จิงจฺวี่
จิงจฺวี่

จิงจฺวี่

จิงจฺวี่ (จีน: 京劇; พินอิน: jīngjù; "ละครเมืองหลวง") ไต้หวันเรียก กั๋วจฺวี่ (จีน: 國劇; พินอิน: guójù; "ละครของชาติ") เป็นงิ้วรูปแบบหนึ่งซึ่งประกอบด้วยดนตรี การขับร้อง การแสดง การเต้น และกายกรรม เกิดขึ้นเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้วได้รับการพัฒนาและยอมรับนับถืออย่างเต็มที่เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19[1] งิ้วรูปแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในราชสำนักของราชวงศ์ชิง และถือเป็นหนึ่งในสมบัติทางวัฒนธรรมของประเทศจีน[2] คณะนักแสดงกลุ่มหลักตั้งสำนักอยู่ ณ เป่ย์จิงและเทียนจินในภาคเหนือ กับช่างไห่ในภาคใต้[3] ทั้งยังอนุรักษ์กันอยู่ในไต้หวัน และเผยแพร่ไปประเทศอื่น เช่น สหรัฐ และญี่ปุ่น[4]จิงจฺวี่ใช้นักแสดงหลักอยู่สี่ประเภท คือ พระเอก เรียกว่า เชิง (生), นางเอก เรียกว่า ต้าน (旦), บทชาย เรียกว่า จิ้ง (淨), และบทตลก เรียกว่า โฉ่ว (醜) ในการแสดงจะใช้เสื้อผ้าอาภรณ์อลังการและการแต่งหน้าฉูดฉาด นักแสดงอาศัยทักษะในการพูด ร้อง เต้น และต่อสู้ด้วยท่าทางที่เป็นสัญลักษณ์มากกว่าความสมจริง นักแสดงยังยึดถือธรรมเนียมทางรูปแบบหลากหลายธรรมเนียมซึ่งช่วยให้ผู้ชมเข้าถึงเนื้อเรื่องที่แสดง[5] การเคลื่อนไหวแต่ละอย่างจะต้องลงกับดนตรีและจังหวะเพื่อสื่อความหมาย ท่วงทำนองที่ใช้แบ่งเป็นสองประเภท คือ ซีผี (西皮) และเอ้อร์หวง (二黄) ซึ่งมีหลากรูปแบบ เช่น เพลงร้องเดี่ยว ทำนองที่ตายตัว และเสียงเครื่องกระทบ[6] ส่วนบทละครนั้นมีกว่า 1,400 เรื่อง ซึ่งมักอิงประวัติศาสตร์ เทพปกรณัม และปัจจุบันก็ยึดโยงกับเรื่องราวในชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น[7]ในการปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 จิงจฺวี่ถูกประณามว่า เป็นสิ่งตกค้างจากยุคเจ้าขุนมูลนาย และถูกแทนที่ด้วยการแสดงย่างป่านซี่ (樣板戲) ที่รัฐบาลปฏิวัติคิดขึ้นเพื่อโฆษณาชวนเชื่อและเผยแพร่ลัทธินิยมของตน หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกยกเลิกเกือบทั้งสิ้น ปัจจุบัน มีความพยายามปฏิรูปจิงจฺวี่หลายประการเพราะคนดูลดลงเรื่อย ๆ เป็นต้นว่า พยายามเพิ่มคุณภาพในการแสดง ประยุกต์องค์ประกอบใหม่ ๆ รวมถึงเล่นเรื่องใหม่เรื่องเก่าคละกันบ้าง การปฏิรูปดังกล่าวประสบผลสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง[8]

จิงจฺวี่

รายการ ตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
ประเทศ  จีน
เกณฑ์พิจารณา R.1, R.2, R.3, R.4, R.5
อ้างอิง 00418
ขึ้นทะเบียน 2010/2553 (คณะกรรมการสมัยที่ 5)
ภูมิภาค ** เอเชียและแปซิฟิก
สาขา ศิลปะการแสดง