ด้านการเมือง ของ ชัย_วัชรงค์

ไก่ชน

ในช่วงรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร สมาคมส่งเสริมอาชีพไก่ชนไทย ซึ่งมีเขาเป็นอุปนายกสมาคม ได้เคลื่อนไหวร่วมกับยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) นายกสมาคม เรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อผ่อนปรนการออกใบอนุญาตชนไก่ที่ถูกห้ามมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525[2] และประสบความสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2548 ส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในสมัยนั้น สามารถออกใบอนุญาตเปิดสนามชนไก่ได้ นอกจากนี้ในช่วง พ.ศ. 2547 - 2548 ขณะที่เกิดการระบาดของไข้หวัดนก สมาคมส่งเสริมอาชีพไก่ชนไทยได้จัดการชุมนุมใหญ่ที่สนามกีฬาหน้าลานพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เรียกร้องให้รัฐบาลทักษิณดำเนินการใช้วัคซีนในสัตว์ปีกในกิจกรรมชนไก่[4] รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ใช้วิธีป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกด้วยการปิดสนามไก่ชน[2] ก่อนจะมีบทบาทในฐานะนายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทยในเวลาต่อมา[5]

จำนำข้าว

น.สพ.ชัย มีชื่อเสียงอีกครั้งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในบทบาทนักวิชาการอิสระที่ตอบโต้ วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เกี่ยวกับประเด็นโครงการรับจำนำข้าว ช่วงนั้น เขาเป็นผู้ดำเนินรายการ "คุยจริงใจสไตล์หมอชัย" ทางสถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น 24 โดยยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนาได้ประโยชน์มหาศาล และประเทศมีรายได้จากการขายข้าว

ในช่วง พ.ศ. 2557 - 2559 ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เขาเป็นพยานบุคคลสำคัญในการอธิบายความเรื่องความสำเร็จของโครงการรับจำนำข้าวให้กับทั้ง 2 หน่วยงาน[4]

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ชัยได้เปิดตัวเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย[4] และเป็นผู้ทำงานในคณะทำงานนโยบายเกษตร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำนโยบายด้านการเกษตรให้กับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น[3] โดยในปลายปีเดียวกันนั้น เขาได้ยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าว "เป็นโครงการที่ดีที่สุดสำหรับชาวนา"[6]

รับตำแหน่งในรัฐบาล

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ชัยได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 91[4] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งเขาเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองอีก 3 คน[7] และวันถัดมาเศรษฐาได้แต่งตั้งให้เขาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง[8]