โลกของงานศิลปะ ของ จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์

ภาพชีวิตประจำวันโดย เดิร์ค ฮาลส์ “สุภาพบุรุษสูบกล้องและเล่นแบ็คแก็มมอนภายในบ้าน” สังเกตภาพบนผนังในภาพด้วย “สมาคมจิตรกรแห่งฮาร์เล็ม” ค.ศ. 1675 โดยยาน เดอ เบรย์ ภาพเหมือนตนเองคนที่สองจากซ้ายเอิร์ท เดอ เกลเดอร์, “ภาพเหมือนในรูปของ Zeuxis” (ค.ศ. 1685)

จำนวนภาพเขียนอันมหาศาลที่ผลิตโดยจิตรกรดัตช์และการจัดงานแสดงใหญ่ ๆ ที่มีการขายภาพเขียนจำนวนมากเป็นที่สังเกตของชาวต่างประเทศ – ประมาณกันอย่างคร่าว ๆ ว่าดัตช์ผลิตภาพเขียนราว 1.3 ล้านภาพระหว่างช่วงยี่สิบปีหลังจาก ค.ศ. 1640 เท่านั้น[1] จำนวนการเขียนที่สูงทำให้ราคาภาพค่อนข้างต่ำ นอกไปจากภาพที่เขียนโดยจิตรกรผู้มีชื่อเสียงหรือผู้เป็นที่นิยมกันในขณะนั้น จิตกรที่ไม่มีชื่อเสียงหรือตกอันดับรวมทั้งจิตรกรที่ในปัจจุบันถือว่าเป็นจิตรกรเอกเช่นโยฮันส์ เวร์เมร์, ฟรันส์ ฮาลส์ และ แรมบรังด์ในบั้นปลายต่างก็ประสบกับความยากลำบากในการพยายามทำมาหากินโดยการเป็นจิตรกร จิตรกรหลายคนต้องทำงานอื่นด้วยเพื่อประทังชีวิต หรือเลิกอาชีพการเป็นจิตรกรโดยสิ้นเชิง[2] สถานการณ์เลวร้ายลงโดยเฉพาะเมื่อฝรั่งเศสเข้ารุกรานบริเวณกลุ่มประเทศต่ำในปี ค.ศ. 1672 (หรือ “ปีแห่งความหายนะ” (Rampjaar)) ที่มีผลต่อความอดวายของตลาดงานศิลปะที่ไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาเท่ากับสมัยที่รุ่งเรืองหลังจากนั้น[3] ในช่วงที่รุ่งเรืองความแพร่หลายของภาพเขียนก็เป็นไปโดยทั่วไปในทุกระดับของสังคมจนนักท่องเที่ยวจากอังกฤษเขียนบรรยายในปี ค.ศ. 1640 ว่าแม้แต่ช่างตีเหล็ก หรือ ช่างทองแดงต่างก็มีภาพเขียนแขวนอยู่ในโรงช่าง: “yea many tymes, blacksmithes, cobblers etts., will have some picture or other by their Forge and in their stalle. Such is the generall Notion, enclination and delight that these Countrie Native have to Painting”[4] ช่วงนี้เป็นช่วงแรกที่จิตรกรคนสำคัญ ๆ ก็เริ่มใช้ตัวแทนค้าขายภาพเขียน (art dealer) ที่เป็นงานอาชีพขายภาพให้

วิธีการเขียนภาพของดัตช์โดยทั่วไปในช่วงนี้มีคุณภาพสูง แต่ยังคงใช้ระบบการเขียนแบบยุคกลาง โดยการฝึกจิตรกรใหม่กับครู จำนวนของผู้ทำงานกับห้องเขียนภาพ (workshop) โดยทั่วไปมีจำนวนน้อยกว่าห้องเขียนภาพในฟลานเดอร์สหรือในอิตาลีที่อาจจะมีผู้ได้รับการฝึกหัดเพียงคนหรือสองคน จำนวนนี้จำกัดโดยกฎของสมาคมจิตรกร ในขณะเดียวกันอำนาจของสมาคมเซนต์ลูคระดับท้องถิ่นเริ่มลดถอยลง แต่ในบางท้องที่ก็ยังคงมีอิทธิพลพอสมควรอยู่ และการก่อตั้งสมาคมใหม่ขึ้นก็มีบ้าง เช่นสมาคมใน อัมสเตอร์ดัมที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1579 และสมาคมในกูดา, ร็อตเตอร์ดัม, อูเทร็คท์ และ เดลฟท์ต่างก็ก่อตั้งขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1609 ถึงปี ค.ศ. 1611[5] และที่ล่าสุดในไลเดนในปี ค.ศ. 1648[6] นอกจากการเขียนภาพเหมือนที่ได้รับจ้างแล้ว การเขียนภาพประเภทอื่น ที่เป็นการเขียนล่วงหน้าแบบ 'เก็ง' ความต้องการของตลาดโดยไม่มีการจ้างให้เขียนอย่างเฉพาะเจาะจงซึ่งต่างกับลักษณะการเขียนในชาติอื่น ๆ[7]

