ภาษา ของ ชาวไทยเชื้อสายเขมร

ดูบทความหลักที่: ภาษาเขมรถิ่นไทย

ชาวไทยเชื้อสายเขมรนั้นจะมีภาษาที่แตกต่างออกไปจากภาษาเขมรในประเทศกัมพูชา โดยภาษาเขมรที่ใช้พูดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรืออีสานใต้ จะเรียกว่า ภาษาเขมรถิ่นไทย หรือเขมรบน โดยมีความต่างจากภาษาเขมรในกัมพูชาในเรื่องของหน่วยเสียงสระ การใช้พยัญชนะ รากศัพท์ และไวยากรณ์ โดยผู้ใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยจะสามารถเข้าใจภาษาเขมรทุกสำเนียง ส่วนผู้ใช้สำเนียงพนมเปญจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจ นอกจากภาษาเขมรถิ่นไทยแล้ว ชาวไทยเชื้อสายเขมรกลุ่มอื่น ๆ ก็สามารถใช้ภาษาเขมรได้ดีโดยเฉพาะกลุ่มที่ติดชายแดนใกล้กับประเทศกัมพูชา อย่างเช่นแถบจังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด

แต่ขณะเดียวกันชุมชนชาวไทยเชื้อสายเขมรในหลายจังหวัดแถบภาคกลางของประเทศที่ตกอยู่ในวงล้อมที่รอบล้อมไปด้วยภาษาไทยกลาง ทำให้ภาษาเขมรในถิ่นนั้นได้รับอิทธิพลของภาษาไทย โดยชุมชนเชื้อสายเขมรหลายชุมชนเลิกการใช้ภาษาเขมร โดยสงวนไว้เฉพาะคนเฒ่าคนแก่ ไม่เผยแพร่ต่อลูกหลาน อย่างเช่นในชุมชนชาวไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดราชบุรี ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ) ก็ได้กล่าวถึงการกวาดต้อนเขมรจากเมืองโพธิสัตว์ เสียมราฐและพระตะบองมาไว้ที่ราชบุรี เขมรเหล่านี้ไม่ใช่เขมรลาวเดิมเพราะมีภาษาพูดที่แตกต่างกัน เขมรกลุ่มนี้ใช้ภาษาพูดเช่นเดียวกับเขมรในประเทศกัมพูชา โดยตั้งบ้านเรือนในเขตอำเภอเมืองราชบุรี, อำเภอโพธาราม และอำเภอปากท่อ[8] แต่ปัจจุบันพบผู้พูดภาษาเขมรประมาณ 8-10 คน มีอายุระหว่าง 70-80 ปี แต่ไม่ได้ใช้ภาษาเขมรสื่อสารกับลูกหลาน เพียงแต่นึกศัพท์ได้เป็นคำๆ หรือพูดคุยกับคนรุ่นเดียวกันได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น[2] เช่นเดียวกันกับชุมชนชาวไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดนครปฐมซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ปากคลองเจดีย์บูชาสะพานรถไฟเสาวภา วัดแค ไปจนถึงวัดสัมปทวน เรียงรายไปตลอดริมแม่น้ำท่าจีน ประมาณ 1 กิโลเมตรประมาณ 30 ครอบครัว แต่มีผู้ใช้ภาษาเขมรเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น[7]

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกภาษาตัวเองว่า ภาษาเขมรลาวเดิม ในจังหวัดราชบุรี[9] ที่ตั้งถิ่นฐานในแถบอำเภอเมืองราชบุรี, อำเภอปากท่อ, อำเภอวัดเพลง และอำเภอบางแพ[8] โดยภาษานี้จะใกล้เคียงกับภาษาไทยถิ่นอีสานตอนใต้ และยังมีการใช้ภาษาเขมรปะปนอยู่ด้วย เชื่อกันว่าบรรพบุรุษของชาวเขมรลาวเดิมเป็นชาวลาวที่ถูกทัพเขมรกวาดต้อนไปเมืองเขมร เมื่อไทยได้ไปตีเขมรจึงได้กวาดต้อนชาวลาว และชาวเขมรปะปนกันมาด้วย[10]

การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

นอกจากการแต่งกายชาวไทยเชื้อสายเขมรนั้น จะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันระหว่างคนภายในชุมชนเดียวกันแต่ต่างชาติพันธุ์กัน อย่างเช่น ชุมชนบ้านโซง ซึ่งเดิมเป็นชุมชนของชาวเขมร แต่ต่อมามีชาวไทยเชื้อสายลาวเข้ามาอยู่ภายในชุมชนด้วย โดยหากมีการแต่งงานข้ามกลุ่มกันระหว่างกลุ่ม ก็จะนิยมจัดงานแต่งงานแบบเขมร และชาวไทยเชื้อสายเขมรในชุมชนนี้จะมีความพยายามในการเรียนรู้ภาษาไทยกลางและภาษาลาว[11]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาวไทยเชื้อสายเขมร http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=klongrong... http://flash-mini.com/thailand/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%... http://www.kroobannok.com/blog/13275 http://krusadayu.com/Project/web3/Untitled-4.htm http://immaculate-conception.spaces.live.com/blog/... http://www.moohin.com/108tripsboon/108trips006c013... http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=... http://www.siamlocalnews.com/lukmuang/view.php?gid... http://dpgtum.wordpress.com/2010/03/02/%E0%B8%AB%E... http://www.8riewculture.info/vdn/index.php?c=showi...