ประวัติ ของ ชาวไทยในกัมพูชา

ชาวไทยหรือชาวสยามอพยพเข้าสู่เขตอิทธิพลของเขมรช้านาน ในบันทึกของโจว ต้ากวาน ทูตจีนผู้เดินทางไปเมืองพระนคร ได้บันทึกถึงการดำรงอยู่ของชาวสยามว่าเป็นคนละกลุ่มกับชาวเขมร ชาวเขมรซื้อหม่อนและหนอนไหมจากชาวสยาม เพราะชาวสยามรู้จักการทอเครื่องนุ่งห่ม ชาวเขมรจึงต้องจ้างชาวสยามซ่อมแซมเสื้อผ้าให้[4]

ในรัชสมัยพระรามาธิบดี (คำขัด) ซึ่งตรงกับช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ยกทัพไปตีเมืองจันทบูรและบางคาง ก่อนกวาดต้อนคนกลับกรุงจตุมุข และทรงยกทัพมาพร้อมกับเจ้าพญาแก้วฟ้า กวาดต้อนราษฎรปลายแดนอยุธยาไปอีก[5] รัชสมัยเจ้าพญายาต ทรงยกทัพไปตีเมืองจันทบูร[5] รัชสมัยพระบรมราชาที่ 4 (นักพระสัตถา) โปรดให้พระทศราชาและพระสุรินทราชายกทัพกวาดต้อนคนไทยบริเวณชายแดนภาคตะวันออกใน พ.ศ. 2125[6] ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า ใน พ.ศ. 2164 ระบุว่าเจ้าฝ่ายหน้าของสยามยกทัพไปภูเขาจังกางเพื่อตีเขมร แต่สมเด็จพระไชยเชษฐา กษัตริย์เขมร เคลื่อนพลไปตีทัพสยามแตก เจ้าฝ่ายหน้าหลบหนีไปได้ ส่วนไพร่พลถูกจับเป็นเชลย เชลยสยามเหล่านี้ถูกเรียกว่า "ไทยจังกาง"[7] ใน พ.ศ. 2173 รัชสมัยพระศรีธรรมราชา พระราชสมภาร ทรงแต่งทัพไปกวาดต้อนชาวนครราชสีมากลับกัมพูชา[6][8] นอกจากนี้ยังมีหญิงสยามเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาของเจ้านายเขมรจำนวนหนึ่ง[9] และช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีชาวสยามอพยพลี้ภัยมายังเมืองเขมรและพุทไธมาศจำนวนมาก[10]

ในยุครัตนโกสินทร์ มีคณะละครไทยไปจัดการแสดงที่กัมพูชา ในรัชสมัยสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีได้ครูละครผู้ชายจากกรุงเทพฯ ไปเป็นละครนอก[11] ต่อมามีคณะละครผู้หญิงชาวสยามของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปเมืองเขมรช่วงที่รบกับญวน และได้กลายเป็นครูละครหญิงของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี[11] ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงหานางละครสยามจากกรุงเทพฯ ไปชุบเลี้ยง โดยมากได้นางละครจากเจ้านายวังหน้าไปเป็นครูละครในเมืองเขมรหลายคน[12] การแสดงในช่วงนั้นนิยมแสดงเป็นภาษาไทยเพียงอย่างเดียว[11] ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ทรงนำคณะละครนอกและละครในมาเล่นประสมโรง และเล่นเป็นภาษาไทยและเขมร[11] โดยนางละครที่มีชื่อเสียงหลายคน บางคนเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกากษัตริย์กัมพูชา เช่น หม่อมเหลียง และนักนางมะปรางหวาน ในสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร นักนางมะเฟือง และนักหนูน้ำ ในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์[13] และแพน เรืองนนท์ ในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์[14] บางคนก็เป็นนักแสดงภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น แม่เมือน[15] เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนกัมพูชาราว พ.ศ. 2467 ทรงพบหญิงไทยจากกรุงเทพฯ ที่เข้าไปรับราชการเป็นครูละครหรือเจ้าพนักงานในราชสำนักกัมพูชามาเข้าเฝ้า บางคนออกจากไทยมามาทำงานในกัมพูชานานกว่าสี่สิบปี[16]

