จุลศักราช

จุลศักราช (จ.ศ.; บาลี: Culāsakaraj; พม่า: ကောဇာသက္ကရာဇ်; เขมร: ចុល្លសករាជ) เป็นศักราชที่เริ่มเมื่อ พ.ศ. 1181 (ค.ศ. 638) นับรอบปีตั้งแต่ 16 เมษายน ถึง 15 เมษายน เดิมเข้าใจกันว่าเป็นศักราชของพม่า ปรากฏอยู่ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ทว่าปีที่ตั้งจุลศักราชนั้นเป็นเวลาก่อนปีที่พระเจ้าอโนรธามังช่อจะประสูติ สันนิษฐานว่าน่าจะตั้งขึ้นในปีที่กษัตริย์ปยูขึ้นครองราชย์ และใช้สืบต่อมาจนถึงอาณาจักรพุกาม[1] เมื่อสมัยอาณาจักรอยุธยารับศักราชนี้ไปใช้ เลยเกิดความเชื่อกันว่าเป็นศักราชของชาวพม่า จุลศักราชถูกนำมาใช้แพร่หลายทั้งในอาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัยสมัยหลัง และอาณาจักรอยุธยา ในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ทรงตัดปีจุลศักราช และใช้ปีศักราชจุฬามณีแทน เป็นผลทำให้ปีนักษัตรคลาดเคลื่อนไปสามปี ต่อมาจึงได้เปลี่ยนกลับไปใช้ปีจุลศักราชตามเดิม และตกทอดมาถึงปัจจุบัน การคำนวณปี พ.ศ. จาก จ.ศ. ปฏิทินไทยให้ใช้ปี จ.ศ. บวก 1181 ก็จะได้ปี พ.ศ. (เว้นแต่ในช่วงต้นปีตามปฏิทินสุริยคติที่ยังไม่เถลิงศกจุลศักราชใหม่)ในเอกสารโบราณของไทยจำนวนไม่น้อย นิยมอ้างเวลา โดยใช้จุลศักราช โดยใช้ควบคู่กับปีนักษัตร หรือ ระบุเฉพาะเลขตัวท้ายของจุลศักราช และปีนักษัตร ทำให้สามารถระบุปี ได้ในช่วงกว้างถึงรอบละ 60 ปี (มาจาก ครน. ของรอบ 10 ปีจากเลขท้ายของจุลศักราช และรอบ 12 ปีของปีนักกษัตร)