ที่มา ของ จุลชัยยะมงคลคาถา

จุลชัยยะมงคลคาถา เป็นคาถาในหมวดเดียวกับพระคาถามหาชัยยะมงคลคาถา หรือ ไชยใหญ่ และพระคาถาไชยหลวง ซึ่งนิยมใช้สวดสาธยายกันในงานมงคลในแถบแว่นแคว้น 2 ฝั่งแม่น้ำโขง การแพร่หลายของพระคาถานี้ปรากฏโดยทั่วไปในแถบภาคอีสานของไทย และภาคกลางจนถึงภาคเหนือของลาว จากการสำรวจโดยหอสมุดดิจิตอลหนังสือใบลานลาว พบคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับบทสวดไชยน้อย ไชยใหญ่ หรือไชยหลวงจำนวนหนึ่ง ทั้งในเมืองหลวงพระบาง นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงคำม่วนทางภาคกลาง และในแขวงไชยบุรี ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่ประชิดกับภาคเหนือของไทย [1]

ทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของจุลชัยยะมงคลคาถา มีอยู่หลายทฤษฎี ข้อมูลที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทย คือการระบุว่า พระมหาปาสมันตเถระ พระเถระแห่งอาณาจักรกัมพูชาโบราณ ผู้อุปการะพระเจ้าฟ้างุ้ม มหาราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และพระเถรผู้อัญเชิญพระบางและพระไตรปิฎกมายังแผ่นดินลาว คือผู้รจนาพระคาถานี้ ซึ่งหากทฤษฎีนี้เป็นความจริง พระคาถานี้น่าจะรจนาขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ในช่วงก่อนหรือหลังจากที่พระเถระเดินทางจากกัมพูชามาประกาศพระศาสนาในอาณาจักรล้านช้างในปีพ.ศ. 1902

ทั้งนี้ ผู้แต่งจุลไชยปกรณ์ หรือตำนานพระคาถาจุลชัยยะมงคลคาถา ตามทัศนะของ พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ แห่งวัด วัดไตรสิกขาทลามลตาราม บ้านฝาง ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร คือพระมหาเทพหลวง แห่งนครหลวงพระบาง โดยนำความจากคัมภีร์สมันตปาสาทิกา โดยรจนาเป็นภาษาบาลีผสมกับภาษาพื้นเมือง แต่ไม่ปรากฏว่าระบุถึงปีที่รจนาแต่อย่างใด [2]

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการในประเทศลาวบางรายระบุว่า จุลชัยยะมงคลคาถา เป็นผลงานของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ "ญาคูขี้หอม" โดยท่านมีช่วงชีวิตในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 โดยฝ่ายลาวเรียกพระคาถานี้ว่า "จุลละไชยยะสิทธิมงคลคาถา" หรือ "จุลละไซยะสิททิมุงคุนคาถา" [3]