ตระกูลจิตรกรก็มีด้วยการหลายตระกูล และจิตรหลายคนก็ทำการสมรสกับลูกสาวของครู หรือ ของจิตรกรอื่น ๆ จิตรกรบางคนก็มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีผู้สามารถจ่ายค่าฝึกหัดของตนเองได้ ทั้งแรมบรังด์และยาน สตีนต่างก็ได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยไลเดนอยู่ชั่วขณะหนึ่ง นอกจากนั้นลักษณะการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์หรือประเภทของงานจิตรกรรมก็อาจจะแตกต่างกันไปตามเมืองของจิตรกร แต่อัมสเตอร์ดัมเป็นศูนย์กลางของงานเขียนทั้งหมด[8]

จิตรกรของดัตช์คำนึงถึงทฤษฎีศิลปะน้อยกว่าจิตรกรในประเทศอื่น ๆ หรือการถกเถียงกันในทฤษฎีศิลปะเช่นที่นิยมทำกันในบรรดาปัญญาชนอย่างแพร่หลายในอิตาลี ก็เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ไม่บ่อยครั้งนัก[9] การจ้างเขียนหรือการขายภาพเขียนเกือบทั้งหมดเป็นการจ้างและการซื้อส่วนบุคคล และระหว่างชาวเมือง ที่มิได้มีการเก็บรักษาหลักฐานการซื้อขายกันไว้ ซึ่งทำให้หลักฐานเกี่ยวกับภาพเขียนแต่ละภาพมีน้อยกว่าในบริเวณอื่น แต่ศิลปะของดัตช์ก็เป็นความมีหน้ามีตาของชาติ ฉะนั้นหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวกับภาพเขียนจึงมักจะเป็นหลักฐานทางอ้อมที่มาจากหนังสือชีวประวัติของจิตรกรและงานเขียนโดยทั่วไป เช่นในงานเขียนของคาเรล ฟาน มานเดอร์ (Karel van Mander) ที่เขียนเกี่ยวกับศิลปะของช่วงร้อยปีก่อนหน้านั้น และ อาร์โนลด์ เฮาบราเคน (Arnold Houbraken) ใน “"De groote schouburgh der Neder­lantsche konstschilders en schilderessen"” (“เวทีใหญ่ของจิตรกรดัตช์”, ค.ศ. 1718–1721) งานทั้งสองตามด้วยงานเขียนชีวประวัติสั้น ๆ ของจิตรกรมากมายที่รวมทั้งงานเขียนของเฮาบราเคนเองที่รวมชีวประวัติของจิตรกรกว่า 500 คน และถือกันว่าเป็นงานที่เที่ยงตรงต่อความเป็นจริง ศิลปินเยอรมันโยฮาคิม ฟอน ซานดรัท (Joachim von Sandrart, ค.ศ. 1606 - 1688) ทำงานอยู่ระยะหนึ่งในฮอลแลนด์ และ “"Deutsche Akademie"” (สถาบันเยอรมัน) ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับจิตรกรดัตช์ที่โยฮาคิมรู้จัก ครูของเฮาบราเคนและลูกศิษย์ของแรมบรังด์ - ซามูเอล ฟาน ฮูกสทราเทน (Samuel van Hoogstraten, ค.ศ. 1627–1678) ผู้เขียน “"Zichtbare wereld"” และ “"Inleyding tot de Hooge Schoole der Schilderkonst"” (ค.ศ. 1678) ในเนื้อหาที่เป็นการวิพากษ์มากกว่าจะเป็นชีวประวัติ ซึ่งเป็นงานเขียนที่มีความสำคัญต่อภาพเขียนในยุคนี้ แต่หนังสือเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับหนังสือดัตช์ที่เกี่ยวกับทฤษฎีศิลปะอื่น ๆ มักจะกล่าวถึงทฤษฎีการเขียนภาพของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาและไม่ได้สะท้อนลักษณะการเขียนภาพร่วมสมัยในขณะนั้น และมักจะเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของศิลปะ[10]

ใกล้เคียง

จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์ จิตรกรรมบารอกแบบเฟลมิช จิตรกรรม จิตรกรรมไทยประเพณี จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก จิตรกรรมแผง จิตรกรรมภูมิทัศน์ จิตรกรรมไทย