ที่มาของชื่อ ของ ชาวเคลต์

ที่ตั้งถิ่นฐานของชาวเคลต์ในคอร์นวอลล์หินทูโรตกแต่งด้วยลวดลายเคลต์ที่หมู่บ้านบุลลอนในไอร์แลนด์

ที่มาของการเรียกชาวเคลต์มีมาตั้งแต่ยุคคลาสสิกเป็นประวัติที่ไม่มีหลักฐานแน่นอนและเป็นการสันนิษฐานที่ยังคงเป็นที่ขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะในการเรียกชื่อกลุ่มมีหลักฐานในการใช้คำว่า "พิกต์" (pict) หลายแห่งในการเรียกผู้ที่ตั้งถิ่นฐานในไอร์แลนด์และบริเตนก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18

ภาษาละติน "Celtus" (พหูพจน์: "Celti" หรือ "Celtae") กรีก: Κέλτης (พหูพจน์: Κέλται หรือ Κελτός, พหูพจน์: Κελτοί, "Keltai" หรือ "Keltoi") ดูเหมือนว่าจะมีรากฐานมาจากภาษาท้องถิ่นของเคลต์[3] แต่หลักฐานแรกที่บันทึกเกี่ยวกับชาวเคลต์ในชื่อ "Κελτοί" ("Κeltoi") เขียนโดยนักประวัติศาสตร์กรีกเฮคาเชียสแห่งไมเลตัส (Hecataeus of Miletus) ราว 517 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่กล่าวถึงเมือง "Massilia" (มาร์เซย์ ปัจจุบัน) ที่อยู่ใกล้เคลต์ และกล่าวถึงเมืองเคลต์ชื่อ "Nyrex" (อาจจะเป็นเมืองนอร์เรียในออสเตรียปัจจุบัน) เฮโรโดทัสนักประวัติศาสตร์กรีกอีกผู้หนึ่งดูเหมือนจะกล่าวว่าเคลต์ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณต้นแม่น้ำดานูบและ/หรือในไอบีเรีย

คำว่า "เคลต์" ในภาษาอังกฤษเป็นคำใหม่ที่ใช้ในงานเขียนโดยเอดเวิร์ด ลุยด์ (Edward Lhuyd) ในปี ค.ศ. 1707 งานเขียนของลุยด์และผู้อื่นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่นักวิชาการในการศึกษาเกี่ยวกับภาษาและประวัติของผู้ตั้งถิ่นฐานในบริเตนใหญ่ในยุคแรก[4]

ภาษาละตินคำว่า "Gallus" (กอลลัส) เดิมอาจจะมาจากชาวเคลต์หรือชื่อเผ่าพันธ์ที่นำมาใช้ราวต้น 400 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษในช่วงที่ชาวเคลต์ขยายดินแดนไปยังอิตาลี รากของคำอาจจะมาจากภาษาเคลต์ดั้งเดิม "galno" ที่แปลว่า "อำนาจ" หรือ "ความแข็งแกร่ง" ภาษากรีก "Galatai" (กาลาไต) ดูเหมือนว่ามาจากรากเดียวกันที่ขอยืมโดยตรงมาจากที่สันนิษฐานกันว่าเป็นภาษาเคลต์ที่กลายมาเป็นคำว่า "Galli" (กอลไล)

ภาษาอังกฤษคำว่า "Gaul" (กอล) มาจากภาษาฝรั่งเศส "Gaule" และ "Gaulois" ที่มาจากภาษาละติน "Gallia" และ "Gallus, -icus" ตามลำดับ แต่สระประสมสองเสียง "au" ชี้ให้เห็นว่าเป็นคำที่มาจากแหล่งอื่น ที่น่าจะเป็นการแปลงของภาษาโรมานซ์ของคำจากภาษาเยอรมันว่า "Walha-" ภาษาอังกฤษคำว่า "Welsh" เดิมมาจากคำว่า "wælisc" จากภาษาแองโกล-แซ็กซอนของคำว่า "walhiska-" ที่เป็นคำภาษาเจอร์แมนิกที่ใช้เรียกชาวต่างประเทศ[5]

"ความเป็นเคลต์" (Celticity) โดยทั่วไปมักจะหมายถึงการมีวัฒนธรรมที่ร่วมกันหรือใกล้เคียงกันของกลุ่มชนที่มีรากฐานมาจากความคล้ายคลึงกันทางภาษา, เครื่องใช้สอย, ระบบสังคม และปรัมปราวิทยา (Celtic mythology|mythological]] ทฤษฎีก่อนหน้านี้รวมถึงความคล้ายคลึงทางชาติพันธุ์ด้วยแต่ทฤษฎีในสมัยปัจจุบันจะเน้นแต่เฉพาะความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมและภาษาเท่านั้น อารยธรรมเคลต์มีลักษณะแตกต่างออกไปหลายอย่างแต่สิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างความแตกต่างกันเหล่านี้อยู่ที่ภาษาเคลต์

"ของเคลต์" หรือ "เคลต์" (Celtic) เป็นคำที่ใช้ในการบรรยายตระกูลภาษาและโดยทั่วไปหมายถึงภาษา "ของชาวเคลต์" หรือภาษา "ในรูปแบบของชาวเคลต์" และยังใช้ในการบรรยายถึงวัฒนธรรมทางโบราณคดีที่พบในวัตถุที่ขุดพบ ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและวัตถุที่ขุดพบอยู่ที่คำจารึกบนวัตถุ

ในปัจจุบันคำว่า "เคลต์" โดยทั่วไปใช้ในการบรรยายภาษาและอารยธรรมของไอร์แลนด์, สกอตแลนด์, เวลส์, คอร์นวอลล์, เกาะแมนและบริตตานี หรือที่เรียกว่าชาติเคลต์ทั้งหก (Six Celtic Nations) ในปัจจุบันยังมีบริเวณสี่บริเวณที่ยังใช้ภาษาเคลต์เป็นภาษาแม่อยู่บ้าง: เกลิกไอริช, เกลิดสกอต, เวลส์ และเบรอตง และอีกสองบริเวณที่เพิ่งเริ่มเข้ามาคอร์นิช (หนึ่งในภาษากลุ่มบริทอนิก (Brythonic languages)) และแมงซ์ (หนึ่งในภาษากลุ่มกอยเดล (Goidelic languages)) นอกจากนั้นก็ยังมีการพยายามที่จะฟื้นฟูการใช้ภาษาคัมบริก (Cumbric language) (หนึ่งในภาษากลุ่มบริทอนิกจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษและตะวันตกเฉียงใต้ของสกอตแลนด์)

"เคลต์" บางครั้งก็ใช้ในการบรรยายอาณาบริเวณในแผ่นดินใหญ่ยุโรป ที่มีรากฐานมาจากเคลต์แต่ไม่ได้ใช้ภาษาเคลต์ซึ่งได้แก่บริเวณทางตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรีย (โปรตุเกส) ทางตอนกลางตอนเหนือของสเปน (กาลิเซีย, อัสตูเรียส, กันตาเบรีย, กัสติยาและเลออน, เอซเตรมาดูรา) และบางส่วนของฝรั่งเศส

"เคลต์ยุโรป" (Continental Celtic) หมายถึงผู้ที่พูดภาษาเคลต์บนแผ่นดินใหญ่ยุโรป ส่วน "ชาวเคลต์เกาะ" (Insular Celts) หมายถึงผู้ที่พูดภาษาเคลต์บนหมู่เกาะอังกฤษ ผู้สืบเชื้อสายเคลต์ในบริตตานีที่มาจากชาวเคลต์เกาะจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษจึงจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน