สถานที่ท่องเที่ยว ของ ชัยปุระ

ชัยปุระเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย ในปีค.ศ. 2008 ได้มีการสำรวจโดย Conde Nast Traveller ซึ่งชัยปุระได้ติดอันดับที่เจ็ดของเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในเอเชีย[10]

นอกจากนี้ ชัยปุระ ยังเป็นที่ตั้งของห้องสูทอันหรูหราในโรงแรมที่แพงติดอันดับที่ 2 จากทั้งหมด 15 อันดับของโลก (World's 15 most expensive hotel suites) ซึ่งเป็นห้อง Presidential Suite ของโรงแรมรัช พาเลซ (Raj Palace Hotel) ด้วยราคากว่า US$45,000 ต่อคืน [11] ซึ่งจัดอันดับโดย CNN Go ในปีค.ศ. 2012

ซิตี้พาเลส

ดูบทความหลักที่: ซิตี้พาเลส (จัยปูร์)
จันทรา มาฮาล ในพระราชวังซิตี้พาเลส

พระราชวังซิตี้พาเลส เป็นพระราชวังอันเป็นที่ประทับของมหาราชาแห่งชัยปุระ เป็นที่ตั้งของหมู่พระที่นั่งสำคัญๆ ได้แก่ "พระที่นั่งจันทรา มาฮาล" และ"พระที่นั่งมูบารัก มาฮาล" สร้างขึ้นในระหว่างปีค.ศ. 1729 - ค.ศ. 1732 ในรัชสมัยของมหาราชาสะหวายจัย สิงห์ที่ 2 จากนั้นต่อมาก็ได้รับการดูแลต่อเติมโดยมหาราชาของชัยปุระในรัชการต่อๆมา ที่สำคัญตอนเริ่มก่อสร้างพระราชวัง ยังอยู่ในช่วงที่ราชวงศ์โมกุลเข้ามามีอิทธิพลต่อรัฐราชสถานแล้ว สถาปัตยกรรมจึงมีการออกแบบอย่างผสมผสานระหว่างแบบราชปุตกับโมกุล นอกจากนี้การออกแบบพื้นที่ใช้สอยอาคารอย่างลงตัว ไม่แน่นทึบ และมีทางเดินกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นความน่าสนใจแห่งหนึ่งจากพระราชวังแห่งนี้ โดยปัจจุบันพระราชวังซิตี้พาเลสได้เปิดให้เข้าชมเป็นพิพิธภัณฑ์สะหวายมาน สิงห์ (Sawai Man Singh Museum)

ป้อมนหาร์การห์

ดูบทความหลักที่: ป้อมนหาร์การห์
แนวกำแพงของป้อมนหาร์การห์

ป้อมนหาร์การห์ (อังกฤษ: Nahargarh Fort) หรือรู้จักกันดีในชื่อว่า "ป้อมเสือ" (Tiger Fort) เป็นป้อมปราการที่สามารถมองเห็นได้จากใจกลางเมืองชัยปุระ สร้างในปีค.ศ. 1734 ในรัชสมัยของมหาราชาสะหวายจัย สิงห์ที่ 2 เพื่อช่วยคุ้มครองป้องกันพระนครจากการรุกรานของข้าศึก ในปัจจุบันด้านบนยังหลงเหลือตำหนักเก่าให้ชมอยู่บ้าง

ฮาวา มาฮาล

ดูบทความหลักที่: ฮาวามาฮาล
ฮาวามาฮาล และหน้าต่างฉลุอันมากมายอันเป็นสัญลักษณ์ของชัยปุระ

ฮาวา มาฮาล (ฮินดี: हवा महल, อังกฤษ: Hawa Mahal, แปลว่า: "พระราชวังแห่งสายลม") เป็นหนึ่งในตำหนักสำคัญของซิตี้พาเลส สร้างในปีค.ศ. 1799 โดยมหาราชาสะหวาย ประธาป สิงห์ (Maharaja Sawai Pratap Singh) ออกแบบโดยลาล ชันด์ อุสถัด (Lal Chand Ustad) โดยถอดแบบมาจากรูปทรงของมงกุฏของพระนารายณ์ โดยมีความโดดเด่นที่บริเวณด้านหน้าบันทาสีชมพูสวยงามมีความสูงห้าชั้นและมีลักษณะซ้อนกันคล้ายรังผึ้งประกอบไปด้วยหน้าต่างขนาดเล็กตกแต่งด้วยลวดลายฉลุเป็นช่องลมจำนวน 953 บาน[12] จนเป็นที่มาของชื่อว่า "พระราชวังแห่งสายลม" โดยลายฉลุนั้นมีไว้เพื่อนางในวังสามารถมองทะลุออกมาเห็นชีวิตภายนอกบนท้องถนนได้โดยไม่มีใครสังเกตเห็นจากด้านนอกนั่นเอง

