งานการเมือง ของ ฉลาด_วรฉัตร

ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เคยเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด (ส.ส.ตราด) สังกัดพรรคประชาปัตย์ ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 และ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2529 และเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคมวลชน[3] แต่เป็นได้ไม่นานก็ลาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยตัวเอง ด้วยการประท้วงอดข้าวจนเป็นที่รู้จักกันดี

เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535

วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 ร.ต.ฉลาด ประกาศอดข้าวประท้วงหน้ารัฐสภาจนกว่า พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีจะลาออก แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล นับว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงบุคคลแรกที่ต่อต้านรัฐบาลขณะนั้นอย่างเปิดเผย

รัฐประหาร 2549

ร.ต.ฉลาด กลับมาอดข้าวประท้วงอีกหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เพื่อประท้วงการยึดอำนาจ และต่อเนื่องด้วยการขังตัวเองอยู่ในกรงขังหน้ารัฐสภาเพื่อประท้วงการรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่ง ร.ต.ฉลาดได้กล่าวว่าจะผูกคอตายถ้าการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติ[ต้องการอ้างอิง] แต่ไม่ได้กระทำตามนั้น

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

เรืออากาศตรี ฉลาด อดข้าวประทัวงหน้าอาคารรัฐสภาอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อต่อต้านการใช้กฎอัยการศึก ตลอดจนการกระทำรัฐประหารของกองทัพ[4]

วันที่ 10 มิถุนายน 2557 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร พร้อมทนายความ ยื่นฟ้องพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ ปลัดกระทรวงต่าง ๆ และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวม 27 คน ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ และกบฏ จากกรณีที่ร่วมกันประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจปกครองประเทศ

เรืออากาศตรี ฉลาด กล่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึกนั้น ประเทศต้องอยู่ในภาวะสงครามหรือเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง และต้องประกาศเฉพาะในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ และยังต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและพระบรมราชโองการ แต่ทหารละเมิดอำนาจ หากหลังจากนี้ถูก คสช. เรียกให้ไปรายงานตัว ก็จะไม่ไปตามนั้น แต่ไม่หลบหนี ให้ไปจับที่หน้ารัฐสภา[5]

วันที่ 6 กรกฎาคม 2557 เรืออากาศตรี ฉลาด ได้ประกาศยุติการอดอาหารประท้วงโดยมีสาเหตุจากปัญหาด้านสุขภาพ[6]