นอกจากชาวไทยยุคเก่าที่อพยพเข้าไปกัมพูชา ยังมีชาวไทยพื้นเมืองที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มก้อนมาช้านานในเขตจังหวัดเกาะกง เดิมเป็นเมืองปัจจันตคิรีเขตรขึ้นกับกรุงสยาม มีรากเหง้าเดียวกันกับคนเชื้อสายไทยในจังหวัดตราด พวกเขามีบรรพบุรุษมาจากบ้านลาดพลี เมืองราชบุรี มีมุขปาฐะอธิบายไว้ว่าอพยพหนีสงครามกับพม่า แต่ไม่แจ้งชัดว่าในยุคกรุงศรีอยุธยาหรือธนบุรี เข้าสู่เมืองตราดหลายร้อยครัวและกระจายตัวออกไปตั้งถิ่นฐาน[17] แต่ต่อมารัฐบาลสยามยอมยกเมืองตราดและปัจจันตคิรีเขตรแก่ฝรั่งเศสตามพิธีสารลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2447 เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี ต่อมามีการทำหนังสือลงนามระหว่างสยามกับฝรั่งเศสอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 โดยยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณแก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย กับเมืองตราด แต่ฝรั่งเศสไม่ได้ยกเมืองปัจจันตคิรีเขตรคืนมาด้วย ชาวไทยที่ตกค้างในนั้นจึงเปลี่ยนสภาพเป็นคนพลัดถิ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[1] ก่อน พ.ศ. 2514 มีชาวไทยที่อาศัยในเกาะกงราว 40,000 คน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเขมรแดง ชาวไทยในเกาะกงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว บ้างก็โยกย้ายไปฝั่งไทย บ้างก็ถูกเขมรแดงสังหาร ทำให้ พ.ศ. 2528 เหลือชาวไทยในเกาะกงอยู่ราว 8,000 คน[18] ปัจจุบันชาวไทยในเกาะกงล้วนมีเครือญาติอยู่ในประเทศไทย นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในประเทศไทย และมีจิตสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทย[19] ส่วนกลุ่มชาวไทยและไทยโคราชที่อาศัยในจังหวัดบันทายมีชัยและพระตะบอง กลุ่มชาวไทยที่พูดภาษาไทยกลางมีประวัติการอยู่อาศัยมานานแต่กลมกลืนไปกับชาวเขมรเสียมาก ส่วนชาวไทยโคราชนั้นเริ่มอพยพสู่กัมพูชาทั้งก่อนและหลัง พ.ศ. 2484 ในช่วงที่ประเทศไทยได้ดินแดนจังหวัดพระตะบองและพิบูลสงครามคืนจากฝรั่งเศสในรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ครั้นไทยพ่ายต่อสงครามโลกครั้งที่สองจึงคืนดินแดนเขมรส่วนในแก่ฝรั่งเศส ชาวไทยเหล่านี้จึงแปรสภาพเป็นคนพลัดถิ่น ปัจจุบันพวกเขาสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวเขมรและกุลา[20]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาวไทยในกัมพูชา http://www.navy22.com/th/index.php?option=com_cont... http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublic... http://www.mofa.go.jp/announce/event/2008/3/117845... http://www.necelect.org.kh/English/ElectionResult/... http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=2454&fil... http://digital_collect.lib.buu.ac.th/dcms/files//5... http://digi.library.tu.ac.th/index/0098/30-10-Aug-... http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?n... http://oknation.nationtv.tv/blog/Bansuan/2013/09/1... https://www.matichonweekly.com/column/article_2255...