วัฒนธรรม ของ ชาวไทยในประเทศพม่า

ภาษา

ร้านอาหารไทยในเนปยีดอว์

มีการค้นพบจารึกภาษาไทยอักษรขอมในประเทศพม่า เชื่อว่าอาจจะมาจากเมืองทวาย มิกกี ฮาร์ต นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าสันนิษฐานว่าจารึกนี้น่าจะถูกทำขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 ก่อนยุคอาณาจักรสุโขทัย[28] คริสต์ศตวรรษที่ 17 ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและภาษาทางการของมะริดและตะนาวศรี ทั้ง ๆ ที่มีชุมชนไทยเป็นชนกลุ่มน้อยขนาดเล็กในนั้น แต่ประชากรส่วนใหญ่ล้วนเป็นพม่าหรือมอญ[18] ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แอนน์ แฮซเซลไทน์ จัดสัน (Ann Hasseltine Judson) มิชชันนารีชาวอเมริกันเข้าไปเผยแผ่ศาสนาในเมืองแอมเฮิสต์ โดยได้ศึกษาภาษาไทยจากคนไทยในแอมเฮิสต์ เธอเป็นคนแรกที่แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาไทย[29]

ปัจจุบันชาวไทยในเขตตะนาวศรีเกือบทั้งหมดยังคงใช้ภาษาไทยถิ่นใต้สำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับชาวไทยทางภาคใต้ของประเทศไทย[30] ยกเว้นที่บ้านท่าตะเยี๊ยะที่พูดภาษาไทยถิ่นอีสาน[1]และชาวไทยมุสลิมบางส่วนพูดภาษามลายูไทรบุรี[31] ส่วนชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงจะใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับชาวไทยวนในภาคเหนือของไทย[2] ชาวไทยทั้งสองกลุ่มมีการเล่าเรียนภาษาไทยมาตรฐาน โดยชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงจะมีการสอนภาษาไทยแก่บุตรหลานช่วงปิดเทอมโดยพระสงฆ์ บ้างก็เข้าเรียนในโรงเรียนไทยในจังหวัดตาก[25] เดิมชาวไทยกลุ่มนี้จะใช้อักษรธรรมล้านนาและพม่าในการเขียน แต่ในปัจจุบันมีการเขียนด้วยอักษรไทยมากขึ้น[32] ขณะที่ชาวไทยในเขตตะนาวศรีเล่าเรียนภาษาไทยจากพระสงฆ์ในวัด[30] สามารถพบการติดตั้งป้ายภาษาไทยอย่างโดดเด่นตามศาสนสถาน[33] รวมทั้งนิยมสิ่งพิมพ์ภาษาไทย และสื่อโทรทัศน์ภาษาไทย ด้วยมีจินตนาการร่วมกับรัฐไทยมากกว่าพม่า[34]

ส่วนภาษาพม่าเพิ่งมีการสอนตามโรงเรียนช่วงปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา เพราะในอดีตเด็กไทยไม่เข้าใจภาษาพม่าเลย[35] การเรียนรู้ภาษาพม่าของชาวไทยถือเป็นการเอาตัวรอด เพราะลดการคุกคามจากทหารพม่าได้มาก[36] ปัจจุบันชาวไทยในตะนาวศรีที่เป็นลูกครึ่งพม่าไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้และนิยมให้ลูกหลานใช้ภาษาพม่าในชีวิตประจำวัน[37] ขณะที่คนไทยสูงอายุบางส่วนยังพบกับอุปสรรคทางภาษาเพราะมีหลายคนพูดพม่าได้น้อยหรือไม่ได้เลย[38] แต่จากการที่ไม่มีโรงเรียนไทย กอปรกับวัดไทยมีพระเชื้อสายไทยจำพรรษาน้อยและมีพระพม่ามาจำพรรษาแทน ทำให้ขาดผู้สอนภาษาไทยแก่บุตรหลานไทยในตะนาวศรี หลายคนพูดภาษาไทยได้แต่อ่านหนังสือไม่ออก[39]

ศาสนา

ในปี พ.ศ. 2530 ชาวไทยในเขตตะนาวศรี 41,258 คน ประกอบด้วยพุทธศาสนิกชน 22,978 คน และอิสลามิกชน 18,280 คน โดยชาวไทยพุทธตั้งถิ่นฐานในตำบลสิงขร, ตำบลบกเปี้ยน และตำบลมะลิวัลย์ ส่วนชาวไทยมุสลิมตั้งถิ่นฐานแถบเกาะสองจนถึงตลาดสุหรี[40]

