที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงเรียนอัสสัมชัญ ตามลำดับ จบการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยเมื่อแรกเข้าศึกษา เป็นแผนกวิชารัฐศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ทางรัฐบาลสั่งให้ย้ายโอน ขณะที่จำนงกำลังศึกษาชั้นปีที่ 2

เมื่อจบการศึกษา จำนงก็เข้ารับราชการ เริ่มจากสังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นที่ปลัดอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต จากนั้นโอนไปเป็นผู้ตรวจการ กรมการประมง กระทรวงเกษตราธิการ และกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วจึงโอนกลับมาเป็น พนักงานแปลข่าวต่างประเทศ และนักจัดรายการวิทยุกระจายเสียง ของกรมโฆษณาการ

ระหว่างนั้นกรมส่งจำนง ซึ่งมีความรู้ทางภาษาอังกฤษ ไปฝึกงานเป็นผู้ประกาศข่าวภาคภาษาไทย ของบรรษัทการแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (บีบีซี) ที่กรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร เป็นเวลา 3 ปี แล้วกลับมาดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองกระจายเสียงต่างประเทศ ของกรมโฆษณาการต่อไป จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2493 รัฐบาลไทยสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้จำนงนำคณะข้าราชการกรมโฆษณาการ เดินทางไปศึกษาดูงานวิทยุโทรภาพที่สหรัฐอเมริกา สำหรับเตรียมการจัดตั้งในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

โดยตั้งแต่บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เริ่มดำเนินงาน สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. เมื่อต้นปี พ.ศ. 2497 จำนงเป็นบุคคลแรกที่ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการบริษัท, ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ (ท.ท.ท.) และสถานีโทรทัศน์ (ช่อง 4 บางขุนพรหม), รวมถึงหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ทั้งส่วนวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งสำนักข่าวสารอเมริกัน และสถานทูตนานาชาติ ให้ความร่วมมือแก่จำนง ในกิจการงานต่างๆ ด้วยดี ทั้งนี้ระหว่างดำรงตำแหน่ง จำนงเป็นผู้ดำริทั้งคำว่า "พิธีกร" (จากภาษาอังกฤษว่า Master of Ceremony - MC), "เพลงลูกทุ่ง" (จากภาษาอังกฤษว่า country song) หรือ "หอเกียรติคุณ" (Hall of Fame) เป็นต้น[1] ตลอดจนชื่อและรูปแบบรายการโทรทัศน์ ประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2511 อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มีคำสั่งให้กลุ่มข้าราชการของกรม ซึ่งเข้าช่วยกิจการของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด กลับมาปฏิบัติราชการที่กรมตามเดิม จำนงจึงกลับมารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองข่าวในประเทศ และผู้อำนวยการกองข่าวต่างประเทศ ของกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนจะเกษียณอายุราชการ[4] หลังจากนั้น ธนาคารกรุงเทพเชิญให้เขาเป็นที่ปรึกษา ของรายการวิทยุและโทรทัศน์ "เพื่อนคู่คิด" ซึ่งธนาคารเป็นผู้จัดทำ

นอกจากนี้ จำนงยังเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังทำงานอยู่ โดยมีนามปากกาอยู่หลายชื่อเช่น "จินตนา" ในคอลัมน์ตอบปัญหาชีวิต ของนิตยสาร "สตรีสาร" และเมื่อเขียนสารคดีจะใช้นามจริง รวมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง รางวัลผลงานดีเด่นทางโทรทัศน์ "เมขลา" ซึ่งจำนงร่วมงานอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2523-2526 จากนั้นจำนงมาร่วมก่อตั้ง รางวัลผลงานดีเด่นทางโทรทัศน์ "โทรทัศน์ทองคำ" ซึ่งเขาร่วมงานอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2529-2537 ก่อนจะยุติบทบาทในส่วนดังกล่าวลง

จำนงถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 สิริอายุได้ 81 ปี