จาล มาฮาล

ดูบทความหลักที่: จาลมาฮาล
พระราชวังกลางน้ำจาล มาฮาล

จาล มาฮาล (ฮินดี: जल महल, อังกฤษ: Jal Mahal) พระราชวังกลางน้ำซึ่งตั้งเด่นสง่าอยู่กลางทะเลสาบมันสกา (Man Sagar) ใกล้กับชัยปุระ โดยพระราชวังแห่งนี้และทิวทัศน์ของทะเลสาบโดยรอบถูกต่อเติมและปรับปรุงโดยมหาราชา สะหวาย จัย สิงห์ที่ 2 ตัวพระราชวังนั้นสร้างได้อย่างสวยงามตามสถาปัตยกรรมราชปุตและโมกุล ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งก่อสร้างในรัฐราชสถาน โดยพระราชวังนี้นั้นมีความสวยงามเนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบและโดยมีเทือกเขานหาร์การห์ตั้งอยู่เบื้องหลัง ตัวอาคารสร้างโดยใช้หินทรายสีแดง ประกอบด้วยทั้งหมด 5 ชั้นซึ่ง 4 ชั้นล่างจะถูกน้ำท่วมเมื่อทะเลสาบมีระดับน้ำสูงสุด โดยเหลือเพียงชั้นบนสุดซึ่งจะเผยขึ้นมาเหนือน้ำ[13] ฉัตรีซึ่งเป็นยอดหลังคาทรงสี่เหลี่ยมนั้นสร้างในแบบสถาปัตยกรรมเบงกอล ส่วนฉัตรีบริเวณสี่มุมของอาคารนั้นเป็นทรงแปดเหลี่ยม เนื่องจากตั้งอยู่ในน้ำเป็นเวลาอันยาวนานทำให้ฐานของพระราชวังนั้นเริ่มทรุดโทรมลงเนื่องจากกระแสน้ำและน้ำท่วม โดยล่าสุดได้มีโครงการบูรณะครั้งใหญ่ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการโดยรัฐบาลรัฐราชสถาน[14]

จันตาร์มันตาร์

ดูบทความหลักที่: จันตาร์มันตาร์
นาฬิกาแดด หนึ่งในเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่จันตาร์ มันตาร์ ที่มีความแม่นยำถึง 2 วินาทีจากเวลาท้องถิ่น

จันตาร์ มันตาร์ (อังกฤษ: Jantar Mantar) เป็นหอดูดาวที่รวบรวมเครื่องมือทางดาราศาสตร์ชิ้นสำคัญและทันสมัยที่สุดในยุคนั้น สร้างโดยมหาราชาสะหวาย จัย สิงห์ ซึ่งเป็นทั้งกษัตริย์แห่งแอมแมร์และชัยปุระ และยังเป็นแม่ทัพใหญ่ของจักรวรรดิโมกุล โดยสถานที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก ในปีค.ศ. 2010[15]

ป้อมจัยการห์

ดูบทความหลักที่: ป้อมจัยการห์
ป้อมจัยการห์

ป้อมจัยการห์ หรือ ป้อมชัยคฤห์ (ราชสถาน/ฮินดี: जयगढ़ क़िला, อังกฤษ: Jaigarh Fort) ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา"ชีลกาทีลา" ใกล้กับป้อมแอมแมร์ โดยตั้งอยู่บนยอดที่สูงกว่าป้อมแอมแมร์ ชานเมืองชัยปุระ ในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย [16][17] สร้างโดยมหาราชาสะหวายจัย สิงห์ที่ 2 ในปีค.ศ. 1726 เพื่อใช้อารักขาป้อมแอมแมร์และพระราชวังแอมแมร์ซึ่งตั้งอยู่เบื้องล่างซึ่งภายเป็นพระราชฐานของมหาราชา[16][17][18] ป้อมปราการแห่งนี้สร้างในแบบสถาปัตยกรรมเดียวกับป้อมแอมแมร์ โดยใช้หินทรายสีแดงเป็นวัตถุดิบหลักในการก่อสร้าง ภายในกำแพงเมืองมีพระตำหนักที่ประทับ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งบ่อเก็บน้ำอีกด้วย

ป้อมแอมแมร์

ดูบทความหลักที่: ป้อมแอมแมร์

ป้อมแอมแมร์ (ฮินดี: आमेर क़िला, อังกฤษ: Amer Fort) หรือ ป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort) ตั้งอยู่ที่เมืองแอมแมร์ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย (เป็นเมืองเล็กๆที่มีขนาดเพียง 4 กม² (1.5 sq mi)[19]) ห่างจากชัยปุระเป็นระยะทาง 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) ป้อมแอมแมร์นั้นเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชัยปุระ โดยที่ตั้งนั้นโดดเด่นอยู่บนผาหิน[20][21] สร้างโดยมหาราชามาน สิงห์ที่ 1 ป้อมปราการแห่งนี้มีชื่อเสียงทางด้านสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งผสมผสานกันระหว่างศิลปะฮินดูและศิลปะราชปุต สามารถมองเห็นได้จากระยะทางไกลเนื่องจากมีขนาดกำแพงปราการที่ใหญ่และแน่นหนา พร้อมประตูทางเข้าหลายแห่ง ถนนที่ปูด้วยหินหลายสาย ซึ่งเมื่ออยู่บนป้อมแล้วสามารถมองเห็นทะเลสาบเมาตาได้อย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้า[21][16][22][23][24]

ภูมิทัศน์ของป้อมแอมแมร์ยามรุ่งอรุณ


แหล่งที่มา

WikiPedia: ชัยปุระ http://aai.aero/allAirports/jaipur_generalinfo.jsp http://content.calgary.ca/CCA/City+Common/Municipa... http://www.bharatonline.com/news/details/jaipur-se... http://www.cnngo.com/explorations/escape/worlds-15... http://books.google.com/books?id=7F_MJcTjDOQC http://books.google.com/books?id=HlqM2CR4vfUC&pg=P... http://books.google.com/books?id=JCx8OtS2ADIC&pg=P... http://books.google.com/books?id=Kp6ceVRUg8UC&pg=P... http://books.google.com/books?id=O0oPIo9TXKcC http://books.google.com/books?id=PTEEAAAAMBAJ&pg=P...