พุทธศาสนิกชนชาวไทยในเขตตะนาวศรีจะทำการบวชอย่างไทยคือโกนคิ้วและห่มจีวรสีออกเหลือง[41] ศาสนาพุทธถูกยึดโยงกับความเป็นไทย ชาวไทยในพม่าจะจัดเวรทำและนำอาหารไปถวายพระทุกวัน ผู้คนนิยมเข้าวัดฟังธรรมเนืองแน่นทุกวันพระ[42] แต่ยังคงความเชื่อออกไปทางเวทมนตร์คาถา เชื่อในสิ่งลี้ลับ เช่น ภูติผี วิญญาณ เจ้าป่า เจ้าเขา โชคลาง และการบนบาน[30] พุทธศิลป์แบบไทยส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของตะนาวศรี ดังปรากฏในพุทธศิลป์ของพระประธานภายในวัดตะนาวศรีใหญ่ ซึ่งมีพระเกศาและพระพักตร์มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ริ้วจีวรได้รับอิทธิพลศิลปะอยุธยา แต่มีพระกรรณยาวอย่างศิลปะพม่า จนเรียกว่าเป็นศิลปะตะนาวศรี และวัดตอจาง เคยมีเจ้าอาวาสเป็นชาวสยาม[43] ชาวไทยและพม่าที่นับถือศาสนาพุทธไม่ค่อยมีข้อขัดแย้งหรือเกิดการกดขี่ทางวัฒนธรรมกัน และมองคนมุสลิมเป็นชนชั้นสอง[44]

ส่วนชาวไทยจากเขตตะนาวศรีผู้เป็นอิสลามิกชนเข้ารับการอบรมจริยธรรมจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหรือจากมัสยิด[45]

ชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงนับถือศาสนาพุทธเช่นกัน มีวัดประจำชุมชน ได้แก่ วัดบัวสุวรรณ, วัดศรีบุญเรือง, วัดสว่างอารมณ์, วัดสุวรรณคีรี และวัดป่าเรไร[2] โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ[25]

ประเพณี

ชาวไทยในพม่า โดยเฉพาะกลุ่มในเขตตะนาวศรีมีประเพณี 12 เดือน เป็นประเพณีประพฤติปฏิบัติสืบมานาน ได้แก่ ในเดือนอ้ายเดือนยี่จะมีการบูชานางโพสพ เดือนสามมีพิธีปล่อยวัวควายลงทุ่ง เดือนสี่ไหว้ตาเจ้าที่ เดือนห้ามีประเพณีสงกรานต์ เดือนหกมีดูฤกษ์ยาม รับผีตายาย ทำบุญส่งตายาย บุญเดือนสิบ ชิงเปรต เดือนสิบเอ็ดทำบุญออกพรรษา เดือนสิบสองทำบุญทอดกฐิน ทำบุญลอยแพ[46] โดยเฉพาะประเพณีสารทเดือนสิบ ชาวพม่าในแถบนั้นได้รับเอาไปปฏิบัติด้วย แต่ต่างกับคนไทยตรงที่จะมีพิธีกรรมส่งตายายกลับภพภูมิของตน โดยจะจัดหฺมรับ (สำรับ) อุทิศแก่วิญญาณบรรพชนตั้งไว้หน้าบ้าน[47]

ศิลปะ

ชาวไทยในตะนาวศรีมักแสดงหรือชมหนังตะลุง, มโนราห์, มวยไทย และเพลงพื้นบ้านอย่างไทยภาคใต้ มีคณะหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงอาทิ หนังสร้อย แสงวิโรจน์ หนังช่วย และหนังยอด ส่วนมโนราห์ที่มีชื่อเสียงได้แก่ มโนราห์อาบ เกตุแก้ว มโนราห์นุ้ย ขันศรี และมโนราห์เคี่ยม[30] ขณะที่ชาวไทยมุสลิมก็มีกาโหยง เป็นศิลปะการต่อสู้พื้นบ้าน[1][41]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาวไทยในประเทศพม่า http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/565577 http://www.chaoprayanews.com/2011/01/24/%E0%B8%84%... http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5100 http://myanmarorphans.org/mm/node/102 http://dc.oas.psu.ac.th/dcms/files//01841/Chapter2... http://www.consular.go.th/main/contents/files/serv... http://www.consular.go.th/main/contents/files/thai... http://region3.prd.go.th/showarticleN.php?ID=13022... http://transbordernews.in.th/home/?p=14162 http://transbordernews.in.th/home/?p=19345